ความลับนางมารร้าย (องอาจ เจียมเจริญพรกุล / 2014) C-
เป็นหนังโรแมนติกคอเมดี้ในแบบฉบับของค่าย M๓๙ ที่หลังๆนี้ พยายามเอาอกเอาใจคนดูจนเกินพอดี จากเรื่องราวที่มีไอเดียน่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก กลับถูกลดทอนประสิทธิภาพลงด้วยการเติมแต่งความเพ้อฝันห่างไกลจากความเป็นจริงหลายปีแสง
หญิงสาวรักสนุกแต่ไม่ผูกพันอย่าง ‘บุษบา’ ไม่เคยใส่ใจความสัมพันธ์จริงจังกับผู้ชายคนไหน จนเมื่อ ‘เหนือสมุทร’ ชายหนุ่มรูปหล่อบ้านรวยระดับCEOที่เธอและกลุ่มเพื่อนสาวโฉดต่างเล็งเป้าให้เป็นเหยื่อในค่ำคืนหนึ่ง แต่เกิดปัญหาเมื่อเหนือสมุทรหลงรักบุษบาเข้าจริงๆ ทำให้บุษบาต้องเลือกระหว่างชีวิตสาวโสดที่ถืออุดมการณ์รักสนุกแต่ไม่ผูกพันไว้เหนือหัว กับชายหนุ่มผู้เพรียบพร้อมที่เธอเองก็เริ่มที่จะมีใจและคิดแหกกฎข้อสำคัญของแก๊งสาวโสด
เป็นความขัดแย้งของตัวละครหญิงที่ไร้สาระมากๆ ผู้หญิงคนหนึ่งกลุ้มใจที่ต้องเลือกระหว่างผู้ชายผู้เพรียบพร้อมทั้งหน้าตาการงานเงิน กับชีวิตสาวโสดรักสนุกท่ามกลางผองเพื่อน มันพลาดตรรกะความสมเหตุสมผล ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อเทียบกับตัวเลือกอีกอันที่กล่าวมา ผู้หญิงร้อยทั้งร้อยก็ต้องเลือกผู้ชายหล่อแสนดีอย่างเหนือสมุทรอยู่แล้ว ไวจนแทบจะประเคนตัวเองใส่พานไปให้ถึงเตียงทันทีทันใด และเตียงที่กำลังหมายถึงเซ็กซ์ก็เป็นส่วนสำคัญที่คนทำตั้งใจข้ามรายละเอียดไปโดยไม่สนใจพัฒนาการตัวละครที่สมจริง เพราะผู้หญิงที่ถือความเชื่อที่ว่ารักสนุกแต่ไม่ผูกพันและใช้ชีวิตกลางคืนในผับบาร์เป็นสรณะขนาดนั้นแทบจะไม่มีทางละความกระหายการสัมผัสรักของชายหนุ่มรูปงามไปได้อย่างแน่นอน
แต่บทหลายๆส่วน ก็เห็นเลยว่าพยายามคิดกันมาดี ทั้งฉากสวนสาธารณะที่เหนือสมุทรโดดน้ำลงไปช่วยบุษบาถึงแม้มันจะดูซ้ำซากโต้งๆในการกระทำตัวละคร แต่ก็เป็นส่วนเล่าขยายความรู้สึกของเหนือสมุทรที่มีต่อบุษบาได้ดี และฉากเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพระเอกนางเอกทั้งสองที่พาเข้าสู่ช่วงกลางเรื่องถึงแม้มันจะเพ้อฝันเกินไปแต่มันเป็นเหตุเป็นผลดีที่ทำให้ผู้หญิงรักสนุกอย่างบุษบาเกิดความขัดแย้งในใจระหว่างตัวตนและความรักความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงฉากสระว่ายน้ำที่แม้ว่าจะขาดรายระเอียดอยู่มาก แต่สามารถตอกย้ำลักษณะตัวละครเข้าท่าและชัดเจนในแก่นเรื่อง อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับฉากจมน้ำที่ผ่านมา ทำให้ฉากเหล่านั้นมีค่าในการสื่อความหมาย แต่สุดส่วนนี้กลับมาถูกหักล้างแทบหมดสิ้นตอนใกล้จบ โดยรวมแล้วส่วนใหญ่มันแย่เกินไปจนกลบส่วนดีไปหมด ทั้งการดำเนินเรื่อง และส่วนเกินส่วนขาดมีสร้างบาดแผลอยู่ทั่วไป
หลายๆ ฉากทำให้เกิดความไม่เชื่อได้ง่ายๆ กับตรรกะความเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริงในส่วนของการอ้างอิงวัตถุที่มีตัวตนจริงๆในโลก อย่าง เพลงสาวบางโพที่พระเอกชื่นชอบ ซึ่งมีบทสนทนาบอกว่าชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่ในเส้นเวลาความเป็นจริงแล้วเพลงนี้ยังมีไม่นานนัก เมื่อเทียบกับอายุของพระเอกที่เป็น CEO บริษัทแล้ว มันจึงไม่น่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างที่ตัวละครบอก และตรรกะที่เกิดขึ้นในโลกของหนังเองก็ยังป่วยๆ ด้วยตัวของมันหลายๆครั้ง
อย่างเช่น ฉากนางเอกนั่งรอพระเอกที่ม้านั่งในสวนสาธารณะ ที่จู่ๆก็มีเด็กน้อยชาย-หญิงสองคนซึ่งทั้งคู่แทนชื่อตัวเองด้วยชื่อพระเอกเหนือสมุทร และนางเอกบุษบา มานั่งบอกรักกัน เป็นเหมือนภาพแทนสิ่งที่บุษบากำลังมโนนึกในใจ แต่ในฉากเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานเด็กทั้งสองคนกลับปรากฏตัวอีกครั้งเหมือนมีตัวตน และฉากที่บุษบานั่งกลุ้มอยู่ในห้องคนเดียวหลังจากวางสายจากเพื่อนที่เพิ่งโทรมาชวนไปเที่ยวกลางคืน แต่จู่ๆเพื่อนทั้งสามคนก็ปรากฏตัวขึ้นอย่างไม่มีปี่มีไห เข้าใจว่าคนทำตั้งใจเล่าระบายความในใจของบุษบาที่กำลังนั่งคิดอยู่คนเดียวด้วยความเปลี่ยวเหงา แต่การเล่าด้วยช็อตทั้งหลายสามารถเชื้อเชิญให้เข้าใจผิดในการมีอยู่ของตัวละครเพื่อนทั้งสามได้ง่ายๆ
องค์ประกอบหลายอย่างดูแล้วชอบทำอะไรง่ายไปหน่อย อย่างฉากบางฉากหนังนักศึกษายังเซ็ตได้ดีมีมิติกว่านี้อีก ทั้งฉากคอนเสิร์ตริมทะเลที่บังเอิญให้ตัวละครมาเจอกันดื้อๆ การใช้เสียงในฉากผับที่ไม่แคร์ตรรกะเดซิเบลเสียงเลย ตัวละคุยโทรศัพท์ในผับที่เปิดเพลงเสียงดังแต่ได้ยินกันอย่างชัดเจน หรือจู่ๆก็หรี่เสียงเพลงในผับเพื่อให้ได้ยินเสียงบทสนทนาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสกอร์ดนตรีประกอบที่มักอะไรง่ายๆเกินไปมีใช้อยู่ไม่กี่เพลง เห็นได้ถึงความไม่ใส่ใจมากๆ
แต่ในส่วนนักแสดงก็ถือว่าประครองหนังไปได้รอดแม้ว่าตัวละครแทบทุกตัวจะขาดสติสัมปัชชัญญะเป็นพักๆ มิน พีชญา น่ารักวี้ดว้ายวายป่วงดี ในฉากด่านตำรวจนี่น่ารักน่ารำคาญสุดๆ อาเล็ก ธีรเดช ก็รับส่งได้ดีเป็นธรรมชาติมากขึ้นจาก’คุณนายโฮ’ กับบทCEOที่ฉลาดน้อยไปหน่อยในฉากถูกแบ็กเมล์คลิปเต้นเพลงสาวบางโพ น้องใบเตยที่คุ้นหน้าคุ้นตาจากโฆษณาโค้กน่ารักและมีเสน่ห์เข้ากับบทเฮี้ยวใสมากๆ ซึ่งตัวละครทั้งหมดทั้งมวลในเรื่อง เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ที่รับบทเป็นแม่พระเอกเป็นตัวละครที่ดูเป็นผู้เป็นคนมากที่สุดแล้ว ก็แน่นอนสิ เพราะถูกเซ็ตขึ้นมาให้ตั้งตารอยิงธีมกรอกหูนางเอกและคนดูขนาดนั้น
ส่วนที่โอเคอย่างหนึ่งคือมุกตลก(บางมุก) ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นมุกซ้ำซากเป็นส่วนใหญ่ แต่บางมุกก็คิดมาเป็นธรรมชาติเหมาะกับตัวละครและสถาณการณ์ อย่างเช่น มุก CPR ช่วยพระเอกจมน้ำ กับ ป้ายปิดอกคัดเลือกงานที่เขียนว่า ข1T 69 2T ที่กล้าเล่นมากๆ ชอบแก๊งเพื่อนๆ ฝั่งตัวรองนางเอกน่ารักสดใสดี
สงสัยจังว่ามันเป็นเทรนด์เหรอค่ายนี้ถึงชอบไปถ่ายในสวนสาธารณะ ตั้งแต่’คุณนายโฮ’แล้วซึ่งเป็นฉากจบคล้ายกันด้วย ถ้ามองถึงเหตุผลมันก็มีอยู่ที่กลับมาจบในจุดเริ่มต้นโรมแมนติกของตัวละครทั้งสอง อีกมุมหนึ่งคือปั่นจักรยานถ่ายสายลมแสงแดดมันคงประหยัดดี