10 Things I Hate About You (1999) 10 กฎเฮ้วเด็ดหัวใจเฮี้ยว
BY 10000TIP ON
ผมรู้จัก Heath Ledger จากหนังเรื่องนี้แหละครับ ยอมรับเลยว่าเขาเป็นคนมีเอกลักษณ์นะ ทั้งหน้าตา ท่าทาง น้ำเสียง หรือเวลายิ้ม พูดได้เต็มปากว่าเขาไม่เหมือนใครจริงๆ – คิดถึงเขาเหมือนกันนะครับ
ตัวหนังก็เป็นการนำเอาบทละคร The Taming of the Shrew ของ William Shakespeare มาดัดแแปลงเป็นเรื่องราวของคาเมรอน เจมส์ (Joseph Gordon-Levitt) เด็กใหม่ประจำโรงเรียนที่เกิดปิ๊งสาวสวย เบียงก้า สแตรทฟอร์ด (Larisa Oleynik) เข้าอย่างจัง
แต่ปัญหาก็มาทันทีครับ เพราะพ่อของเบียงก้ามีกฎห้ามไม่ให้เธอออกเดทกับหนุ่มหน้าไหนทั้งนั้น จนกว่าจะมีคนชวนพี่สาวของเธอที่ชื่อ เคท (Julia Stiles) ออกเดทก่อน – ประมาณว่าพ่อของพวกเธอตระหนักน่ะครับว่าเคทคงไม่คิดจะเดทกับใคร และด้วยบุคลิกประจำตัวของเคทแล้ว ก็คงไม่มีใครพาไปเดทแน่ๆ เลยตั้งกฎนี้ออกมาเพื่อกันลูกสาวจากหนุ่มๆ
ทีนี้ไมเคิล (David Krumholtz) เพื่อนของคาเมรอนเลยเสนอแผนให้หนุ่มสุดแปลก (จนหลายคนแอบกลัว) อย่างแพทริค (Heath Ledger) ช่วยจีบเคท เพื่อที่คาเมรอนจะได้จีบเบียงก้าได้ตามกฎ
ตอนแรกแพทริคก็จีบไปตามหน้าที่ (และเพราะได้ค่าจ้างด้วย) แต่พอเขาได้รู้จักกับตัวจริงของเธอมากเท่าไร หัวใจของเขาก็เริ่มเต้นเป็นจังหวะเดียวกันมากเท่านั้น
ที่มาของชื่อหนัง มาจากไดอารี่ของ Karen McCullah คนเขียนบทเรื่องนี้ครับ ประมาณว่าสมัยไฮสคูลเธอเคยคบแฟนคนหนึ่งชื่อแอนโทนี่ และเขาก็มักจะทำให้เธอรู้สึกแย่อยู่เสมอๆ เธอเลยตั้งชื่อไดอารี่ว่า “Things I Hate About Anthony” แล้วก็เขียนระบายความอัดอั้นตันใจลงไปในนั้น
ทีนี้พอ McCullah กับ Kirsten Smith ตกลงจะเขียนบทหนังเรื่องนี้ร่วมกัน (โดยเอางานของ Shakespeare มาเป็นแกน) McCullah ก็เล่าให้ Smith ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ดังกล่าวรวมถึงไดอารี่เล่มนั้น แล้ว Smith ก็เกิดชอบครับ เลยตกลงเอาชื่อไดอารี่ที่ว่ามาแปลงเป็นชื่อหนังซะเลย
สิ่งที่อยากบอกก็คือ นี่แหละครับหนังรักวัยรุ่นสนุกๆ ปลายยุค 90 พล็อตเรื่องแม้จะลงสูตรแต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีดีกว่าหนังรักวัยรุ่นหลายๆ เรื่องคือทีมนักแสดงที่เล่นอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ Stiles ดูเป็นสาวน้อยเด็กแนวที่ไม่ชอบทำตามกระแสรอบตัว เธอมีความชัดเจนในตนเอง และไม่คิดจะเอาชีวิตไปพึ่งพิงอิงกับใคร
ในขณะที่ Oleynik ในบทเบียงก้าก็ดูเป็นลูกคุณหนูที่แม้จะไม่ถึงกับไร้เดียงสาแต่ก็ค่อนข้างอ่อนต่อโลก ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอถูกปกป้องทั้งจากพ่อและพี่ เลยทำให้เธอขาดประสบการณ์ชีวิต และที่สำคัญคือทำให้เธอพลาดโอกาสที่จะรู้จักตนเองไป – ดังที่จะเห็นว่าหลายครั้งเธอเองก็สับสนเหมือนกัน
ในตอนแรกนั้น Stiles มาออดิชั่นในบทเบียงก้าครับ ส่วน Oleynik ก็ตั้งใจจะแสดงเป็นเคท แต่พอแคสไปแคสมาทีมงานก็เห็นว่าทางคู่เหมาะกับอีกบทมากกว่า ก็เลยสลับตำแหน่งกัน ซึ่งก็ถือว่าทีมงานตาแหลมครับ เลือกตัวแสดงได้เหมาะมากๆ
ส่วน Ledger ก็ดูเป็นหนุ่มนอกแถวที่ไม่สนใคร เท่ห์แบบร้ายๆ หล่อแบบแนวๆ ซึ่งหลายฉากที่เราเห็นนั้น Ledger แกด้นสดแสดงออกมาในแบบของตัวเองครับ อย่างฉากเอามือไปลนไฟนั่นก็หนึ่งล่ะ (เขาเฉือนชนะดาราอีก 2 คนที่จะมารับบทนี้ครับ ได้แก่ Josh Hartnett กับ Ashton Kutcher)
Gordon-Levitt สมัยนั้นก็ยังละอ่อนครับ รายนี้ก็ถือว่าเล่นได้เรื่อยๆ ตามที่บทอำนวย แต่ไปๆ มาๆ Krumholtz ในบทไมเคิลก็ขโมยซีนไปได้บ่อยๆ เหมือนกัน อีกรายที่ถือว่าเรื่อยๆ ก็คือ Andrew Keegan ในบทโจอี้ ศัตรูหัวใจของคาเมรอน รายนี้ก็ออกแนวร้ายกาจตามบทกำหนด แต่อาจไม่ได้เด่นแบบเป็นชิ้นเป็นอัน
Larry Miller ดาราตลกหน้าแบ้วมารับบทเป็น วอลเตอร์ พ่อของ 2 สาวที่ต้องเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ดูแลลูกตามลำพังจนกลายเป็นปกป้องลูกเกินเหตุไป และรายที่บทน้อยแต่ก็ขโมยซีนได้พอสมควรคือ Daryl Mitchell ในบทครูมอร์แกนที่มักจะโดนเคทเถียงอยู่เสมอๆ จนกลายเป็นระแวงเคทไป – ยอมรับว่าการได้เห็นเขาในสมัยนั้นทำให้รู้สึกสะเทือนใจไม่น้อยครับ เพราะตอนนี้เขาต้องนั่งรถเข็นเป็นคนพิการเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ดังนั้นการได้เห็นเขายืนได้เดินเหินได้เมื่อสมัยนั้นก็ทำให้ใจหายเหมือนกัน
หนังกำกับโดย Gil Junger ที่คร่ำหวอดกำกับซีรี่ส์มาหลายเรื่องมากๆ แต่หากพูดถึงหนังใหญ่แล้ว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแรกครับ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเขาจะไม่รับงานหนังเรื่องนี้ เพราะเขาไม่สนใจจะทำหนังรักวัยเรียน แต่เขาอยากทำหนังโรแมนติกแบบจริงๆ จังๆ มากกว่า ทว่าเอเย่นต์ของเขาก็คะยั้นคะยอให้ Junger ลองอ่านบทหนังดูสักครั้ง แล้วก็กลายเป็นว่าเขาชอบครับ เพราะหนังเรื่องนี้มีรายละเอียดและมีความลึกซึ้ง ไม่ได้เป็นเพียงรักวัยรุ่นฉาบฉวยธรรมดา เขาเลยตกลง… โดยส่วนตัว ผมยกให้หนังเรื่องนี้เป็นผลงานหนังใหญ่ที่ดีที่สุดของเขาครับ
ความกลมกล่อมของหนังเรื่องนี้ก็ต้องชมทั้งดาราที่แสดงได้พอเหมาะ ชมทั้งผู้กำกับที่คุมเรื่องราวได้อย่างพอดี เล่าเรื่องได้สนุก และตัวบทก็มีรายละเอียดที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับหนัง อย่างตัวละครหลักๆ ในเรื่องต่างก็มีซีนของตัวเอง ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่หนังวัยรุ่นไร้สมองครับ โอเค อาจมีบางตัวละครที่ออกแนวสูตรสำเร็จอยู่บ้าง หรือบางครั้งตัวละครอาจทำสิ่งผิดพลาดบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วเขาหรือเธอก็จะคิดได้ ตระหนักได้ เข้าใจได้ บางครั้งก็เกี่ยวกับความรู้สึก บางครั้งก็เกี่ยวกับการตระหนักบางสิ่งในใจตน
อย่างตัวเคทนั้นภายนอกเธออาจดูเป็นคนไม่สนโลก แต่เมื่อเดินเรื่องไปถึงจุดหนึ่งเราก็จะได้รู้ว่าเธอเองก็มีปมอันส่งผลให้เธอกันตัวเองออกจากใครๆ เหมือนกัน และส่วนหนึ่งก็เพราะเธอโตมาโดยที่ต้องรับรู้ว่าแม่ทิ้งพ่อไป แล้วพ่อก็ยังเป็นพวกระแวงระวังตั้งกรอบล้อมรั้วตัวเองแบบจัดๆ จนรั้วลามไปล้อมลูกๆ ก็เลยไม่ใช่เรื่องแปลกครับที่เคทจะเป็นคนมีกำแพงสูงจนยากที่ใคร่จะเข้าถึง – แต่ลึกๆ แล้วภายในเธอก็ต้องการใครสักคนมาเข้าใจเหมือนกัน
ส่วนนายแพทริคก็เป็นคนไม่สนโลกเหมือนกัน เขาเลือกที่จะอยู่นอกกระแสของโรงเรียนแล้วปล่อยให้สารพัดข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขาเป็นกำแพงกั้นคนอื่นๆ ออกไป แต่พอเขาได้สัมผัสกับความน่ารักของเคทใจเขาก็เริ่มเปลี่ยน ผมชอบฉากที่เขายิ้มตอนเห็นเคทเต้นในผับน่ะครับ เป็นยิ้มที่ดูจริงใจมากๆ และเป็นการสื่อออกมาแบบเต็มๆ ว่าเขาเริ่มสนใจเธอขึ้นมาจริงๆ แล้ว
อีกอย่างผมว่าแพทริคน่ารักนะครับ เขาเป็นสุภาพบุรุษมากๆ เขาไม่เคยคิดฉวยโอกาสกับเคทเลยต่อให้เคทเมาหนักแค่ไหนก็ตาม (อันที่จริงกับสาวอื่นเขาก็ไม่ฉวยโอกาสครับ อย่างสาวขี้เมาที่ไล่จูบคนไปทั่วเป็นต้น) และจริงๆ แล้วเขาก็เป็นคนใส่ใจคนอื่นอยู่ลึกๆ อย่างตอนที่เขาพยายามสอนให้คาเมรอนคว้าโอกาสไว้ อย่าเพิ่งถอดใจยอมแพ้ – สารพัดความน่ารักปลีกย่อยต่างๆ ของแพทริคที่เราได้เห็นนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกบวกกับเขามากขึ้นๆ
ผมชอบรายละเอียดในหนังครับ นอกจากเรื่องตัวละครแล้ว ในบางฉากก็จะมีรายละเอียดให้เราสังเกต เช่นตัวละครปลีกย่อยพื้นหลังในฉากโน้น อาจจะมีผลต่อไปยังฉากอื่นๆ (เช่น ครูที่โดนธนูยิงปักก้นเป็นต้น) อะไรพวกนี้ถ้ามองดีๆ ก็จะมีอะไรให้ฮาอยู่เรื่อยๆ ครับ
Soundtrack ที่ใส่ลงมาก็ทำให้หวนคิดถึงยุคนั้นครับ หลายเพลงนี่พอได้ยินแล้วภาพในยุค 90 – 2000 มันผุดขึ้นมาเลย บางเพลงก็คุ้นมาจากวิทยุ บางเพลงก็คุ้นมาจากหนัง บางเพลงก็คุ้นมาจากงานเลี้ยงบ้านเพื่อน หรือไม่ก็ที่เขาเปิดตามร้านขายเทปสมัยก่อน – ยอมรับเลยครับว่าเพลงในเรื่องนี้ได้อารมณ์ยุคนั้นจริงๆ และหลายเพลงยังเข้ากับเหตุการณ์ในฉากนั้นๆ ด้วย
หนังถ่ายทำกันที่ Stadium High School ในเมืองทาโคมา รัฐวอชิงตันครับ แรกเริ่มเดิมที่สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างให้เป็นโรงแรม แต่หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ ก็เลยมีการเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนไฮสคูลแทน ซึ่งโรงเรียนนี้สวยครับ มีเอกลักษณ์น่าจดจำ ยิ่งตอนท้ายที่กล้องถ่ายให้เห็นรอบโรงเรียนนี่ยิ่งชอบเลย สวยจริงๆ
เกร็ดน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากที่แคทอ่านกลอนตอนท้ายนั้น Julia Stiles เล่นเทคเดียวเลยครับ และน้ำตาที่ไหลออกมานั้นก็มาจากอารมณ์ล้วนๆ เพราะบทดั้งเดิมไม่มีตอนเธอร้องไห้ครับ ที่ร้องน่ะด้วยอารมณ์ของเธอจริงๆ ซึ่งเป็นอะไรที่เจ๋งมาก (ตอนดูรอบล่าสุดนี่ผมก็น้ำตาไหลนะ เธอเล่นได้ดีจริงๆ)
อีกอย่างคือฉากที่ Stiles เต้นบนโต๊ะตอนเมาได้ที่นั้น ส่งให้เธอได้รับบทนำใน Save the Last Dance ในเวลาต่อมาครับ
และตอนแรกเพลงที่แพทริคจะร้องเพื่อง้อแคทกลางสนามโรงเรียนคือเพลง I Think I Love You ของ The Partridge Family แต่พอดีเพลงนี้ดันถูกใช้ไปแล้วในฉากทำนองเดียวกันใน Scream 2 ทีมงานเลยต้องหาเพลงอื่นมาใส่แทน และ Julia Stiles ก็เป็นคนเสนอให้ร้องเพลง Can’t Take My Eyes Off Of You ซึ่งฉากนี้ก็ทำออกมาได้น่ารักสุดๆ โชว์เสน่ห์ Ledger แบบเต็มที่ไปเลยครับ
ในแง่รายได้ก็ถือว่ากลางๆ ครับ หนังลงทุนไปราว $30 ล้าน (ซึ่งถือเป็นงบมาตรฐานสำหรับหนังวัยรุ่นสมัยนั้น) แล้วก็ได้เงินคืนมาราว $53 ล้านจากทั่วโลก อาจไม่ได้กำไรตอนฉาย แต่อย่างน้อยตอนออกแผ่นและฉายเคเบิลก็น่าจะได้ทุนคืนมาบ้าง
ถือเป็นหนังรักวัยรุ่นปลายยุค 90 ที่ทำออกมาได้สนุกครับ กลมกล่อม ลงตัว ดูแล้วได้รอยยิ้ม ได้ความเพลิดเพลิน ได้ความสนุกแบบไม่เลี่ยน ดาราแสดงกันดี แต่ละคนมีคาแรคเตอร์ของตน Soundtrack เวิร์ก จังหวะการเดินเรื่องพอเหมาะ แทรกอารมณ์ขันกำลังดี แต่ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้เบาสาระดูแล้วมีอะไรดีๆ เก็บให้กลับไปคิด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ “การหันมารู้จักตนเอง ว่าเราคือใคร ต้องการอะไร และเราจริงๆ แล้วเป็นคนอย่างไร”
บางทีการเข้าใจสิ่งเหล่านี้ คือจุดเริ่มที่ดีที่จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมชีวิตของเรา เข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เรามีชีวิตแบบที่เป็น อีกทั้งปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญ จริงๆ แล้วมันก็อาจเกิดขึ้นเพราะบางมุมที่เราเป็นก็เป็นได้
หากรู้ว่าอะไรคือคน รู้ว่าอะไรคือตน ก็จะรู้วิิธีเปลี่ยนชีวิตครับ ^_^
สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ
(7.5/10)