367 DAY HIM AND HER – 367 วัน HIM AND HER

365 วัน Him & Her (ไวท์ ผดุงการ / Thailand / 2015)

นานทีจะมีหนังไทยดีๆ เข้าโรงมาให้ดูกัน  โดยเฉพาะในปีพุทธศักราช 2558 นี้  ที่หนังไทยตลาดๆ ไม่ว่าจากค่ายใหญ่ขาประจำหรือสายแมสอินดี้จากค่ายเล็กหน้าใหม่ต่างก็พังพาบทั้งในมุมรายได้และเสียงวิจารณ์คำชื่นชม  และบางครั้งก็ชนโรงประสานงากันล้มคว่ำระเนระนาด  ล่าสุดก็เมื่อรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ โกลด์ยูธ โปรดักชั่น ไลฟ์ ฟิล์ม ค่ายหนังน้องใหม่ได้ส่ง 365 วัน Him & Her (ไวท์ ผดุงการ) มาลงสนามพบกับ คนอกหัก (Love H2O) (ศุทธสิทธิ์ เดชอินทรนารักษ์ / 2015) หนังตัวแทนจากค่ายใหญ่(กว่า) อย่าง Mono Pictures  แต่ดูเหมือนว่าหนังทั้งสองเรื่องจะไม่ได้การต้อนรับที่อบอุ่นนัก  หนำซ้ำยังเอนเอียงไปในทางลบเสียมากกว่า  และถึง คนอกหัก จะมีภาษีความชำนาญในการเล่าและฟอร์มหนังที่ดูดีกว่ามากด้วยโปรดักชั่นและดาราแต่ก็ใช่ว่าหากถูกมองเฉพาะเนื้อหนังจริงๆ จะรอดพ้นเขตอันตรายไปได้  ส่วนตัวแล้วตอนที่นั่งเขียนอยู่นี้ยังไม่ได้ดู คนอกหัก (รอบที่ตั้งใจไปดูถูกยุบรอบ  คงสะท้อนความนิยมได้บ้าง) ก็เลยไม่ขอที่จะพูดถึงอะไรมาก  เพียงแต่พูดจากกระแสที่ได้รับรู้มา  แต่จากหน้าหนังและตัวอย่างหนังก็พอจะมองเห็นถึงจุดร่วมกันของหนังทั้งสองเรื่องได้แล้วว่ามันคือหนังที่ยังคงย่ำอยู่กับที่ซ้ำรอยความสำเร็จหนังอื่นราวกับถูกปิดหูปิดตาถูกตั้งโปรแกรมห้ามไม่ให้เดินไปทางอื่น  แม้ยังมั่นใจว่าคนสร้างได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะลืมหูลืมตา  แต่ความที่อยากจะลืมตาอ้าปากได้จากเม็ดเงินก็คงทำให้ต้องพยายามลืมๆ มันไป

สำหรับ 367 วัน Him & Her เป็นหนึ่งในหนังไทยที่รวมความเลวร้ายไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง  ถัดจากหนังเรื่อง  Postcard from Nowhere (พงษ์วัฒน์ ตันนุกูล / 2015) ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นหนังที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดูหนังในโรงไปแล้ว  แต่โชคดีที่ 367 วัน Him & Her ไม่ได้แย่อย่างเท่าเทียมในความรู้สึกส่วนตัวเพราะยังมีส่วนผิดพลาดที่กลายเป็นความบันเทิงได้มากกว่า ‘โปสการ์ดที่ไม่มีที่มา…..ที่ไป’  เพราะเมโลดราม่าเกินปกติมนุษย์ที่ท่วมท้นในแทบทุกนาทีที่หนังดำเนินไป  ราวกับว่าหนังกำลังเล่าเรื่องราวความรักของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ไม่สมประกอบทางสติสัมปชัญญะ  ด้วยบทสนทนาที่แสนจะซ้ำซากเชยเฉิ่มและงี่เง่า  นางเอกที่ต้องร้องไห้ถี่กว่าหนังไทยเรื่องไหนในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เสียจนอยากแนะนำให้เชิญ Guiness World Records มาบันทึกสถิติ  พอทุกสิ่งที่ว่ามารวมกันทำให้ระดับความเบื่อหน่ายใคร่รำคาญเดินมาจนถึงขีดขั้นที่ทำให้กลายเป็นความบันเทิงขบขันได้บ้าง

โดยเฉพาะบทสนทนาแสนจริงจังมากมายที่บรรจุความขบขันเอาไว้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ลองนึกภาพตามกันได้  อย่างเช่นว่า (ตัวอย่างที่ 1 นางเอกชื่อ ‘ไทน์’ ย่อมาจากวาเลนไทน์ชอบดอกกุหลาบตัดพ้อกับพระเอกชื่อ ‘เฮ้ด’ เป็นเดือนมหาวิทยาลัย) “ไทน์ตั้งใจตอบขำถามไม่ดีเพราะไทน์ไม่อยากเป็นดาวมหา’ลัย(มั่นใจมากว่าจะได้เป็น)…ไทน์กลัวไม่มีเวลาให้เฮ้ดเพราะไทน์แคร์ความรู้สึกของเฮ้ด…ไทน์ ไม่ได้อยากเป็นดาวมหา’ลัย  แต่ไทน์อยากเป็นดาวในใจเฮ้ด” แล้วก็วิ่งน้ำตาแตกหนีไป  (ตัวอย่างที่ 2 กะเทยและทอมเพื่อนนางเอกคอมโบซัดพระเอก) “หนึ่งวันมันมีตั้ง 24 ชั่วโมง  ทำไมมึงจะไม่มีเวลาให้ไทน์!!”  “มึงไม่ได้โง่นะเฮ้ด  มึงคิดดูเอาเองแล้วกัน…!!” (เข้าใจว่าเป็นไดอะล็อกปูเข้าชื่อเรื่อง  แต่น่าจะอ้างเป็นวินาทีนะจะได้เยอะ  ไม่คลิเชและคงฟังดูขึ้นกว่านี้!!!)  ฯลฯ  และอีกมากมายหลายหลาก  ไดอะล็อกจริงจังพวกนี้ต่างชวนขำในความดราม่าพยายามจะจริงจังแต่โคตรไร้ความสามัญธรรมดาแบบมนุษย์ทั้งนั้น  แต่มีไดอะล็อกหนึ่งที่ชวนขำไม่ต่างกันและแน่นอนว่าตามบริบทสถานการณ์ในหนังแล้วมันเลวร้ายสุดๆ แต่ในแง่หนึ่งมันให้มิติตัวละครและความสัมพันธ์ที่น่าสนใจดี (ตัวอย่างที่ 3 นางรองตัวร้ายดาวมหา’ลัย) “เธอเชื่อฉันนะว่าเฮ้ดทำทุกอย่างเพื่อเธอคนเดียว  แต่ถ้าเธอไม่ต้องการเฮ้ดแล้ว..เธอบอกเรานะ  เรามาเป็นเพื่อนกันนะ!!!” เห็นได้ชัดว่าความบิทช์ของตัวละครมันยังคงอยู่ในบทสนทนาที่ต้องการจะสานสัมพันธ์อย่างร้ายกาจน่าสนใจ!!  แต่นางเอกดันยอมรับไว้อย่างชื่นอกชื่นใจหวั่นไหวมิตรภาพน้ำตาร่วง(อีกแล้ว)!! จนเกิดคำถามขึ้นทันทีว่าบนโลกนี้มันมีกลุ่มเพื่อนที่ยังต้อนรับและยินดีกับคนแบบนี้โดยที่ไม่การดีเบตโต้แย้งหรือซํกถามอะไรทั้งที่ก่อนหน้านั้นจะเป็นจะตายกันให้ได้เหมือนในหนังเรื่องนี้ด้วยเหรอ  หรือแท้จริงแล้ววัยรุ่นหนุ่มสาวพวกนี้เป็นคนที่มีจิตใจแบบไหนกัน??!!

ความคิดนี้ทำให้นึกถึงหนังเมื่อปีที่แล้วอย่าง Stonehearts Asylum (Brad Anderson / USA / 2014)  ที่เป็นเรื่องราวความรักของคนจิตไม่ปกติ   ซึ่งถ้าหาก 367 วัน Him & Her เทิร์นเปลี่ยนมาเป็นหนังที่เฉลยว่าตัวละครวัยรุ่นหนุ่มสาวกลุ่มนี้แท้จริงแล้วคือคนบ้า  ทุกสิ่งอย่าง  ทุกสถานการณ์  ทุกบทสนทนาและสังคมในหนังมันอาจจะดูสมเหตุสมผลขึ้นมาได้ในทันที  ไม่ใช่เพียงแค่สมเหตุสมผลที่เนื้อหนังเป็นตัวสะท้อนวิสัยทัศน์ทางภาพยนตร์ที่ไม่ลึกซึ้งของคนทำได้ดีเพียงอย่างเดียว  และแล้วหนังก็จบลงจากที่เริ่มต้นเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนที่ดูเป็นนานาชาติ(อาเซียน)  จนจบมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเดียวกันยกก๊วน  เกิดรักสี่เศร้าที่สุดท้ายคู่หนึ่งก็สุขสมหวังถึงขั้นแต่งงานอย่างไร้‘ที่มา…..ที่ไป’  ส่วนอีกคู่ก็โศกเศร้าหักมุมอย่างสาหัสสากรรจ์ชวนคนดูให้สลดไปตามเนื้อหนังได้อย่างไม่ปรานี  เพียงแต่ไม่ใช่เป็นเพราะจุดจบอันหมองเศร้าเปล่าเปลี่ยวของตัวละคร  แต่สลดเพียงเพราะเลขราคาตั๋วที่ผุดพรวดขึ้นมาในหัวจังหวะเดียวกันกับที่นางเอกถูกรถชนตาย  และเปล่าเปลี่ยวยิ่งกว่าพระเอกวัยชราที่ต้องเฝ้ารอคนรักที่ไม่มีทางฟื้นกลับมาในสวนกุหลาบ  เมื่อได้มองไปรอบตัวแล้วพบว่าทั้งโรงเหลือเราคนดูแค่คนเดียว