Greenland นาทีระทึก…วันสิ้นโลก
ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดูหนังภัยพิบัติอยู่แล้ว ชอบมาตั้งแต่เด็ก เรื่องแรกๆ ที่ดูน่าจะเป็น Twister (1996), Volcano (1997) และ The Day After Tomorrow (2004) โดยเฉพาะเรื่องหลังนี่ดูบ่อยมาก ดูจนแผ่นพัง (ที่ดูบ่อยตีคู่กันคือ Independence Day ซึ่งจริงๆ ก็อยากเรียกว่าหนังหายนะ แต่มันดูเป็นหนังเอเลี่ยนบุกโลกมากกว่า) แต่แม้ว่าจะเป็นประเภทหนังที่ชอบ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังๆ หนังภัยพิบัติไม่ได้มอบอะไรที่ใหม่กับเรานัก คือมันอาจจะใหม่ขึ้นในแง่ของเทคนิคพิเศษด้านภาพ (Into the Storm ที่เป็น Twister ฉบับ Found Footage) การนำเสนอภัยพิบัติที่ซับซ้อนขึ้น ฉีกแนวขึ้น (Geostorm ที่เป็น 2012 เวอร์ชั่นเครื่องจักรเปลี่ยนธรรมชาติ) แต่สุดท้ายปลายทางก็เหมือนกัน
เพราะเรื่องเล่าจริงๆ ไม่ได้ถูกพัฒนาตามไปด้วย ถ้าให้นับช่วง 2010’s เรารู้สึกว่าหนังภัยพิบัติที่เวิร์คคือหนัง ภัยพิบัติ-ดราม่า ที่พูดถึงมนุษย์ในวิกฤตอย่าง The Impossible (2012) หรือ The Wave (2015) ที่ว่าด้วยการพลัดพราก และเริ่มต้นใหม่ ซึ่งจริงๆ Greenland (2020) ก็เป็นหนึ่งในหนังทำนองนี้ เพราะมันพูดถึงวิกฤตจากดาวหางยักษ์ การพยายามเอาชีวิตรอด และเหตุการณ์ที่แยกครอบครัวออกจากกันคนละทิศคนละทาง
“Greenland” ไม่ได้มีพล็อตที่ซับซ้อน และตัวหนังก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะทำให้ทุกอย่างยากเกินจำเป็น มันคือเรื่องราวของครอบครัวที่ต้องเอาชีวิตรอดจากวิกฤตดาวหาง ที่สะเก็ตของมันหลุดเข้าชั้นบรรยากาศโลกจนเกิดเป็นหายนะในทุกพื้นที่ ครอบครัวตัวเอกต้องเดินทางไปยังสนามบินเพื่ออพยพแต่แล้วทุกอย่างก็เริ่มหายนะ ทุกสิ่งที่ต้องการล้มเหลว จากความหวังที่จะหนีรอดไปด้วยกัน กลับกลายเป็นว่าพวกเขากระจัดกระจายไปกันคนละทาง หนังจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติ แต่ยังเป็นเรื่องของการพาทุกชีวิตกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งด้วย
เอาจริงๆ ต้องบอกตามตรงว่าภาพรวมของหนังมันสูตรมากๆ หลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนจอ หลายๆฉากระทึกที่เราได้เห็น เราอาจเคยพบเคยเจอจากหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก่อนหน้าแล้ว แต่นั่นไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเอนจอยกับ Greendland สุดๆคือการที่คนทำเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะเล่า เข้าใจในข้อจำกัด รวมถึงเข้าใจในสูตร ในโครงสร้างหนังภัยพิบัติที่เคยมีมา แต่แทนที่เขาจะสนใจในเรื่องของการนำเสนอให้ฉีกขึ้น แหวกขึ้น หรือเวอร์ขึ้น เขาเลือกที่จะมอบความเป็นมนุษย์ให้กับหนังอย่างสุดหัวใจ ทำให้มันกลายเป็นหนังภัยพิบัติที่เราคุ้นชิน แต่มอบความรู้สึกที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆอย่างสิ้นเชิง
จริงๆ ระหว่างดูเราจะนึกถึง 2012 ของ โรแลนด์ เอ็มเมอริช ในเวอร์ชั่นที่ ริก โรมัน วาฟ (ผู้กำกับ) ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับโรแลนด์ทั้งหมด Greenland พูดถึงหายนะวันสิ้นโลก แต่ไม่ได้เล่าในมุมมองของคนจากรัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ หรือองค์กรต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง หรือได้รับหน้าที่ในการจัดการกับปัญหา ในหนังเรื่องนี้ รัฐบาลแทบไม่มีตัวตน ไม่ถูกกล่าวถึง และไม่ได้มีการตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่กระนั้น การไม่ได้เล่า ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่ สิ่งที่ปรากฎในหนังคือการฉายภาพสิ่งที่รัฐตัดสินใจ เป็นปลายของโครงสร้าง และระบบจัดการที่เขาใช้ในการรับมือกับหายนะที่เกิดขึ้น ซึ่งมันให้ความรู้สึกต่างกันมาก
การที่หนังโฟกัสอยู่กับตัวของประชาชนเพียงมุมมองเดียว ประชาชนที่สามารถรับข้อมูลได้เพียงทางทีวี วิทยุ หรือโทรศัพท์ ทำให้เราได้เห็นการดิ้นรนของตัวละคร ขวนขวายหาทางที่จะเอาชีวิตรอดต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราชอบอย่างหนึ่งก็คือ หนังจัดลำดับข้อมูลน่าสนใจ หนังเผยให้เห็นว่ารัฐ หรือสื่อจากทีวีไม่ได้อธิบายทุกสิ่งทั้งหมด แต่เป็นการปกปิดข้อมูล และเปิดเผยส่วนที่ต้องการ ในขณะเดียวกัน จุดเปลี่ยนผันสำคัญของข้อมูลกลับมาจากปากต่อปาก มาจากคนแปลกหน้าที่เป็นมิตร และให้ข้อมูลสำคัญกับตัวละคร เราจึงรู้สึกว่า Greenland เป็นหนังหายนะที่คนทำเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ด้วยกันมากๆ เหมือนมันเป็นทางเดียวที่พวกเขาจะเอาชีวิตรอดต่อไปกันได้
พอหนังให้ความสำคัญ และน้ำหนักกับภาวะความเป็นมนุษย์มากๆ เราเลยได้เห็นหลายๆฉาก หลายๆพัฒนาการของตัวละครที่น่าสนใจ แม้จะยืนอยู่บนโครงสร้างหนังที่เราคุ้นชินก็ตาม การที่หนังไม่ได้ตัดสิน หรือเหมารวมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เผยให้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ และการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้ตัวละครในหนังล้วนน่าสนใจไปหมด ซึ่งเราชอบที่เขาไม่ได้สนขนบความคิดเดิม มีท่าทีที่จะพยายามหลุดพ้นออกจากกรอบเดิมๆ อยู่ตลอด เหมือนคนทำรู้สูตร และก็เลือกใช้มันอย่างถูกวิธี เราจะเห็นได้ว่าบทภาพยนตร์ที่ความพยายามจะลดทอน หรือตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป
ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเชื่อในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ช่วยเหลือกัน อย่างตัวละครเพื่อนบ้านในช่วงเปิดเรื่อง เราชอบมากๆที่เขาไม่ได้ใส่คอนฟลิกต์เข้ามา ไม่ได้สร้างสถานการณ์บ้าๆบอๆให้ตัวละครออกมาสติแตก ซึ่งมันเป็นแบบนั้นทั้งเรื่อง เราชอบที่เขาทรีดตัวละครแบบนี้ เพราะมันมีผลลัพธ์กับบรรยากาศของหนัง หรือเมสเสจสำคัญที่คนทำต้องการสื่อสาร คือตอนดู 2012 เราได้เห็นความใหญ่โตมโหฬาร ได้เห็นเรื่องราวที่พาคนดูไปสู่วันสิ้นโลก แต่มันไม่ได้จริงจัง คนทำหนังไม่ได้ทรีดให้ภัยดังกล่าวอันตราย ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็เพราะการเขียนตัวละครด้วย
ถ้าใครดู Greenland แล้วก็จะเห็นว่าทุกตัวละครมันดูมนุษย์มากๆ การที่หนังวางท่าทีให้ทุกอย่างเป็นตามธรรมชาติ ไม่ทำให้มันดำ หรือขาวชัดเจนเกิน สร้างความรู้สึกระหว่างดูได้ดีเลย (จริงๆ หนังพวกนี้แค่ไม่เขียนตัวละครให้เรารู้สึกรำคาญ เป็นตัวละครที่ฟังก์ชั่นทำให้เรื่องมันยุ่งเหยิงไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด เราก็โอเคแล้ว)
ชอบพาร์ทความสัมพันธ์ของตัวละคร ชอบที่การพลัดพรากจากกันขณะเกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่การแยกจากกันครั้ง เพราะพวกเขามีปัญหาทางความสัมพันธ์กันอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการกระตุ้นทางความคิด และความรู้สึกให้พวกเขาต้องทบทวนอีกครั้ง หากวันหนึ่งเราสูญเสียกันไป แยกทางกันไป ใครจะรู้สึกอะไรยังไงบ้าง ซึ่งเราชอบที่เขาเล่าแบบพอดิบพอดี
ในแบบเดียวกับพาร์ทคุณตาที่มาไม่เยอะ แต่อธิบายธีมเรื่องได้ดีมากๆ หรือ ชอบประเด็นหนึ่งในหนังมากๆ ที่เล่าได้ทั้งในมุมของชีวิต และมุมของความสัมพันธ์ ตัวละครลูกพูดมาว่า “ถ้าเรากำลังจะตายจะมีภาพชีวิตแวบขึ้นมา” ภาพชีวิตสำหรับเขาหมายถึง ความทรงจำ และเรื่องราวดีๆ ที่เราเคยมี แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราได้เห็นภาพเหล่านั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ เพราะประเด็นส่วนหนึ่งที่ถูกเล่าใน Greenland คือการพยายามรักษา และเยียวยาชีวิตคู่ที่กำลังจะพังทลาย ซึ่งเขาก็ใช้เทคนิคภาพชีวิตมาเล่าจริงๆ
Greenland เป็นหนังภัยพิบัติที่เราเอ็นจอยมากๆ เรื่องหนึ่ง เหมือนนี่แหละเป็น “My type of dis-aster film” คือการพาผู้ชมไปสำรวจเบื้องลึกจิตใจของคนที่ต้องเอาชีวิตรอดจากหายนะ โดยมีโครงสร้างของรัฐบาลขับเคลื่อนอยู่ และพวกเขาไม่สามารถไปแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงได้ การให้ตัวละครเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีอำนาจ หรือจับพลัดจับผลูเข้าไปเป็นส่วนร่วมในรัฐบาลทำให้หนังออกมาเข้มข้นจริงจัง บวกกับการไม่วอกแวกในบรรยากาศของตัวเอง
แม้กระทั่งช่วงเวลาที่ผ่อนคลายมันก็ไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพือให้ตัวละครเล่นมุกตลกแต่อย่างใด ใครที่กำลังต้องการหนังภัยพิบัติเช้มช้นจริงจังน่าจะชอบมากๆ แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามันพูดถึงหายนะในหลายๆมุมที่เป็นลูกโซ่ต่อกันไป คือมันไม่ได้โฟกัสแค่กับอุกกาบาต ดาวหางซะทั้งหมด แต่พาคนดูไปเห็นมนุษย์ในหลายๆด้านด้วยเช่นกัน งานเทคนิคพิเศษด้านภาพอาจจะไม่หวือหวามาก แต่ชอบการดีไซน์ดาวหางในหนังสุดๆ เพราะเห็นแล้วนึกถึง Comet (2014) หนังรักที่ชอบมากๆคือของ แซม เอสเมล
Greenland เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ครับ
————————————————–