หนังเรื่องแรกในระบบสตูดิโอของ เต๋อ นวพล ผู้กำกับที่ถูกจับตามองมากที่สุดในหมู่คนทำหนังในตลาดหนังไทย คือการก้าวมาทำหนังในกรอบที่เรียกกันคุ้นปากว่าเป็นการก้าวออกจากการทำ “หนังอินดี้” มาทำ “หนังแมส“ เป็นเรื่องแรก นวพลจะทำหนังร้อยล้านได้ไหม นวพลจะยังคงรักษาตัวตนคนอินดี้ของตัวเองได้ไหม ระบบจีทีเอชจะให้อิสระนวพลเท่าที่ควรหรือเปล่า นานาคำถามเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มได้ยินโปรเจกต์มาจนถึงตัวอย่างหนังและแพ็คการโปรโมตที่เรียกร้องความสนใจได้อย่างประสบความสำเร็จเอามากๆ
หลังจากหนังเปิดตัว ความคิดเห็นของคนในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คดูจะแตกเป็นหลายทาง บ้างมองว่าหนังจะแมสก็ไม่แมส จะอินดี้ก็ไม่อินดี้ ไปไม่สุดสักทาง บ้างก็ว่าถ้าจะทำหนังอาร์ตแบบนี้จะโปรโมตขายของให้เหมือนหนังตลาดคนรอตลกไปทำไมกัน บ้างก็ปลื้มปริ่มน้ำตาไหลพรากกับความน้อยที่กินใจของอารมณ์หนัง บ้างก็อินเพราะหนังพ้องกับชีวิตตัวเองเหลือเกิน แต่ตัวเลขไม่เคยโกหกใครเมื่อผ่านไปสี่วันของการเปิดตัว หนังก็ทำเงินไปเกือบครึ่งร้อยล้านแล้ว ซึ่งตามสถิติของตลาดหนังบ้านเรา รายได้ของสองอาทิตย์แรกคือตัวตัดสินชะตากรรมเกือบทั้งหมดของหนังว่าจะเจ๊งหรือรอดได้เลยทีเดียว
ว่ากันที่ตัวหนัง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย…ห้ามพัก…ห้ามรักหมอ” มีพล็อตเรื่องเรียบง่ายว่าด้วย ยุ่น มือรีทัชภาพฟรีแลนซ์ที่กรำงานหนักถึงผื่นขึ้นเต็มตัวจนต้องไปหาหมอ ที่นั่นเขาได้เจอ หมออิม คุณหมอยังสาวที่ดูเขาจะต้องชะตาคลับคล้ายคลับคลาว่าจะตกหลุมรักเธอ การพบหมออิมแม้แค่เดือนล่ะสิบห้านาทีต้องทำให้กิจวัตรประจำวันของเขาขลุกขลัก เมื่อแนวทางการรักษาของหมออิมทำให้ไม่สามารถอดหลับอดนอนได้อีกต่อไป ฟอร์มมือรีทัชขั้นเทพของเขามีอันต้องตกไปเรื่อยๆ เพื่อจะรักษาสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น สุขภาพส่วนตัวที่เขาไม่ค่อยแคร์ เพราะยุ่นไม่ได้มีครรอบตัวให้แคร์หรือจะมีใครแคร์เขานัก เขาอาจจะทำทั้งหมดและชีวิตที่เคยดำเนินมาต้องวุ่นวายเพียงเพราะอยากทำเพื่อหมออิม
สิ่งที่เป็นลายเซ็นในหนังของนวพลมาเสมอคือการวางคอนเซ็ปต์บางอย่างเพื่อทดลองในการเล่าเรื่อง ใน 36 หนังแจ้งเกิดครั้งแรกของเขาเขาวางคอนเซ็ปต์การตั้งกล้องนิ่งลองเทค 36 ช็อตเหมือนเฟรมภาพถ่ายที่ความทรงจำเคลื่อนไหวได้ ขณะที่ใน Marry is happy คือการทดลองการเล่าเรื่องผ่านการร้อยข้อความทวิตเตอร์สี่ร้อยกว่าข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ในหนังเรื่องนี้นวพลใช้คอนเซปต์การถ่ายด้วยลองเทค ให้นักแสดงเล่นยาวๆ เพื่อรักษารายละเอียดทางอารมณ์และเพื่อให้มีเคมีของความสดบางอย่างที่จะเกิดขึ้นระหว่างการแสดง เพราะหนังต้องเล่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเยอะมากๆ ซึ่งนับได้ว่าการวางคอนเซ็ปต์ครั้งนี้ของนวพลสามารถเล่นกับความรู้สึกของคนดูได้อย่างยอดเยี่ยม บางครั้งเรารำคาญที่กล้องแพนไปมา เราขำขันกับการเล่นมุกลองเทคล้อชะตากรรมของตัวละคร เราอึดอัดเมื่อจู่ๆ กล้องที่เคลื่อนไหวตลอดเวลากลับนิ่งเฉยให้เราอึดอัดในจังหวะที่แม่นยำ
ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากที่การร่วมมือกันระหว่างจีทีเอช และนวพล สองผู้มีอิทธิพลสูงต่อหัวหาดกลุ่มคนดูหนังสองกระแสหลักในไทยออกมาได้อย่างงดงาม แม้มันอาจไม่ตอบโจทย์รสนิยมคนดูหนังตลาดใหญ่นักดังจะเห็นได้จากฟีดแบ็กด้านลบของหลายๆ คน แต่คือความกล้าหาญจริงๆ ที่นวพลสามารถเล่าหนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างซื่อสัตย์ ชาญฉลาด และเล่นกับความน้อยนิดได้รุ่มรวย สามารถใช้ศักยภาพของภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่ไปเลย บางทีถ้าหนังเรื่องนี้สามารถประสบความสำเร็จด้านรายได้ ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่อาจเบิกทางให้เราสามารถเรียกภาพยนตร์ว่าเป็น “ศิลปะเชิงพาณิชย์” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำเสียที