Arrival – ผู้มาเยือน

Arrival – ผู้มาเยือน

มีวัตถุคล้ายยานพาหนะจากโลกใบอื่นจำนวนหนึ่ง ลงมาจอดเทียบบนตำแหน่งเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ไม่มีใครรู้จักผู้มาเยือนกลุ่มนี้ ไม่รู้ถึงวัตถุประสงค์ของการมาเยือน พวกเขาไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจใดๆ กับผู้มาเยือนได้ เพราะปัญหาสำคัญคือการสื่อสารที่เป็นไปไม่ได้เพราะมี “ภาษา” ที่แตกต่างกัน ไม่สามารถถอดรหัสแลกเปลี่ยนสาส์นใดๆ ต่อกันและกันได้ Louise Banks ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ถูกรัฐอเมริกาเรียกตัวทำภารกิจ เพื่อหาทางติดต่อสื่อสารกับผู้มาเยือนจากนอกโลกให้ได้ และสิ่งที่เธอทำคือ การสอนภาษาชาวโลกให้ผู้มาเยือนตั้งแต่เริ่มต้นจากศูนย์เลยทีเดียว

     ขณะที่ตัวพล็อตที่ยกมาข้างต้นนั้น ดูจะเป็นพล็อตหนังที่ไม่มีความบันเทิงน่าตื่นตาตื่นใจ ดังที่คนดูอาจคาดหวังจากหนังไซไฟทั่วไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เป็นดีเอ็นเอหลักของหนังไซไฟคือ ความเป็นอภิปรัชญา คำถามและจินตนาการถึงความเป็นไปในจักรวาลที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ใน Arrival ได้นำเสนอปรัชญาเรื่อง “ภาษา” ที่น่าสนใจมากๆ

     เมื่อ Louise เริ่มใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการถอดรหัสสื่อสารกับผู้มาเยือน เธอก็ได้แลกเปลี่ยนภาษาของผู้มาเยือนกลับมา ภาษาที่มีลักษณะพิเศษ รูปทรงวงกลม เป็นภาษาที่บรรจุความหมายและกาลเวลามากมายไว้ในอักษรตัวเดียว เชื่อมโยงไปถึงจินตนาการและคำถาม เรื่องที่มนุษย์เราอยู่ในกรอบของเวลาที่เป็นเส้นตรง เรื่องราวลำดับเหตุการณ์ในชีวิตเราจึงเรียงลำดับ 1 2 3 4 ไปตามกรอบเวลา ภาษาที่พวกเราใช้สื่อสารกันก็มีโครงสร้างตามเงื่อนไขกรอบเวลาที่เราดำรงอยู่เช่นกัน แต่ภาษาของผู้มาเยือนนั้นอยู่เหนือกาลเวลา เมื่อ Louise รับเอาภาษาของผู้มาเยือน เมื่อเธอเรียนรู้มัน ผลคือเธอได้ซึมซับกฏเกณฑ์ตรรกะระบบความคิดต่างอารยะของผู้มาเยือนไว้ด้วย และมันได้เปลี่ยนเธอไปอย่างสิ้นเชิง

     Denis Villeneuve ยังคงรักษามาตรฐานของหนังที่เต็มไปด้วยการทดลองใหม่ๆ ที่ท้าทายการเล่าเรื่องของเขาเอง วิชวลทางภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง การจับประเด็นเล่าเรื่องได้อย่างเข้มข้น และชวนให้คนดูคิดต่อยอดไปได้ไกลอย่างน่าเพลิดเพลิน ความบันเทิงจากการชมภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้ อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความบันเทิงด้านอารมณ์ทั่วไปมากนัก แต่ในแง่ของการท้าทายความคิด ท้าทายประสบการณ์การชมภาพยนตร์ Arrival ก็เป็นหนังที่เป็นที่ฮือฮาในกลุ่มคอหนังไม่น้อยเลยทีเดียว