Boyhood (Richard Linklater / 2014 / A+) E+30 for Enjoy
นึกถึง Daniel Radcliff ที่เติบโตไปพร้อมๆ กับบท Harry Potter ร่วมสิบปีโดยที่มีแนวโน้มพัฒนาการความสูงและหน้าตาไปทางเดียวกันกับ Ellar Coltrane ซึ่งกายภาพของทั้งคู่ช่วยเสริมแง่มุมให้ตัวละครมากๆ อย่าง Harry Potter การเติบโตของ Daniel Radcliff ช่วยเพิ่มความเห่ยให้ตัวละครได้มากขึ้น สำหรับเรามันน่าเอาใจช่วยมากกว่าจะให้โตมาหล่อเหลาในแบบที่สาวๆ กรี๊ดกร๊าดกัน และ Ellar Coltrane ใน Boyhood ที่ถึงแม้ตัวละครในเรื่องไม่ได้ถึงขั้นเปลี่ยนไปมากมาย อย่างเช่น ความเชื่อศาสนา อุดมคติทางการเมือง หรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งพอ Ellar Coltrane ไม่ได้โตมาด้วยรูปลักษณ์เพียงพอจะให้เป็นหนุ่มหล่อล่ำนักกีฬาแบบพิมพ์นิยม มันก็ทำให้เกิดตัวละครที่มีมิติไม่ธรรมดาโดยไม่ต้องปรุงแต่งมากมายซึ่งน่าสนใจไปอีกแบบ
นักแสดงทุกคนในเรื่องเติบโตไปพร้อมตัวละครตลอดระยะเวลา 12 ปี ของเรื่องราวในหนังที่เดินตามเวลาการถ่ายทำตั้งแต่ต้นจนจบ พอใช้วิธีนี้การเติบโตของตัวละครในหนังมันสมจริงมากขึ้น มันมีเสน่ห์ให้ติดตามทั้งโดยเฉพาะพัฒนาการรูปลักษณ์ภายนอกรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันจากการเติบโตของความรู้สึกนึกคิดทัศนคติและรสนิยมภายใน ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคชีวิตความขัดแย้งการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ก้าวผ่านไปทีละน้อยได้เห็นการเติบโตที่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะทำให้เรานึกย้อนอดีตชีวิตครอบครัว ความรักและมิตรภาพทั้งดีงามและเลวร้ายตามไปพร้อมๆ กับตัวละครได้ ขนาดเราไม่ได้รู้จักวัฒนธรรมอเมริกาดีพอก็ยังรู้สึกเชื่อมโยงได้มากๆ จากลูกเล่นระลึกอดีตที่มาในรูปแบบของสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งเพลง การ์ตูน หนังสือ คลิปวิดีโอ โซเชียลมีเดียฯลฯ
นักแสดงกลายเป็นเมจิกขับเคลื่อนทุกอย่างให้มีชีวิตด้วยเสน่ห์จากวิธีการที่ยังไม่มีใครเคยทำช่วยสร้างมิติการรับรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีหนังเรื่องไหนไปถึง หรืออย่างน้อยส่วนตัวเรายังไม่เคยได้เห็นวิธีการเล่าด้วยนักแสดงแบบนี้ ให้ความรู้สึกคล้ายว่าเรากำลังเฝ้ามองเพื่อนบ้านเพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวการเติบโตของคนที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวมันเข้าถึงเราแบบไม่ต้องพยายามซึมซาบรมเร้าให้รู้สึกเศร้าหรือสุขเกินไปแต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามชีวิตปกติมากที่สุด
ชอบการเล่าความเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวละครที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไปกระทั่งพ่อแม่ลูกคนในครอบครัวเดียวกัน แม่ที่จริงจังกับชีวิตเริ่มเรียนป.ตรีป.โทใหม่และเปลี่ยนสามีใหม่ที่เหมือนจะดีทุกครั้งแต่สุดท้ายก็ไม่เคยดี พ่อที่เคยขาดความรับผิดชอบปล่อยวางชีวิตก็ได้มีความสุขกับภรรยาใหม่ ช่างประปาที่ศิวิไลซ์ตัวเองด้วยการศึกษาจนกลายเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ครอบครัวธรรมดาๆครอบครัวหนึ่งไปพร้อมกับตัวละครในสังคมแวดล้อมที่เหมือนจะดีแต่ก็ร้ายเหมือนจะร้ายแต่ก็มีเรื่องดีเข้ามา ก่อนที่จะเลวร้ายอีกครั้ง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ที่จะจริงจังเอาใจใส่ซึ่งมีบ้างที่ต้องปล่อยวางและต้องดิ้นรนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้
คิดว่าผู้กำกับก็ต้องมีแผนหนึ่งแผนสองก๊อกสามก๊อกสี่ตลอดการถ่ายทำที่จะทำให้พลิ้วไหวไหลลื่นไปได้เผื่อนักแสดงเกิดอุบัติเหตุล้มหายตายจากหรือเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดคิด ส่วนสนุกอย่างหนึ่งคือการคาดเดาพัฒนาการความเป็นไปของตัวละครนี่แหละ ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน มีนักแสดงตายแล้วจะจัดการยังไงบ้าง และพอมีเงื่อนไขที่ต้องใช้นักแสดงคนเดิมมันก็ไม่ใช่แค่นักแสดงต้องเปลี่ยนตามตัวละครในหนัง แต่ตัวละครในหนังก็ต้องเปลี่ยนไปตามนักแสดงซึ่งทำให้เกิดเสน่ห์ความกลมกลืนเป็นธรรมชาติ ทำให้มองมุมกลับย้อนเห็นรายละเอียดของชีวิตตัวละครที่เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงคือชีวิตจองนักแสดงได้มากขึ้น
ในหนังส่วนใหญ่มักจะเห็นตัวละครหล่อสวยหรืออย่างน้อยก็น่ารักน่ามองทั้งตอนเด็กและตอนโต กระทั้งตอนแก่ แต่การเติบโตของนักแสดงเรื่องนี้ตั้งแต่ตัวหลักไปจนถึงตัวประกอบมันถูกบังคับให้ปรากฏในหนังไม่ว่ารูปลักษณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด จากตอนเด็กน่ารักสดใสที่พอโตขึ้นเดี๋ยวมีมุมหล่อสวยบ้างเดี๋ยวหน้าใสเดี๋ยวหน้าสิวบ้าง สำหรับเรามันเป็นสิวในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่จริงใจที่สุดและมีความหมายสะท้อนความจริงที่ไม่แน่นอนของชีวิตได้งดงามที่สุด
ปล. คิดตื้นๆ TO’YO’TA ท้ายรถพระเอก YO ที่เหลืออยู่คือ ‘Years Old’ เปล่าวะ มันเจ๋งที่ว่านอกจากจะเป็นสปอนเซอร์(รึเปล่า?)แล้ว มันยังเป็นการไทอินสินค้าให้มีฟังก์ชั่นในหนังเป็นหนึ่งในโมทีฟ Coming of Age ได้ฉกาจเข้าท่ามากๆ อยากเห็นหนังไทยใช้’ไทยประกันชีวิต’ได้แบบนี้บ้างจัง