Pop Aye (Kristen Tan / Singapore, Thailand / 2017)
หลังจาก ฉลาดเกมส์โกง (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) เปิดโรงให้หนังไทยฝั่งแมส ได้หน้าได้ตาพ่วงคำชม และรายได้หลักร้อยล้านกันไปก่อน ก็มาถึงคิวของ Pop Aye ที่มาประกาศศักดาของหนังฝั่งนอกกระแสว่ามีคุณภาพแค่ไหน ที่หนังช้างจะฟาดงวงฟาดงาสู้กับหนังนักเรียนโกงข้อสอบแลกเงินได้ ถึงแม้คำชมในแง่คุณภาพ เมื่อรวมคุณงามความดีหลากหลายมิติของหนังทั้งสองเรื่องนี้ จะไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ขนาดที่มั่นใจได้ว่าปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า เราจะได้เห็นหนังทั้งสองเรื่องนี้ ไปติดอยู่ในลิสต์หนังที่ดีที่สุดของคนดูหนังหลายต่อหลายคน รวมไปถึงบนเวทีรางวัลระดับประเทศอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นหนังยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ ผู้กำกับ กำกับภาพ ลำดับภาพ ออกแบบงานสร้าง ดนตรีประกอบ และนักแสดงที่โดดเด่นยิ่งนัก โดยเฉพาะ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ที่มีบทบาทเด่นทั้งสองเรื่อง ไม่ว่าจะบทสมทบในฉลาดเกมส์โกง หรือบทนำใน Pop Aye ซึ่งล้วนแล้วก็ทำหน้าที่นักแสดงได้อย่างน่าชื่นชม แต่เป็นที่น่าเศร้ายิ่งกว่าอะไร เมื่อ Pop Aye ได้รอบฉายและรายได้น้อยมากเกินกว่าหนังดีๆ ควรจะได้รับ
หนังเล่าเรื่องของ ธนา ลุงเลยวัยกลางคน ที่ไปเจอกับ ป๊อปอาย ช้างเพื่อนรักในวัยเด็ก ซึ่งพลัดพรากกันไปหลายสิบปี ทำให้เขาตัดสินใจที่จะทิ้งชีวิตอันแสนน่าเบื่อหน่ายในกรุงเทพฯ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ต้องการเขาอีกต่อไป ทั้งหน้าที่การงาน บ้าน และ โบ (ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) เมียของเขา เพื่อพาช้างเพื่อนรักกลับบ้านที่จังหวัดเลย ธนาต้องเดินทางไปตามถนน ทั้งเดินเท้า และโบกรถบรรทุกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงที่หมาย ทำให้เขาได้พบเจอกับผู้คนหลากหลายมากมายที่กลายเป็นประสบการณ์ และความทรงจำใหม่ในชีวิตของเขาไปอีกนานแสนนาน
หนังน่ารักมากๆ มีทั้งแอบซึ้งในมิตรภาพการเดินทาง ทั้งระหว่างธนากับช้างเอง และความสัมพันธ์รายทางที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ ลุงที่ปลดปลงกับทุกสิ่งอย่าง และเศร้าไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่การเรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่กับความเปลี่ยนแปลง เพื่อหล่อเลี้ยงเกื้อกูลกันและกันให้ได้ ก็ช่างชวนให้อิ่มอกอิ่มใจ โบเมียของธนาที่เป็นโบคนเดิม แต่กาลเวลาทำให้ความโรแมนติกแบบหนุ่มสาวแรกเจอ อาจจะหย่อนคล้อยตามสภาพร่างไปด้วย จนทำให้การอยู่ด้วยกันมันชาชิน จนไม่มีน้ำหล่อลื่นให้จิตใจ แต่กับช้างที่ธนาเจอแค่แว้บเดียว และจากกันไปทั้งชีวิต กลับเพิ่มพลังและผลักดันให้ทำบางสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับคนมีฐานะการงานอย่างธนา การพาช้างเดินกลับบ้านจากกรุงเทพฯ ไปถึงจังหวัดเลย อาจทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนบ้าได้
ชอบมากๆ ที่ตัวละครชายขอบอย่างคนจรจัด กะเทย ตำรวจภูธร และสาวอีสานบ้านนอก ถูกมองผ่านสายตาของธนา ซึ่งปัจจุบันเป็นคนฐานะสูงกว่า แต่หนังทำให้เรารู้สึกว่าธนามองด้วยแว่นของคนที่เคยมีชีวิตที่ลำบากมาก่อน จึงกลายเป็นหนังที่ตัวละครคนกรุงชนชั้นกลางแถวหน้า มีทัศนคติที่ดีกับตัวละครคนชายขอบอย่างเข้าใจ และทำให้ชีวิตเหล่านี้ร้อยเรียงกันได้อย่างธรรมชาติ และมีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่มองด้วยความรู้สึกที่น่าเวทนา แต่พาให้โหยหาอดีตซึ่งขัดแย้งกับฐานะ ซึ่งเป็นผลมาจากการกอปรสร้างในยุคปัจจุบันของธนาเอง
ถ้าหนังยังเหลือรอบอยู่ ก็อยากให้ไปลองดูและอุดหนุนกันเยอะๆ ถึงจะไม่ใช่หนังที่ตั้งใจสร้างขึ้นมา เพื่อจะเอาใจตลาดคนดูทั่วไปในสยามประเทศนี้ แต่ก็ดูสนุกได้เรื่อยๆ ไปกับการเดินทางของคนกับช้างที่น่ารักน่าเอ็นดู ได้เก็บหอมประสบการณ์รายทางและสัมผัสชีวิตของผู้คนสามัญชน ที่อาจห่างหายไปจากความเป็นอยู่ของคนกรุงปัจจุบัน ความปลอมประหลาดและแปลกแยกจากหลายชีวิต ถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันในหนังเรื่องนี้อย่างมีเสน่ห์ เรียบง่าย งดงาม ไปดูกันๆ เดี๋ยวพอเข้าชิงรางวัลในเวทีบ้านเรามากๆ ก็จะหาว่าไม่รู้จักกันอีก