GOLD ทองกู
มาถึงคิวหนังระทึกขวัญเอาตัวรอดลำพังจากธรรมชาติ เป็นหนังแนวที่มีใครหลายคนชื่นชอบและฝั่งฮอลลิวูดก็มักจะสร้างออกมาเสิร์ฟให้เลือกชมกันเรื่อย ๆ คราวนี้เป็นตาของ “GOLD ทองกู” หนังที่ได้พระเอกสุดหล่อ “แซค เอฟรอน” มาปล่อยของและลีลาการแสดงแบบยืนเดี่ยวกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง เพื่อต่อสู้กับธรรมชาติอันโหดและจิตใต้สำนึกของตัวเอง ที่น่าจะโหดร้ายยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดเลย
GOLD ทองกู เป็นเรื่องราวของโลกอนาคตอันใกล้ เมื่อชายแปลกหน้า 2 คนที่เดินทางผ่านทะเลทรายด้วยกัน พวกเขาเจอแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเจอมา ทั้งคู่จึงวางแผนร่วมกันที่จะขุดทอง โดยคนหนึ่งคอยเฝ้าทองคำเอาไว้ ส่วนอีกคนออกหาอุปกรณ์ ที่จะใช้ขุดทองกลางทะเลทราย แซค เอฟรอน รับบทเป็นชายที่ต้องอยู่เฝ้าทองตามลำพังในทะเลทราย ผู้ต้องเผชิญกับความหฤโหด ต่างๆ ทั้งจากตัวทะเลทรายเอง หมาป่าดุร้าย และ ผู้บุกรุกที่มองไม่เห็น
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและร่วมเขียนบทของ “แอนโทนี เฮยส์” นักแสดงชาวออสเตรเลีย ที่เขาร่วมแสดงสมทบในหนังเรื่องนี้ด้วย รับหน้าที่ควบในหลายตำแหน่งเลยทีเดียว แน่นอนเรื่องนี้มีคอนเซ็ปต์และหน้าหนังที่น่าสนใจไม่เบา ใคร ๆ ก็ใคร่อยากรู้ว่าชายคนนี้จะเอาชีวิตรอดอย่างไรกลางพื้นที่แห้งแล้ง เพียงแต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ว่า GOLD ทองกู กลายเป็นหนังที่เต็มไปได้พล็อตเรื่องที่เบาโหว่ง แทบจะไร้ซึ่งน้ำหนัก พลอยทำให้ความยาวชั่วโมงครึ่งของหนังที่ไม่ได้ยาวอะไร แต่กลับดูยาวนานเหลือเกิน
ปัญหาหลักของ GOLD ทองกู ก็คือพล็อตและความน่าสนใจของเรื่อง ยอมรับว่าในช่วง 30 นาทีแรกของหนังนั้น ปูทางและปูเรื่องมาได้ค่อนข้างดี เนรมิตโลกอนาคตที่ดูแห้งแล้งและสิ้นหวังได้อย่างน่าหดหู่ แต่เมื่อหนังเริ่มเลี้ยวเข้าสู่แกนหลักของหนังที่เป็นแนวเอาชีวิตรอดอย่างเดียวดาย กลับรู้ว่าหนังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรต่อดี ดำเนินเรื่องไปแบบเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดพีคขึ้นลงให้รู้สึกสนใจ ติดตามตัวละครที่มีความคิดโลภมากไปเรื่อย ๆ แบบไร้แก่นสาร
เอาจริง ๆ หากคนดูสังเกตให้ดี ก็อาจจะเดาทางของเรื่องได้ตั้งแต่ 15-20 นาทีแรกของหนังได้แล้ว เพราะมุมมองต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างดูง่ายและย่อยง่าย ง่ายเกินไปจนแทบไม่มีอะไรให้ตราตรึงเอาไว้เป็นที่จดจำเลย พร้อมกับยังแอบเสียดายลีลาการแสดงของ แซค เอฟรอน ที่ถือว่าเขาแบกรับเรื่องนี้เอาไว้ทั้งเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ถ่ายทอดอารมณ์ต่าง ๆ ขับอินเนอร์ของตัวละครออกมาได้ชัดเจน ใส่แนวคิดยับยั้งใต้จิตสำนึกออกมาได้ดี เพียงแต่องค์ประกอบของเรื่องที่ว่างเปล่า สุดท้ายก็ทำให้หนังเรื่องนี้…ว่างเปล่าตามไปด้วย
อย่างที่บอกไปแล้วว่า หนังเรื่องมีความยาวเพียงแค่ชั่วโมงเศษ ๆ ถือว่าเป็นความยาวของหนังในระดับปกติทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้กลับให้ความรู้สึกกับคนดูเหมือนยาวนานเป็น 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของเรื่องนี้ ที่ชวนหดหู่และน่าเบื่อเหลือเกิน อดไม่ได้ที่ต้องก้มดูนาฬิกาตัวเองแทบจะทุก 2 นาทีเลยทีเดียว เพราะหนังไม่สามารถซื้อใจและดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้แล้ว กับแก่นสารที่เวิ้งว้างไม่ต่อกับทะเลทรายที่ตัวละครติดอยู่
แต่กระนั้น GOLD ทองกู ก็ไม่ใช่หนังที่ย่ำแย่อะไร เพราะอย่างน้อยหนังก็มีคอนเซ็ปต์ที่แน่วแน่น เพียงแค่วิธีการนำเสนอและเล่าเรื่องยังไม่ถูกลับคมและทรงพลังได้เพียงพอ ในแง่องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังก็มีหลายมุมที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะงานโปรดักชั่นดีไซน์ของเรื่องนี้ แอบชวนนึกไปถึงภาพเดียวกับในหนัง Mad Max: Fury Road อะไรทำนองนั้น คงเพราะว่าหนังใช้โลเคชั่นถ่ายทำในละแวกเดียวกันด้วย
งานภาพและโลเคชั่นในช่วงเปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้ ถือว่าสวยบาดใจจริง ๆ แค่ได้เห็นลักษณะภูมิประเทศแห้งแล้งของออสเตรเลียมาใส่เอาไว้ในหนังที่เต็มไปด้วยความหดหู่และสิ้นหวังบนโลกสมมติที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การสื่อสารออกมาด้วยภาพฉากต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ถือว่าทำออกมาได้น่าประทับใจอยู่ รวมทั้งเอกเฟกต์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเทคนิคการแต่งหน้า หรือ เสื้อผ้าต่าง ๆ ไปจนถึงรายละเอียดเล็กน้อย อย่าง แมลงวันบินตอม นับว่าเป็นรายละเอียดที่หนังเก็บได้ค่อนข้างดีใช้ได้
เอาเป็นว่าในภาพรวมแล้ว GOLD ทองกู ก็เป็นหนังเอาตัวรอดที่ใช้สูตรสำเร็จเดิม ๆ ไอเดียดีแต่ทิศทางการเล่าเรื่องและถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องในหนังยังไม่เรียกความสนใจของคนดูได้มากพอ เป็นหนังเอาชีวิตรอดที่ค่อนข้างมีมุมมองซ้ำซากและน่าเบื่อไปสักหน่อย ทุกอย่างเหมือนเล่นอยู่ในพื้นที่เซฟโซน จะเล่นไปทางไหนก็ไปไม่สุดสักทางเดียว แม้องค์ประกอบต่าง ๆ รายล้อมของหนังเรื่องนี้จะดี แต่เนื้อเรื่องนั้น…แทบจะเหมือนกับนั่งดูละครสั้น “ฟ้ามีตา” ทางช่อง 7 ให้แง่คิดคุณธรรมอะไรทำนองนั้น
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง GOLD ทองกู
- ประเภท: ดราม่า / ระทึกขวัญ
- ผู้กำกับ: แอนโทนี เฮยส์
- นำแสดงโดย: แซค เอฟรอน, แอนโทนี เฮยส์
- ความยาว: 97 นาที
- กำหนดฉายในไทย: 28 เมษายน 2022 (ในโรงภาพยนตร์)
Movie.TrueID METRIC: GOLD ทองกู
- ภาพรวม
⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰ (6/10) - การเล่าเรื่อง
⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰✰ (5/10) - การแสดง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰ (7/10) - บทภาพยนตร์
⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰✰ (5/10)
————————————-