ความแยบยล เมื่อเธอหายไป…
“คมคาย แยบยล” คงเป็นคำจำกัดความสั้นๆสำหรับภาพยนตร์เรื่อง Gone Girl ได้อย่างไม่น่ากังขาใดๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความโดดเด่นในหลายๆเรื่อง แทบทุกองค์ประกอบทำให้ทุกวินาทีของภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนติดตามเหมือนอยู่ในภวังค์ของหนังสือบนิยายเชิงสอบสวนสืบสวนเรื่อง Gone Girl ของกิลเลี่ยน ฟลินน์ แต่ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้จบเหมือนในหนังสือเสียทีเดียว เป็นเพราะการตีความใหม่ของ เดวิด ฟลินซ์เชอร์ ผู้กำกับจอมเจ้าเล่ห์ ผู้มีสไตล์โดดเด่นสุดติ่งกระดิ่งแมวได้เฉียบขาดมากๆ(คืออะไร!!!?) ทำให้เกิดสไตล์การเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์และโหดร้ายมาก และยังได้ให้เกียรติเจ้าของนิยายมาเขียนบทภาพยนตร์ใหม่ด้วยตัวเองอีกด้วย
เธอกำลังคิดอะไรอยู่
ขออธิบายเนื้อเรื่องสั้นๆ เมื่อเอมี่ ดันน์สาวชาวกรุงนิวยอร์ก รับบทโดย โรซามันด์ ไพค์ (ไพรด์ แอนด์ พรีจูไดซ์,แอนทอนเมนต์) ภรรยาของ นิค ดันน์หนุ่มบ้านนอกชาวมิสซูรี รับบทโดย เบ็น แอฟเฟล็ค (อาร์โก,เพิร์ล ฮาร์เบิล) หายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำในเช้าวันครบรอบแต่งงานปีที่ห้า โดยนิคกลับรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลอะไรบางอย่างของภรรยาเขา แต่เขากลับไม่รู้ว่านี่เป็นเกมที่เธอจงใจเล่นสนุกหรือถูกลักพาไปจริงๆ นำมาสู่การไขปริศนาของคดี “คนหาย” ของเอมี่ที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดคดีหนึ่งในอเมริกาเลยทีเดียว
ขอเริ่มที่ผู้กำกับสไตล์จัดจ้าน สุดยอดนักเล่าเรื่องอย่าง “เดวิด ฟลินซ์เชอร์” การันตีด้วยผลงานยอดเยี่ยมอย่าง ไฟท์คลับ , เซเว่น , เบนจามิน บัทตัน , โซเชียลเนตเวิร์ก ทำให้ Gone Girl เป็นภาพยนตร์ที่มีการออกแบบวิธีเล่าเรื่องได้อารมณ์อย่างมาก แม้ไม่ได้สไตล์จัดอย่างไฟท์คลับ หรือบีบคั้นอย่างเซเว่น กลับใช้วิธีเล่าเรื่องและภาษาภาพค่อนข้างเรียบง่ายคล้ายๆโซเชียลเนตเวิร์ก เดวิดไม่ได้เพียงทำให้เรารับรู้อารมณ์ของตัวละคร เดวิดพยามสื่อสารให้ข้อมูล ให้เราเชื่อและรู้จักตัวละครทีละเล็กน้อยจนเราเริ่มคุ้นเคยกับนิคและเอมี่ สามีภรรยาที่ชีวิตเพรียบพร้อม แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปตามเรื่องราว เดวิดกลับหักหลังเราอีกโดยทำให้เราแทบไม่รู้จักตัวละครตัวนั้นจริง ไม่ว่าจะเป็นเอมี่หรือนิคก็ตาม จนบางสถานะการณ์เรากลับหวาดกลัวตัวละครตัวนั้นขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่แค่รับรู้ตัวละครแต่เป็นความหวาดกลัวตัวละคร ซึ่งเป็นวิธีถ่ายทอดเรื่องราวที่หลักแหลมแยบยลน่าสนใจมาก นอกจากวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่น เพลงประกอบเป็นอะไรที่ร้ายกาจไม่แพ้กัน เพลงประกอบเรื่องนี้ค่อนข้างทันสมัยไม่ได้ใช้วงออเครสตร้าแบบยุคเก่า เพลงสื่ออารมณ์เรียบง่ายแต่ให้อารมณ์ที่ค่อนข้างร้ายกาจ ในบางฉากเดวิดสื่ออารมณ์หวาดกลัว น่าหวาดหวั่นไม่ปลอดภัยด้วยท่วงทำนองเพลงโรแมนติก หวานซึ้ง ประกอบกับการแสดงของโรซามันด์ และ เบ็น ทำให้ทุกองค์ประกอบเกิดเป็นฉากที่ทรงพลัง น่าหวาดหวั่น รู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย
ต่อมาขอสาธยายถึงแคสติ้งนักแสดงและการแสดงของโรซามันด์และเบ็น เหตุใดถึงต้องเป็นสองคนนี้ ดูอย่างไรก็ออกจะขัดอารมณ์เล็กน้อย เพราะเบ็นดูจะทึ่มๆเกินกว่าจะเล่นคู่สาวสวยอย่างโรซามันด์ แต่เป็นเพราะการตีความของเดวิด เอมี่เป็นสาวสวยชาวกรุงนิวยอร์กที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล ส่วนนิคเป็นหนุ่มชาวมิสซูรีอารมณ์คล้ายๆมาจากขอนแก่นทำนองนั้น เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องเห็นสามีที่ดูคาแรกเตอร์ออกบ้านนอกคอนทราสกับภรรยาชาวกรุงที่ดูเป็นชาวเมืองมากกว่า ซึ่งทั้งเบ็นและโรซามันด์เก็บรายละเอียดความเป็นคู่สามีชาวบ้านนอกและภรรยาชาวกรุงได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งการถ่ายทอดวิธีการคิดตัดสินใจของตัวละครผ่านการแสดง การถ่ายทอดอารมณ์หรือประสบการณ์ของตัวละครอันทำให้เรารู้จักตัวละครแล้วเลือกที่จะ ”เข้าใจ” หรือกลับกลายเป็น “ไม่รู้จัก” ตัวละครไปเสียอย่างนั้น นอกจากนี้ยังต้องชื่นชมการแสดงอันโดดเด่นของโรซามันด์ที่แสดงในบางซีน บางฉากได้อย่างถึงอารมณ์จริงๆ(แต่อยากให้ไปดูเองว่าเป็นอารมณ์ไหน)
ด้านภาพและการออกแบบงานสร้างก็ทำได้โดดเด่นไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ถ่ายทอดความเป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์น่าหวาดกลัว และการออกแบบฉากทำให้ฉากบ้านไม่ว่าจะหลังไหนๆในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูมีปริศนาเงื่อนงำ ดูไม่ปลอดภัยได้อารมณ์อย่างมาก ภาพที่ใช้ในการเล่าเรื่องตามที่ได้อธิบายข้างต้นใช้วิธีการเคลื่อนกล้องอย่างเรียบง่ายไม่ได้หวือหวามากแต่อย่างใด เน้นการถ่ายทอดและเล่าเรื่องผ่านการแสดงและการตัดต่อเสียมากกว่า ซึ่งการตัดต่อสามารถเสริมการเล่าเรื่องได้อย่างมีพลัง รวมไปถึีงการออกแบบเสียงและเพลงประกอบตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทุกองค์ประกอบล้วนผ่านการตีความของเดวิด และทำให้ Gone Girl เป็นภาพยนตร์ที่มีเสน่ห์ชวนติดตามทุกวินาทีอย่างร้ายกาจเลยทีเดียว