ผมไม่มีโอกาสดู Interstellar ในโรง เพิ่งได้ดูวันนี้ครับ ดูจบหนึ่งรอบ ก่อนจะเปิดดูซ้ำอีกหนึ่งรอบเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง (หลังจากดูรอบแรกจบ)
ผมกำลังจะบอกว่ารอบแรกที่ดูจบ ผมชอบระดับสามดาว แต่พอดูซ้ำ ดาวมันงอกขึ้นมาเฉยเลย
หากพูดในฐานะผลงานของ Christopher Nolan นี่ไม่ใช่งานชิ้นที่ผมโปรดที่สุด ผมยังโปรด The Dark Knight และ Inception มากกว่าอยู่ครับ
และผมเชื่อว่าหลายคนอาจเฉยกับหนังเรื่องนี้ เพราะมันไม่ค่อยตื่นเต้นเร้าใจ การเดินเรื่องก็เป็นแบบกินลมชมดาว ก้าวไปเรื่อยๆ เล่าแบบนิ่มๆ อารมณ์ประมาณเรานั่งดูอาจารย์สอนเลคเชอร์วิชาวิทยาศาสตร์ผสมปรัชญาเป็นเวลา 3 ชั่วโมงโดยประมาณ… ดังนั้นหากใครมุ่งหวังดูหนังตะลุยอวกาศสาดเลเซอร์ ก็คิดใหม่ได้ครับ
แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบครับ ^_^
ตามปกติหนังว่าด้วยโลกอนาคตมักมีฉากหลังทันสมัย มีเทคโนโลยีฉูดฉาด มีรถเหาะ มีภาพโฮโลแกรม ฯลฯ
แต่ Interstellar นำเสนอโลกอนาคต ในแบบที่ผู้คนมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ จะสำรวจอวกาศไปทำไม จะพัฒนาวิทยาการไปทำไม จะค้นคิดทฤษฎีใหม่ไปทำไม
… ก็คนบนโลกไม่มีอะไรจะกินแล้วนี่
ทว่าไปๆ มาๆ วิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นทางออกสำหรับชีวิตบนโลกอยู่ดี
แล้วจริงๆ อะไรสำคัญมากกว่ากัน วิทยาศาสตร์หรือทรัพย์ในดิน?
พอลองมานึกดู ผมว่ามันสะท้อนความจริงของมนุษย์อย่างหนึ่ง ว่ามนุษย์เราจะเห่อแต่ละขั้วเป็นพักๆ ไป แล้วแต่สภาวะตอนนั้นมันส่งเสริมให้เราเห่ออะไร
ยุคหนึ่งเราเห่อวิทยาศาสตร์ เราตื่นเต้นและจดจ่อมันมากมาย และการที่เราใส่ใจวิทยาศาสตร์มากเกินจนละเลยด้านอื่นๆ มันเลยทำให้สมดุลย์เสียหาย เพราะเราผลาญทรัพยากรธรรมชาติ เราละเลยมนุษย์ด้วยกัน
เหมือนที่ดร.มัลคอล์มพูดวิพากษ์การเพาะไดโนเสาร์ใน Jurassic Park ว่า “พวกคุณมัวแต่ตื่นเต้นว่าตัวเองจะทำได้ไหม แต่ดันไม่คิดให้ดีว่าจริงๆ แล้วมันควรทำไหม?”
โลกเราเป็นแบบนั้นพักหนึ่ง แล้วยังเห่ออุตสาหกรรม เห่อการค้า ฯลฯ จนพอโลกเริ่มเสื่อม ทรัพยากรเริ่มถอย อาหารเริ่มจำกัด เราก็เริ่มหันมาสนใจธรรมชาติ เริ่มหาทางปกป้องมัน ด้านการเกษตรก็เริ่มปฏิวัติเขียว ด้านธุรกิจก็เริ่มหันมาทำเพื่อสังคมมากขึ้น จนระยะหลังๆ อะไรเหล่านั้นก็รวมกันเข้ากลายเป็น “ธุรกิจสีเขียว”
ขณะเดียวกันมนุษย์ก็เริ่มมองวิทยาศาสตร์ว่าเป็นตัวแสบ เป็นตัวแทนของความทะเยอทะยาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอวดดีของมนุษย์ หรือกระทั่งมองว่ามันช่างเป็นการกระทำที่ไร้เดียงสา ที่กล้าพยายามควบคุมธรรมชาติ
มนุษย์สุดโต่งใช้ได้เลยนะครับ ยุคใดเห่ออะไรมากๆ เราก็ไปจนสุดทาง เราจะสรรหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่กระแสพัดพาไป และสรรหาข้อเท็จจริงอีกสารพัดมาลดทอนความน่าเชื่อถือของกระแสอื่นๆ
ดังนั้นมันคงไม่แปลกครับถ้าอนาคตจะมีเรื่อง “โครงการอพอลโล่ลวงโลก” บรรจุลงในแบบเรียนจริงๆ
แต่ความจริงคืออะไร? ความจริงคือทุกอย่างน่ะมันก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันครับ ความรู้ที่มนุษย์ขุดค้นจนเจอน่ะ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, เกษตรศาสตร์, จิตศาสตร์, สังคมศาสตร์, แพทย์ศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ศาสนศาสตร์ ฯลฯ มันคือองค์ความรู้ที่เราควรนำมาประกอบกันเพื่อสร้างสรรค์, เพื่อป้องกัน, เพื่อพัฒนา, เพื่อเรียนรู้ และเพื่อทำให้มนุษย์เติบโตอย่างเข้าใจว่าเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
ไม่จำเป็นต้องสุดโต่งหรอกครับ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเกษตรกรรมเชยหรือวิทยาศาสตร์ชั่ว เราเพียงเรียนรู้มันประกอบไปด้วยกัน ให้มันเสริมกัน ให้มันตรวจสอบกัน ให้มันผลัดกันตั้งคำถามหาคำตอบซึ่งกันและกัน
โลกใบนี้จะดำรงอยู่ได้ เมื่อทุกส่วนบนโลกหมุนไปด้วยกัน
ถ้าโลกส่วนหนึ่งหมุนตามปกติ แต่อีกส่วนหนึ่งหยุดไม่เขยื้อน
… คงหายนะน่าดูชมล่ะ ^_^
ผมเขียนยาวจัง… แต่ยังไม่จบแฮะ…
… ขอตัวไปนั่งมองหน้าลูกก่อนนะครับ ^_^
(ส่วนที่เขียนเพิ่มเติมในวันต่อมา)
ถ้าถามว่าอะไรทำให้ผมชอบ Interstellar นอกจากแนวคิดสะกิดหัวที่ผมพูดไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประการครับ
+ ผมชอบทีมดารา แน่ล่ะ พวกเขาทำได้ดีแหงมๆ อยู่แล้ว คือบทอาจไม่ได้เด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ทุกคนมีคาแรคเตอร์ที่เหมาะ เล่นได้สมบท ช่วยบิ้วอารมณ์ให้ผมซึ้งได้ในหลายวาระ โดยเฉพาะการรับส่งอารมณ์ระหว่าง Matthew McConaughey และ Jessica Chastain
+ ดนตรีประกอบของ Hans Zimmer… มาในอารมณ์ “เอ้อระเหยชมอวกาศ” แต่บทจะขลังก็ขลังได้เรื่อง ท่วงทำนองผสมด้วยความเวิ้งว้าง แทรกด้วยนัยเชิงปรัชญาและศาสนา (ด้วยพลังออร์แกนที่แสนพริ้วของ Roger Sayer) เสริมรายละเอียดให้กับหนังได้อย่างดี
+ ความจริงใจ 90%… ผมชอบมุขนี้เป็นบ้า มันสะท้อนความจริงของมนุษย์ได้แบบจังๆ
+ ให้พูดตรงๆ แล้ว ผมว่า Contact เดินเรื่องได้น่าติดตามแบบเป็นเรื่องเป็นราวและตอบโจทย์ความบันเทิงได้มากกว่า แต่ผมกลับรู้สึกว่า Interstellar มันมีพลังในแบบของมัน… มันไม่ใช่หนังเพื่อความบันเทิง แต่มันคือหนังสำรวจอวกาศ สำรวจวิทยาศาสตร์ สำรวจใจคน
มันคือภาพหยดหมึกที่มองได้หลายแบบ และไม่แปลกหากคนจะมองมันไม่รู้เรื่อง เพราะคนเราเข้าใจต่างกัน มีประสบการณ์ต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน
แต่ไม่ได้แปลว่า Interstellar ดีกว่า Contact นะครับ แม้มันจะเล่าถึงอวกาศเหมือนกัน (และ McConaughey แสดงนำเหมือนกัน) แต่รสชาติต่าง จุดหมายต่าง และมีความเป็นตัวของตัวเองต่างกัน
++++ ถัดไปอาจจะมีน้องปอย (สปอยล์) ไม่อยากทราบก็โปรดหยุด ณ จุดๆ นี้ได้เลยครับ +++
+ เราไม่มีวันรู้หรอกครับว่าสิ่งที่เราทำน่ะ มันจะนำไปสู่อะไรกันแน่ มันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่เรามุ่งหมายไหม หรือมันจะให้แต่ความล้มเหลว คราบน้ำตา และความคิดที่ว่า “ตูไม่น่าทำเลย”
แต่กระนั้น หากเราไม่เดินหน้าต่อไปจนสุดทาง เราจะไม่มีวันรู้
ไม่ใช่แค่เรื่องเดินทางในอวกาศครับ… ทุกเรื่องนั่นแหละ
+ ผมสนุกกับแนวคิดทฤษฎีในเรื่อง อย่างเรื่องมิติต่างๆ , เรื่องแรงโน้มถ่วง, รูหนอน, หลุมดำ, เอกภาวะ, เวลา ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมโตมากับหนังที่บอกเล่าเรื่องเหล่านี้จนผมชินกับแนวคิดใหม่ๆ และสนุกไปกับการตามจินตนาการในเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ Back to the Future, The Time Machine, Star Trek, Contact, 2001: A Space Odyssey, Predestination และ Donnie Darko ทั้งหมดนี้คืออาหารสมองดีๆ ที่ผมสนุกในการบริโภค และมันคงมีส่วนทำให้ผมสนุกกับการบริโภคหนังเรื่องนี้
อ้อ… อยากรู้ไหมครับว่าตกลง Interstellar กับ 2001: A Space Odyssey เรื่องไหนดีกว่ากัน
… ไม่ต้องรู้หรอกครับ ดูมันทั้ง 2 เรื่องนั่นแหละ
แล้วให้ตัวคุณหลังดูทั้ง 2 เรื่องจบ ทะลุมิติข้ามเวลาไปบอกตัวคุณเองตอนก่อนดู ตัวคุณจากอดีตที่ยังซ่อนอยู่ภายใน…
ผมว่าในตัวเราไม่ได้มีแค่เลือดเนื้อ… มันอาจมีหน้าต่างบางอย่าง และมีมิติบางอย่างที่เชื่อม “เรา ณ ตอนนี้” เข้ากับ “เรา ณ ตอนก่อนหน้า” รวมถึง “ตัวเรา ณ อนาคต”
+ อะไรทำให้เราสามารถหลับตาแล้วมองเห็นตัวเอง ยามหกล้มเมื่ออายุ 6 ขวบ… มันคือความทรงจำ?
หรือเราเพิ่งมองผ่านประตูอะไรบางอย่างที่เรายังไม่เข้าใจไปชั่วขณะ?
… นี่ผมฟุ้งซ่านอะไรอยู่?
… พี่ทำอะไรกับผมเนี่ย พี่ Nolan? ^_^
สี่ดาวครับ
(9/10)