Leio โคตรแย้ยักษ์ ก้าวที่น่าสนใจของหนังสัตว์ประหลาดสัญชาติไทย

Leio โคตรแย้ยักษ์ ก้าวที่น่าสนใจของหนังสัตว์ประหลาดสัญชาติไทย

สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับ Leio โคตรแย้ยักษ์ คือความพยายามนำหนัง “สัตว์ประหลาดสัญชาติไทย” หวนคืนสู่จอภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ปักษาวายุ ถือเป็นหนัง “อสูรกาย” ในความทรงจำของผู้ชม เข้าฉายไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ทิ้งระยะเวลากว่าสิบปี

การเดินทางของสตูดิโอทำเทคนิคพิเศษสู่การทำหนังยาว

Fatcat VFX บริษัทสตูดิโอเทคนิคพิเศษที่อยู่เบื้องหลังผลงานคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) ภาพยนตร์และละครดังมากมาย เช่น นาคีนาคี 2, เพื่อน..ที่ระลึก และ ขุนแผน ฟ้าฟื้น ได้ร่วมมือกับบริษัทอย่างเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด เพื่อทำหนังที่มีตัวละครหลักของเรื่องเป็นซีจี

อย่างที่เรารู้ๆกันดีว่า หนังที่ใช้เทคนิคพิเศษเยอะมักจะเป็นที่ขยาดของเหล่าเจ้าของทุนสร้าง เพราะพวกบรรดานายทุนและค่ายหนังส่วนมากจะส่ายหน้าปฏิเสธ สืบเนื่องมาจากต้นทุนในการสร้างสูง และแนวคิดที่ว่าซีจีไอบ้านเราสู้ต่างประเทศทำไม่ได้ แต่หลังจากที่บริษัท Fatcat VFX ทำสเปเชียลเอฟเฟคให้กับนาคีแล้วประสบความสำเร็จ คนไทยจึงเริ่มยอมรับงานเทคนิคพิเศษ จนทำให้ตัวบริษัทตัดสินใจทำออริจินัล คอนเทนท์ละครเรื่อง พิภพหิมพานต์ ออกฉายทางช่อง 3 จนนำไปสู่แนวคิดที่ว่า ทำไมเราไม่ทำจักรวาลหนังสัตว์ประหลาดเป็นของไทยเราเอง!

จักรวาลสัตว์ประหลาดสัญชาติไทย สู่แย้ยักษ์

Fatcat VFX ตั้งใจเปิดจักรวาลหนังสัตว์ประหลาดไทย TMU – Thai Monster Universe โดยเริ่มต้นเรื่องแรกที่ อีสาน Underground ซึ่งจุดยืนของค่ายมองว่าประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวในแบบที่หนังต่างประเทศไม่มี เช่นเดียวกับสัตว์พื้นถิ่นอย่าง “แย้” โดยก้าวแรกของโปรเจกต์นี้คือการเปิดตลาดหนังสัตว์ประหลาดในไทย และมั่นใจว่ามันจะขายต่อได้ในตลาดโลก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตหนังสัตว์ประหลาดออกมาปีละ 2 เรื่อง

สัตว์ประหลาดพญาแย้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัตว์พื้นถิ่นจากภาคอีสาน โดยพวกมันออกหากินและอาศัยอยู่ตามโพรงใต้พื้นดิน เนื่องจากคนอีสานชอบจับแย้มากินเป็นอาหาร ทำให้สัตว์ชนิดนี้สุ่มเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์จึงเริ่มมีการอนุรักษ์เอาไว้ จนล่าสุดชาวจังหวัดยโสธรได้สร้างรูปปั้นพญาแย้เอาไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ชี้ให้เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป

การออกแบบแย้ยักษ์คือ การวางให้มันกลายเป็นตัวร้ายที่สามารถโจมตีมนุษย์ ออกล่าเหยื่อโดยการฆ่ามนุษย์เพื่อนำมาเป็นอาหาร เพิ่มความดุร้าย โหดเหี้ยมคล้ายกับฆาตกรโรคจิตในหนังสยองขวัญ และถ่ายทอดความหวาดกลัวของเหยื่อผ่านสีหน้าแววตาตอนที่พวกเขาต้องหนีตายจากแย้

ความรู้สึกหลังจากที่ได้ชมภาพรวมของหนังเรื่องนี้

แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนผู้ชมและบรรดาสื่อกระแสหลักต่างๆจะเทพื้นที่ให้กับหนังภาคต่อจากละคร อย่างบุพเพสันนิวาส 2 จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับหนังอย่าง Leio โคตรแย้ยักษ์ ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวหนัง ตั้งแต่ที่ฉายรอบสื่อ หนังก็ถูกบรรดาเพจชื่อดังถล่มเสียจนไม่เหลือชิ้นดี บางเจ้าถึงกับนิยามว่าหนังเรื่องนี้ “ผิดไปหมดทุกทาง” จนเราอ่านแล้วก็แอบสะดุ้งเหมือนกันว่า หนังมันเลวร้ายถึงขั้นทนดูจนจบไม่ได้เลยกระนั้นหรือ

แน่นอนว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และในฐานะของคนที่ชอบหนังสัตว์ประหลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คงต้องบอกว่า แม้ว่าหนังจะทำได้ไม่ดีนัก แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เลวร้ายไปหมดทุกภาคส่วน เมื่อเราลองจำแนกแยกชิ้นออกมาทีละอย่าง เราจะพบว่าจริงๆ Lieo มีความน่าสนใจในการเลือกฉากหลังให้เกิดสถานการณ์อยู่บนผืนแผ่นดินอันแห้งผากทางภาคอีสาน ความโกลาหลทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่ออินฟูเอนเซอร์ชื่อดังอย่างฝน (ฟาง – ธนันต์ธรญ์ นีระสิ) ริเริ่มโครงการทำคอนเทนท์ออนไลน์ให้บรรดาผู้เข้าแข่งขันมากมายหลากชีวิต เข้ามาร่วมกันออกตามหาน้ำบาดาล ซึ่งถ้าทีมไหนสามารถเจอน้ำบาดาลเป็นทีมแรก จะได้รับเงินรางวัลไปจำนวนหนึ่งล้านบาท และแน่นอนว่าระหว่างที่ตัวละครเอกและสมทบออกตามหาน้ำนั้น พวกเขาก็กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของแย้ยักษ์ที่โผล่ขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อนำตัวพวกเขาไปเป็นอาหาร

อย่างที่เรารู้กันดีว่า จังหวะในการสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับหนังสัตว์ประหลาด แต่น่าเสียดายตรงที่ Leio เองยังเหมือนไม่ค่อยแน่ใจว่าตกลงแล้วอยากจะทำฉากเหล่านี้ให้กลายเป็นฉากสยองขวัญชวนกรี๊ดหรือเป็นฉากตลกโปกฮากันแน่ ในความลักลั่นตรงนี้นี่เองที่ทำให้จุดที่ควรจะสนุกที่สุดของเรื่อง “พร่อง” ไปอย่างน่าเสียดาย

ความสัมพันธ์อันแสนเยิ่นเย้อระหว่างตัวเอกอย่างเก้า (กอล์ฟ – พิชญะ นิธิไพศาลกุล) และลุงของเขา ถือเป็นอีกส่วนของหนังที่ดูน่าสนใจ แต่ผิดที่ผิดทางในการนำเสนอ เพราะหนังเลือกใช้วิธีการตัดสลับเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นระหว่างตัวละครทั้งสองตัวนี้ เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่างในการคลี่คลายสถานการณ์ในตอนท้าย ซึ่งจะว่าไปแล้วหนังอาจจะไม่จำเป็นต้อง “ตัดไปตัดมา” บ่อยครั้งแบบที่เป็นอยู่ เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้วว่า เรามาดูหนังสัตว์ประหลาด ไม่ได้ต้องการดูหนังดราม่าครอบครัว ทำให้จุดนี้เป็นพาร์ทที่ทำให้หนังเฉื่อยและเยิ่นเย้อเกินความจำเป็นไม่น้อยเลยทีเดียว

กระนั้นสิ่งที่เราต้องชื่นชมเลยคืองานเทคนิคพิเศษในการออกแบบแย้ยักษ์ ทำได้ดีเนียนตาและทัดเทียมกับคุณภาพของหนังต่างประเทศ แม้ว่าองค์ประกอบอื่นๆอาจจะบกพร่องไม่ลงตัวไปบ้าง แต่ถ้าเราอยากเห็นหนังรสชาติใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากวนเวียนอยู่กับแนวเดิมๆ ลองไปอุดหนุนค่ายนี้เขาหน่อยเถอะครับ เผื่อเราจะได้มีจักรวาลสัตว์ประหลาดไทยขึ้นมาจริงๆ เพราะถ้าเดบิวต์เรื่องแรกแล้วขาดทุนยับขนาดนี้ อนาคตมีหวังโดนพับโครงการเข้ากรุ น่าเสียดายแย่เลย