The Maze Runner (Wes Ball / 2014 / B+) E+20 for Enjoy ตลอดระยะเวลาสามปีจะมีเด็กหนุ่มถูกส่งมายังท้องทุ่งใจกลางเขาวงกตมฤตยูเดือนละคนโดยที่พวกเขาจำอะไรไม่ได้เลยนอกจากชื่อของตัวเองที่จะจำได้ในสองสามวันหลังจากที่มาถึง เริ่มตั้งแต่คนแรกคือ ‘อัลบี้’ หนุ่มผิวสีที่ต้องใช้ชีวิตคนเดียวในช่วงเดือนแรก และในฐานะผู้มาถึงคนแรกเขาจึงกลายเป็นผู้นำไปโดยปริยาย เมื่อเวลาผ่านไปคนใหม่ก็ทยอยเข้ามามากขึ้นเดือนละคนๆ และเด็กใหม่ที่เพิ่งมาถึงจะถูกเรียกว่า ‘กรีนี่’ ทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำงานเพื่อความอยู่รอดและพยายามหาวิธีออกไปจากที่นี่ให้ได้จึงต้องมี ‘นักวิ่ง’ ทีมทำภารกิจสำรวจเขาวงกตที่ต้องปิดผลการสำรวจไว้เป็นความลับ นำทีมโดย ‘มินโฮ’ หนุ่มเกาหลีเอเชียเพียงหนึ่งเดียว เป็นคนที่เข้าไปสำรวจในวงกตเพื่อศึกษาพื้นที่ของเขาวงกตที่เต็มไปด้วยอันตรายที่ลึกลับซับซ้อนและการจู่โจมของ ‘กรีฟเวอร์’ สิ่งมีชีวิตกึ่งจักรกลคล้ายแมงป่องหัวล้านขนาดใหญ่ที่คอยขย้ำทุกคนที่ผ่านเข้ามาเพื่อหาทางออกแต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่เคยเจอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘โทมัส’ กรีนี่คนล่าสุดถูกส่งมาทำให้กฎกติกาของท้องทุ่งเปลี่ยนแปลงไป และไม่กี่วันต่อมา ‘เทรีซ่า’ หญิงสาวคนแรกก็ถูกส่งตัวมา!!! แหม่..ตอนแรกแอบคิดว่าจะส่งผู้หญิงมาให้สืบพันธุ์ อุอิ >< หนังเล่าได้สนุกและน่าตื่นเต้นดีทีเดียวโดยเฉพาะในช่วงของฉากวิ่งหนีตายต่างๆ ในเขาวงกต โดยความรู้สึกส่วนตัวในส่วนนี้มันทำได้สนุกพอๆ กับหนังอย่าง ‘Hunger Games’ แต่วิธีการเล่าขยายเรื่องราวและการเฉลยสิ่งซ่อนเร้นของ ‘The Maze Runner’ จะเบาบางกว่ามากและไม่สะเทือนเท่า มันเป็นไปตามขั้นตอนที่ช่วงแรกจะยังจับความรู้สึกสัมพันธ์กับตัวละครยังไม่ค่อยได้ เนื่องจากตัวพระเอกเป็นตัวละครที่ความทรงจำสูญหายก็เลยสะดวกในการเล่าผ่านบทสนทนาที่ตัวละครอื่นๆ อย่าง อัลบี้ และ ‘นิวท์’ คอยบอกเล่าซึ่งเราก็รับรู้ไปพร้อมกับ โทมัส ไปเรื่อยๆ และมีตัวละครอย่าง ‘ชัค’ กรีนี่คนก่อนหน้าโทมัสที่เข้ามาปูทางดราม่าไว้แต่ต้นๆ และสำหรับแฟนๆบ่อน้ำตาตื้นก็คงได้ผลทีเดียวในตอนท้ายแม้ว่าตุ๊กตามันจะชัดไปหน่อย ในส่วนของความสงสัยสำหรับคนดูที่ยังไม่รู้เรื่องมาก่อนจากหนังสือก็พอเออออไปได้แต่มันปนเปไปกับความสงสัยใคร่รู้ที่มากกว่าโทมัสเสียอีกในเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆนานาโดนเฉพาะเรื่องการลบความทรงจำที่มีเหตุผลอะไรที่ต้องให้จำชื่อเก่าของตัวเองได้ด้วยเหรอ? ไปถึงกระทั่งจุดเฉลยเหตุผลในการจับเด็กผู้ชายพวกนี้มาทดลองที่มันยังไม่ชัดเจนในการคัดเลือกคนเหล่านี้เสียทีเดียว ซึ่งมันน่าสนใจมากๆ ว่าเหตุผลจริงๆ แล้วทำไมต้องส่งมาเดือนละคนเพื่อต้องการให้เรียนรู้อะไร ทำไมคนแรกต้องเป็น อัลบี้ คนผิวสีที่ต้องใช้ชีวิตทุกข์ทรมานอยู่คนเดียวนานเป็นเดือนๆ ทำไมต้องเป็น มินโฮ คนเกาหลีเอเชียคนเดียวในนั้นแล้วยังเป็นหัวหน้านักวิ่งสำรวจเขาวงกตซึ่งตามประวัติศาสตร์โลกจริงๆแล้วส่วนใหญ่มีแต่ชาวตะวันตก ทำไมต้องเป็น ชัค เด็กอ้วนคนเดียวที่ไม่น่ารอดไปได้ ซึ่งทำให้นึกถึงการเลือกใน ‘The Cabin in the Woods’ แต่เหตุผลที่มีแต่ผู้ชายเข้าใจได้ว่าถ้ามีผู้หญิงมาเดี๋ยวท้องป่อง..แต่มันก็ทำหมันผู้หญิงได้นี่นะ ซึ่งเราชอบรายละเอียดพวกนี้มากๆ แต่เราต้องเป็นคนต่อติดเอาตามเหตุผลส่วนตัวของตัวเอง แล้วตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผู้ชายวัยรุ่นราวสามสิบคนอยู่ด้วยกันนี่มันจะยังไงกันนะ หลายคนที่ได้ดูคงสงสัยเหมือนๆ กัน แต่ดีนะที่ลักษณะตัวละครกับทิศทางผู้กำกับมันไม่เอื้อให้รู้สึกไปทางนั้น แต่ก็มีบ้างที่โทมัสกับนิวท์ หรือโทมัสกับมินโฮจะมีซีนคู่ให้สาววายได้นั่งจิกเบาะเบาๆ จุดน่าสนใจของเรื่องนอกจากการหนีออกจากเขาวงกตคือการเมืองภายในท้องทุ่งที่เหมือนว่าจะดูแลกันด้วยลักษณะใครมาก่อนเป็นใหญ่ซึ่ง อัลบี้ ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการผ่านชีวิตและรู้เห็นภัยต่างๆ มาก่อน และผู้มาทีหลังต้องตามกฎเมืองตาหลิ่วเพราะความทรงจำที่หายไปทำให้อยู่ในสภาพไร้ความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชีวิตตัวเองเหมืนเกิดใหม่ซึ่งทำอะไรไม่ได้มาก สามารถถูกหนอนบ่อนไส้หรือใครป้อนข้อมูลอะไรก็ได้เพื่อให้พระเอกมันกลมมากกว่านี้นอกเสียจากเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวและนำไปสู่จุดแก้ไขที่คาดเดาปลายทางได้ง่าย อุปสรรคอันตรายระหว่างทางจึงทำหน้าที่แค่เป็นสิ่งกีดขวางไม่ใช่กับดักที่ซ่อนกลไกเงื่อนไขทางมนุษยธรรมเท่าไหร่นักถึงแม้มันจะดูยากเย็นเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งน่าเสียดายที่มันไม่มีการเล่นลูกล้อลูกชนตรงจุดนี้กับโทมัสหรือเทรีซ่าและกับกรีนี่ทุกๆคนซึ่งมันน่าจะสนุกมากๆ และเมื่อมีผู้นำที่ยืดหยุ่นก็ต้องมีคนแข็งข้อเพื่อขัดแย้งนั่นคือ ‘แกลลี่’ ที่เชื่อถือกฎที่ตั้งก่อนเก่าเป็นสำคัญ และ นิวท์ ผู้ประนีประนอมซึ่งคอยไกล่เกลี่ยอยู่ตรงกลาง คนที่ถูกเหล็กไนของกรีฟเวอร์จะทรมานด้วยสภาพร่างกายที่ย่ำแย่พร้อมๆ กับความทรงจำที่กลับมาพร้อมกับความคลั่ง แต่ไม่มีใครเคยใส่ใจคำพูดเพ้อของคนที่ถูกต่อยแต่กลับกำจัดพวกเขาด้วยความเชื่อที่ว่าเขากลายเป็นตัวอันตราย ซึ่งตัวละครไม่ได้เรียนรู้และคิดแก้ปัญหาจากเรื่องนี้ ซึ่งเป็นจุดให้เห็นชัดว่าความเชื่อของ อัลบี้ เป็นของเก่าที่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี และการปกครองแบบศักดินามาถึงจุดล้มเหลวเมื่อผู้นำสิ้นสภาพและโทมัสเข้าไปแหกกฎทำให้ระบบการปกครองที่เชื่อถือมาสั่นคลอนจนเอาแน่เอานอนไม่ได้ และแตกหักออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งความหวังใหม่นำโดยโทมัส และฝั่งอนุรักษ์นิยมนำโดยแกลลี่ ที่มีความเชื่อย้อนหลังขนาดคิดว่าการเซ่นสังเวยชีวิตเพื่อนมนุษย์คือทางออก ซึ่งนำมาสู่จุดขัดแย้งในตอนท้ายเรื่อง แต่น่าเสียดายที่การทดลองมันไม่เกี่ยวข้องอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับคนที่สูญเสียความทรงจำเหมือนกำเนิดใหม่และต้องเรียนรู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองที่ก่อกำเนิดใหม่พร้อมๆ กันเมื่อมีคนเข้ามาเพิ่มและต้องใช้ชีวิตร่วมกันภายในท้องทุ่งใจกลางเขาวงกตที่ไม่ต่างจากคุกกักกัน ***สปอยล์***รับได้กับเหตุผลที่ถูกจับมาทดลองนะแต่การหักมุมเป็นพรวดติดกันในตอนท้ายนอกจากมันจะเล่าข้ามรายละเอียดการทดลองอีกหลายอย่างที่เรายังอยากรู้ คิดว่าในหนังสือคงมี อย่างเช่น มันสร้างทุ่งใจกลางทะเลทรายตรงนี้ได้ทำไมไม่สร้างไปทั่วๆ เลยล่ะ แล้วการสร้างเขาวงกตเนี่ยขอบเขตการทดลองมันคืออะไร ทำไมต้องปล่อยให้ผ่านด่านรอดกันเองทำไมเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่เอาเฮลิคอปเตอร์ไปรับ คือจะให้ตัวละครพวกนี้เรียนรู้อะไรเพื่อจะได้พัฒนาสมองต้านไวรัสเหรอ รวมถึงบทบาทตัวละครหัวหน้าที่ไม่ชัดเจนแล้ว มันยังดูจงใจขยี้ดราม่าไปหน่อยจนคลิเชไปเลย จุดหักมุมที่หัวหน้าไม่ตายมันยังแย้งกันอยู่ว่าจริงๆ แล้วพวกนักวิทยาศาสตร์ในแลบที่นอนตายกันอยู่มันตายจริงหรือเปล่า…