Pawn Sacrifice – เดิมพันชาติ รุกฆาตโลก

Pawn Sacrifice (Edward Zwick / USA / 2014)

นานแล้วนะที่ไม่ได้เห็น Tobey Maguire ปล่อยของกับบทเสียสติบ้าคลั่งแบบนี้  ล่าสุดก็ตอน Brothers (Jim Sheridan / USA / 2009)  ถึงในเรื่องนี้แรงบ้าจะอ่อนกว่าบทผัวที่เมียได้กับน้องชายอยู่เยอะแต่ตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์นี้ก็มีมิติที่น่าสนใจพอควรให้ได้โชว์ของ  กับบทของ Bobby Fischer นักหมากรุกในตำนานประวัติศาสตร์สงครามเย็นผู้ทะเยอทะยานที่จะเอาชนะคู่แข่งแชมป์โลกชาวรัสเซีย Boris Spassky (Liev Shrieber) เพื่อขึ้นแท่นแชมป์โลกที่อายุน้อยที่สุดให้ได้  แต่ทว่าเขาได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของประเทศ  การต่อสู้กับอีโก้และความประสาทแดกของตัวละครทำให้ Tobey Maguire ได้โชว์ของอยู่บ้าง  ถึงบทหนังจะไม่ได้เอื้อให้โชว์ของขนาดที่จะให้ได้ฟินกับการแสดงแบบนอนตายกันไปข้างหนึ่งจนกลายเป็นมาสเตอร์พีซน่าจดจำอะไรขนาดนั้น  แต่อดีตสไปเดอร์แมนก็ถ่ายทอดบทบาทออกมาได้มีชีวิตดี  แถมยังเป็นบทที่อายุน้อยกว่าตัวเองมากแต่คนดูก็คงไม่แปลกใจอะไรก่อนจะพบว่าเฮียแกอายุ 40 แล้ว  เพราะเฮียแกหน้าเด็กมากจริงๆ

ในส่วนของบทหนังและการกำกับไม่หวือหวาอะไรมากมาย  ดูเรียบๆ ธรรมชาติซึ่งสามารถใส่ของและตัดแต่งเติมได้มากกว่านี้และให้ดีกว่านี้ได้  เห็นได้ชัดคือกราฟฟิกทิศทางหมากบนกระดานที่เอามาใช้เล่าความนึกคิดของพระเอกในช่วงแรกๆ แล้วหลังจากนั้นก็หายไปเลยและกลายเป็นจุดหวือหวาที่ไม่เข้าพวก  แต่พอไม่มีมันก็ดีในมุมที่มันให้ความรู้สึกในบรรยากาศสมจริง  คือถ้าไปอยู่ในมือของคนทำคนอื่นพาร์ตแข่งหมากรุกอาจจะถูกทรีตให้สนุกสนานหรูหราน่าตื่นตาตื่นใจด้วยช็อตด้วยการตัดต่อด้วยจังหวะการพลิกแพลงของบทที่มากกว่ากราฟฟิกที่เห็นนี้ก็ได้  หรือพาร์ตอาการทางจิตของพระเอกอาจจะถูกผลักให้ใหญ่ให้ชัดมากกว่านี้  แต่สำหรับ Edward Zwick ผู้กำกับหนังดังอย่าง Legends of the Fall (1994), Glory (1989), The Last Samurai (2004), Blood Diamond (2006), Defiance (2008) และ Love & Other Drugs (2010) เขาเลือกที่จะสังเกตและจับจ้องตัวละครจากสายตาภายนอกให้ได้ค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปข้างใน  สร้างตัวละครที่คาด ไม่ถึงเดาไม่ได้และคนดูก็ค่อยๆ เกิดความหวาดหวั่น  สงสัย  และเกลียดชังสลับกับความสงสารจนเข้าใจตัวละครได้ในท้ายที่สุด  อย่างฉากที่พระเอกหนีนักข่าวจากสนามบินและโทรหาพี่สาวนั้นมันหดหู่มากๆ  ความเห็นอกเห็นใจนักหมากรุกที่สติสัมปัชชัญญะเริ่มบกพร่องมันพรั่งพรูในระดับที่เสียน้ำตาได้ง่ายๆ

ความดีงามอีกอย่างหนึ่งคือในส่วนของตัวละครที่ตามโครงสร้างแล้วดูเหมือนจะเป็นตัวร้ายอย่าง Boris Spassky (Liev Shrieber) ผู้กำกับก็เลือกที่จะไม่ตัดสินตัวละครให้ดูเป็นปฏิปักษ์กันสุดขั้วเหมือนหนังหลายเรื่องมักจะมองตัวละครฝั่งตรงข้ามแบบ Stereotype จนไม่เหลือความกลมกลึงของความเป็นมนุษย์  ซึ่งลุงผู้กำกับแกก็มองในมุมที่ตัวละครคู่แข่งทั้งสองตัวเป็นเซียนหมากรุกคนหนึ่งที่มีหมากรุกเป็นชีวิตจิตใจและก็มาเจอกันเพื่อแข่งหมากรุกให้ชนะ  ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติแต่เพื่อพิสูจน์ความเก่งกาจและรักษาศักดิ์ศรีของตัวเขาเอง  ไม่ได้มองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองวายร้ายที่ต้องมาสาดสงครามใส่กันซึ่งมันดีมากๆ  ทำให้หนังที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์สงครามที่ชัยชนะของประเทศมันส่งกลิ่นความทนงรักชาติอยู่ตลอดเวลากลับกลายเป็นคานดีดตีกลับชาตินิยมอเมริกันในตอนท้ายให้ฉุกคิดได้อย่างนุ่มเนียน  กระแสชาตินิยมที่ไม่ได้เกิดมาจากคนที่ทำเพื่อชาติแต่เพื่อตัวเขาเองล้วนๆ มันจิกกัดให้เจ็บแปลบไปได้สองทาง

คือไม่ใช่แค่ความเป็นชาตินิยมที่ถูกตีกลับอย่างเดียว Bobby Fischer ที่เป็นตัวแทนของคนที่ทะเยอทะยานจนหมกมุ่นเพื่อเอาชนะนั้นถูกอัดแรงยิ่งกว่าด้วยสภาวะหมาหัวเน่าอันเลวร้าย และน่าเจ็บช้ำ  รัฐอุ้มชูคนที่ทำประโยชน์ให้รัฐ  แต่เมื่อในวันหนึ่งทำความเสียหายต่อรัฐ  บุญคุณที่ผ่านมาเป็นโมฆะและถูกจัดการตามกลไกกฎหมาย  จุดนี้ไม่ได้จะฟันธงว่าหนัง(ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง)กำลังชี้ให้เห็นว่ารัฐหักหลังนะ  แต่ที่น่าเศร้าไปมากกว่านั้นคือในมุมของแชมป์หมากรุกระดับโลกผู้สร้างชื่อและความสุขแก่มวลมหาประชาชนแห่งสหรัฐกลับมีจุดจบที่น่าเศร้าจากหน้ามือเป็นหลังตีนในตอนท้าย  ความยุติธรรมที่ถูกกฎหมายตัดสินกลายมาเป็นความอยุติธรรมกลายๆ  ความฝันในชัยชนะที่เคยทำได้สำเร็จไม่มีประโยชน์ที่จะร้องขอลีมูซีน  หรือน้ำส้มคั้นของโปรดในบ้านเกิดเมืองนอนอีกต่อไป  ทิ้งไว้แต่ความทรงจำอันดีงามระหว่างหญิงขายตัวในคืนเปิดซิง

อดีตแชมป์โลกหมากรุกในยุคสงครามเย็นกลายเป็นอัจฉริยะสติพร่อง  กลายเป็นคนเร่ร่อนทั้งที่ความฝันในเด็กในวันนั้นมันสำเร็จแล้วแท้ๆ  แต่ในความหม่นเศร้าในท้ายเรื่องมันยังคงงดงามและยิ่งงดงามมากๆ เมื่อลองมองในมุมที่ว่าความฝันที่สำเร็จของผู้ใหญ่คนหนึ่งมันก็ยังเป็นความฝันที่สำเร็จของเด็กคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้เช่นเดียวกัน  และเมื่อเรามองเห็นรอยยิ้มของเด็กชาย Bobby Fischer ผุดแฝงขึ้นมาที่มุมปากและสายตาที่ไม่ยี่หระของเขาในวันที่เขาได้รับชัยชนะ