ออกตัวล่วงหน้าเลยนะครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่สนุกสนานกับซีรี่ส์ SatC มาแต่ไหนแต่ไร
ตัวเอกของซีรี่ส์นี้คือ 4 สาว อันได้แก่ แคร์รี่ แบรดชอว์ (Sarah Jessica Parker) คอลัมน์นิสต์สาวที่รักๆ เลิกๆ กับพ่อมหาเศรษฐีหนุ่มสุดหล่อฉายาว่า มิสเตอร์บิ๊ก (Chris Noth) อยู่เป็นประจำ, ซาแมนต้า โจนส์ (Kim Cattrall) แม่สาวแรงสูงที่คิดแต่เรื่องจะพาหนุ่มๆ มาขึ้นเตียงยังไง, ชาร์ล็อต ยอร์ก (Kristin Davis) คุณหนูร้อยเปอร์เซ็นต์ที่วาดหวังจะมีครอบครัวแสนงดงามพร้อมลูกน่ารักสักหนึ่งคน และ มิแรนด้า ฮอบบ์ส (Cynthia Nixon) รายนี้ก็บ้างานจนตัวกับหัวเป็นเกลียวไปหมดแล้ว
ความสนุกของ SatC คือ การนำเอาปมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชายหญิงมาบอกเล่าแบบมันหยด ไม่ว่าจะเรื่องการตามหารักแท้ในเมืองใหญ่, มิตรภาพ และเซ็กซ์ เรียกว่าครบถ้วน จริงๆ ที่ผมติดตามดูไม่ใช่เพราะชอบเรื่องเซ็กซ์ล้วนๆ นะครับ (เชื่อหน่อยเต้อะ) จุดที่ผมชอบก็คือการถ่ายทอดปัญหาต่างๆ ผ่านทางมุมมองของผู้หญิง ให้เราได้เข้าใจระบบความคิดของผู้หญิงยุคใหม่ ซึ่งผมว่าน่าค้นหาออกนะครับ แต่บางคนก็ดูไปบ่นไป ว่าทำไมผู้หญิงไร้สาระแบบนี้ โธ่ หนุ่มๆ อย่างเราก็มีเรื่องไร้สารในสายตาพวกเธอเหมือนกันแหละครับ อย่าไปตั้งแง่สร้างช่องว่างเลยดีกว่าเน้อะ ดูอย่างเข้าใจครับ ไม่ใช่จับผิดโดยเอาเราเป็นที่ตั้ง
การขึ้นจอใหญ่ครั้งนี้ก็เป็นการสรุปเรื่องราวทั้งหมด พล็อตหลักที่แฟนๆ ตามลุ้นมาตั้งหลายปีคือ แคร์รี่กับบิ๊กจะลงเอยกันได้หรือไม่ก็จะได้คำตอบเอาคราวนี้แหละครับ (ซึ่งก็ลุ้นเยอะเหมือนกัน) ตามด้วยปมเล็กปมน้อยของซี้สาวอีกสาม คนที่รับหน้าที่กำกับคือ Michael Patrick King ที่คลุกคลีกับซีรี่ส์นี้มาตลอด สไตล์เรื่องราวเลยยกบรรยากาศจากทีวีมาทั้งดุ้น ไม่ว่าจะสารพัดแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่ยังคงคอนเซปต์ “เสื้อผ้าเล่าเรื่อง” ได้อย่างยอดเยี่ยม (ประมาณว่าใช้เสื้อผ้าของตัวละครสื่ออารมณ์น่ะครับ ลองไปสังเกตกันดู) แฟนซีรี่ส์น่าจะสนุกนะครับ ผมก็ชอบ เพลินดี ขมวดเรื่องได้เหมาะมาก โดยเฉพาะฉากจบที่สื่อความหมายของมิตรภาพได้อย่างน่าปรบมือ
แม้คุณจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ผมว่าก็สนุกไปด้วยได้ เพราะมีการเกริ่นนำเรื่องให้รู้ว่าแต่ละสาวมีที่มาอย่างไร เพียงแค่คุณอาจไม่มีอารมณ์ร่วมหรือผูกพันกับพวกแคร์รี่เท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นปัญหาครับ เหมือนดูหนังรัก + ชีวิต + ตลกสบายๆ สักเรื่อง มีครบทั้งเรื่องฮา แง่คิดชีวิตคู่ทั้งก่อนและหลังงานแต่ง จนไม่แปลกใจที่รายได้ปาเข้าไปร้อยล้านแล้ว แม้คำวิจารณ์จากเมืองนอกจะไม่ค่อยดีนัก คงเพราะคนส่วนใหญ่ตั้งความหวังไว้มาก เนื่องจากฉบับซีรี่ส์ทำได้ดี มีอุดมสมบูรณ์ด้วยบทพูดคมคาย ส่วนฉบับโรงก็ทำได้ในระดับหนึ่งน่ะครับ ความข้นอาจไม่คลั่กเท่าฉบับซีรี่ส์บางตอน คงเพราะหนังต้องการสรุปเรื่องแคร์รี่กับบิ๊กเป็นหลัก ถึงเอารายละเอียดอื่นๆ มาใส่มากไม่ได้ เดี๋ยวคนดูจะหลงประเด็นเปล่าๆ
เอาเถอะครับ ยังไงผมว่าคนที่เคยผ่านตาซีรี่ส์นี้มาก่อนคงมีไม่เยอะอยู่แล้ว ว่าแบบกลางๆ ดีกว่า… ในฐานะหนังสักเรื่อง ก็จัดว่าสนุกคุ้มค่าตั๋วครับ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงน่าจะอินกับเรื่องราวได้ไม่ยาก แหม ออกจะครบเครื่องเรื่องความฝันของผู้หญิงขนาดนี้นี่ครับ มุกฮาก็เทมาตลอด มิตรภาพของสาวๆ ก็น่าประทับใจดี
ในหนังนั้นผมชอบฉากคืนวันปีใหม่มากเลยครับ มันสื่อให้เห็นว่าสี่สาวแต่ละคนมีชีวิตอย่างไรบ้าง บางคนมีความสุขดี บางคนก็ต้องอยู่ตามลำพัง แต่จนแล้วจนรอด ด้วยแรงแห่งมิตรภาพนี่แหละช่วยขับไล่ความอ้างว้างออกไปจนหมด ซึ่งธีมหลักของซีรี่ส์นี้ผมว่าเน้นประเด็นเพื่อนแท้เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องบนเตียงอย่างที่เราเข้าใจกัน หนังบอกคนดูตรงๆ ว่าทุกปัญหาจะกลายเป็นเรื่องเล็กหากเรามีเพื่อนสักกลุ่มที่จริงใจ คอยหนุนเราให้ยืนต่อสู้กับมัน ใครเจอเพื่อนที่รักกันจริงก็ยินดีด้วยนะครับ ผมเองก็อินตรงเรื่องนี้แหละ ประเภทเพื่อนรักที่พอรู้ว่าเรามีปัญหาก็รีบมาแม้เวลาจะประมาณตีสามหรือไม่ก็โทรคุยยันเช้า นับเป็นของหาได้ยากแล้วครับในยุคนี้น่ะ
เอาล่ะ ถัดจากนี้ไปผมก็จะนำเอาสาระดีๆ แง่คิดเยี่ยมๆ ของชีวิต 4 สาวในหนังมาบอกเล่ากันโดยละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเคยเขียนลงใน MovieTime ไว้เมื่อเล่ม 373 นะครับ ใครยังไม่เคยอ่าน ก็มาอ่านกันนะครับ ส่วนใครเคยอ่านแล้ว มาอ่านซ้ำฟรีๆ ที่นี่ก็ดีเหมือนกันนะครับ อิอิ
สาวที่ 1 มิแรนด้า ฮอบบ์ส
The Problem is … Lot of Working … But Lost Managing
เจ้าแรกคือเธอคนนี้ครับ สาวผมสั้นที่สื่อถึงความมั่นประจำตัว เธอถือเป็นตัวแทน Working Woman ประจำมหานครนิวยอร์กและนครใหญ่ทั่วโลก ที่มีงานเป็นอาหารจานหลัก และความจริงจังเป็นของหวานตบท้าย
ในบรรดาสี่สาว เธอคนนี้แกร่งกว่าใครและเป็นที่ปรึกษาซี้ที่สุดของแคร์รี่ ทำงานก็เยี่ยม พร้อมจะก้าวสู่ตำแหน่งสูงได้สบาย มีอาชีพเป็นนักกฎหมาย จบจากฮาร์วาร์ด ชีวิตของมิแรนด้าค่อนข้างมีแบบแผน แต่ด้านชีวิตรักกลับเข้าข่ายออกแบบไม่ได้ คู่ชีวิตเธอคือ สตีฟ เบรดี้ (David Eigenberg) บาร์เทนเดอร์อารมณ์ดีที่เจอกันตอนกลางซีซั่น 2 ขณะกำลังนั่งรอแคร์รี่อยู่
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นไปแบบรักๆ เลิกๆ เนื่องด้วยช่องว่างทางฐานะและการศึกษา มีเข้าใจกันบ้างตีกันบ้าง แต่ในที่สุดด้วยความเห็นใจต่อกันและเธอเกิดท้องขึ้นมา เลยลงเอยที่การแต่งงานในซีซั่น 6 ซึ่งทั้งสองไม่ได้แต่งงานด้วยความจำใจนะครับ แต่ทั้งคู่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปรับตัวหากัน (แม้จะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม) พูดได้เต็มปากว่าพวกเขาอยากใช้ชีวิตร่วมกัน แหม จริงๆ มิแรนด้าเกลียดการแต่งงานมาก แต่กลับยอมจัดงานเล็กๆ เพื่อสตีฟ แสดงว่ารักไม่ใช่เล่นเลยล่ะ
ส่วนฉบับหนังใหญ่ก็เล่าเรื่อง 4 ปีต่อมา มิแรนด้ากับสตีฟ ย้ายไปอยู่บรู๊คลินช่วยกันดูแลลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ชีวิตครอบครัวก็ดูโอเค แต่ติดอยู่นิดหน่อยตรงที่มิแรนด้ายังบ้างาน ชอบทำตัวเคร่งเครียดเสมอ ยังดีที่สตีฟ พยายามสร้างรอยยิ้มให้ แล้วก็ดูแลลูกเต้าด้วยความรักอย่างเต็มที่
แล้วจุดหักเหก็เกิด เมื่อความความห่างเหินเริ่มมาก มิแรนด้าก็ไม่ค่อยมีเวลาสวีตกับเขาเท่าไร ครั้นพอสวีตทีไรเธอก็ทำแบบขอไปที ให้เสร็จๆ ไป เจอแบบนี้ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ สตีฟจึงเผลอไผลไปมีอะไรกับสาวอื่นด้วยอารมณ์เหงาอ้างว้างที่แน่นอก ทีนี้ก็เลยเป็นเรื่องล่ะครับ พอสตีฟสารภาพกับมิแรนด้า เธอก็องค์ลงเม้งแตก ตัดสินใจแยกกันอยู่ทันที เตรียมหย่าร้างให้มันหมดเรื่องไป แม้สตีฟจะขอโทษกี่ครั้งก็ไม่เป็นผล
Analyze this: ของแบบนี้ก็เห็นใจมิแรนด้าเหมือนกันครับ ลองว่าเจอสามีนอกใจจะให้อภัยแบบง่ายๆ ก็คงยาก ผู้หญิงที่ไหนก็ต้องมีน้ำโหทั้งนั้น ส่วนสตีฟเองที่ทำไปก็ไม่ใช่เรื่องถูกครับ แม้จะเหงาขนาดไหนแต่การไปทำอะไรกับสาวอื่นมันก็คือเป็นการนอกใจอยู่ดี ประเด็นนี้เอาคำว่าถูกหรือผิดมาประทับตราอาจได้ แต่มันไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด หากย้อนดูถึงสาเหตุ ไปๆ มาๆ ทั้งเขาและเธอต่างก็มีส่วนให้เรื่องนี้เกิดขึ้นพอๆ กัน ถ้ามีเวลาให้กันและแลกเปลี่ยนความอัดอั้นกันสักหน่อย เรื่องอาจไม่บานปลายถึงขั้นนี้
หากคุณลองเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่ว่าจะแค่คบเป็นแฟนหรือแต่งงาน ชีวิตคุณก็จะเข้าสู่ระบบหารสอง ทำอะไรก็ต้องแชร์กับคู่ชีวิต ผมไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินครับ มันเป็นเพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น (แต่กับบางคู่ หากเห็นว่าสำคัญก็ควรตกลงให้เรียบร้อยนะครับ) อันที่จริงคุณจะแยกกันใช้เงินคนละกระเป๋าก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าแยกกันใช้ชีวิตคนละทางล่ะเห็นจะไม่ดีแน่
วิธีสร้างเสริมความรักให้ไปกันได้ยาวนานก็เหมือนการชงโอวัลติน หรือไมโลก็ได้แล้วแต่ความชอบ การที่มันจะกลายเป็นเครื่องดื่มรสช็อกโกแลตที่กลมกล่อมสักแก้วก็ต้องได้จากการผสมผสาน คิดดูสิครับ หากน้ำร้อนยังคงเป็นน้ำไม่ยอมให้ผงโกโก้มายุ่งและหากผงโกโก้เอาแต่จับตัวเป็นก้อนไม่ยอมละลายไปกับน้ำ แล้วมันจะกลายเป็นเครื่องดื่มรสดีได้อย่างไร
มันเป็นข้อเท็จจริงของธรรมชาติ สิ่งใดที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนตนก็ย่อมเข้ากับสิ่งอื่นไม่ได้ เช่นกันครับ ไม่มีคู่รักที่เข้ากันได้โดยไม่ปรับตัว ขนาดเราอยู่หลังคาเดียวกับพ่อแม่ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องอ่อนบ้างแข็งบ้างไม่งั้นบ้านจะตกอยู่ในสภาวะไม่น่าอยู่ได้
ชนวนเหตุตัวจริงที่เล่นเอามิแรนด้ากับสตีฟต้องเจอมรสุมครั้งใหญ่ เริ่มจากการมีเวลาให้กันน้อย จริงๆ มันแก้ได้ด้วยวิธี “น้อยแต่แน่น” นั่นคือเจอกันไม่บ่อย แต่ทุกครั้งก็สามารถเนรมิตให้มันมีค่าน่าจดจำ เรียกว่าระยะเวลาหาสำคัญไม่ แต่ปริมาณความอบอุ่นรักใคร่ที่ถ่ายทอดให้กันนี่สิที่สำคัญกว่า แต่การแก้ไม่เกิด ดันไปเกิดเรื่องแย่ซ้ำสองแทน เพราะมิแรนด้าเลือกที่จะใส่ใจสตีฟแค่นิดหน่อย ซ้ำยังติดอารมณ์เครียดแบบตอนทำงานอีกต่างหาก จนสตีฟรู้สึก ”ขาด” ครับ ไม่ได้รับการดูแลทางใจจากคนรัก เมื่อรู้สึกมากเข้า พี่แกเลยไปเติมเต็มข้างนอกแบบไม่สมควรจนได้
ครับ สตีฟทำไม่ถูก ไอ้ที่ถูกนั้นเขาควรจะเปิดอกพูดกับมิแรนด้าให้รู้เรื่อง ระหว่างนั้นหากเกิดอาการเหงามากๆ ก็หาทางออกอย่างอื่นเช่น ไปเล่นกีฬา กินข้าวกับเพื่อน เพื่อเติมเต็มเท่าที่จะทำได้ไปก่อน แต่บางทีคนเราก็ปล่อยให้อารมณ์นำพาไป จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้แหละ
ผมคงไม่ต้องชี้ทางแก้มาก พูดไปหลายทีแล้วเหมือนกัน ว่าต้องมีเวลาให้คนรัก แม้จะไม่ว่างก็โทรหากันบ้าง หรือใช้เวลาน้อยนิดที่ได้พบกันให้เต็มที่ ให้คนรักของคุณรู้สึกว่าเขาหรือเธอคือคนที่โชคดีที่สุดที่ได้มีคุณเป็นคู่ครอง และอีกหนึ่งสิ่งคือการพูดเปิดอกเมื่อเกิดปัญหา หากอีกฝ่ายทำให้คุณอึดอัดก็บอกกล่าวกันเพื่อจะได้มีการปรับตัว ซึ่งคนบอกก็ต้องพูดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่บอกตอนอารมณ์กำลังเฮี้ยนนะครับ แบบนั้นทะเลาะกันพอดี ต้องให้มีจังหวะและศิลปะกันหน่อย พูดไม่หนักแต่รู้เรื่องกัน ส่วนคนฟังก็เปิดใจรับฟังด้วย จำเล่มก่อนๆ ที่ผมแนะนำได้ไหมครับ หากมีคนพูดเชิงตำหนิหรือเอานิสัยลบๆ ของเรามาตักเตือน จงอย่าไปยึดติดกับคำแง่ลบพวกนั้น ขอให้จับประเด็นสาระจริงๆ เช่น เรื่องนิสัยไม่ดีของเราที่เขารับไม่ได้ แล้วก็มากลั่นกรองไตร่ตรองให้ดีว่าควรปรับแก้หรือไม่อย่างไร ลองคิดในมุมเขามุมเราเพื่อไขปัญหาครับ
เรื่องของมิแรนด้าเลยเป็นสาระหนึ่งที่หนังบอกว่า เมื่อเรามีอีกคนมาเดินเคียงข้าง ก็ต้องรู้จักบริหารความรักให้สมดุลย์ แม้จะมีงานเยอะก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะต้องห่างเหิน ไกลที่ตัวก็ยังใกล้ที่ใจได้จริงไหมครับ แค่บอกรักกันอีกนิด คุยกันอีกหน่อย พร้อมสื่อสารด้วยภาษาหวานๆ แค่หนึ่งจุมพิตหรือหนึ่งแววตาที่จริงใจก็ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้
บทสรุปของคู่นี้ลงเอยด้วยดี เธอพร้อมเปิดอกเข้าใจว่าสตีฟไม่ได้ตั้งใจทำเรื่องนั้น เขายังรักและต้องการเธอเสมอ หากเธอมีเวลาให้เขาบ้างอะไรๆ ก็จะกลับมาดีเอง การที่มิแรนด้ายอมกลับมาคืนดีอีกครั้งนอกจากเพราะเห็นแก่ลูกก็ยังมีสาเหตุสำคัญคือ เธอยังรักเขาเช่นกัน ดูฉากตรงสะพานสิครับ กอดกันกลมจนผมยิ้มแก้มปริ เลยได้แง่คิดอีกหนึ่งแถมมา ได้แก่เจ้าตัวประสานใจน้อยๆ ที่ชื่อว่า การให้อภัย ซึ่งใช้ได้หมดไม่ว่ากับสามีภรรยา เพื่อนฝูง หรือ พ่อแม่ลูก เป็นยาสามัญประจำบ้านขนานเอกสำหรับโรคทางความสัมพันธ์ เริ่มด้วยการตั้งสติ ทำความเข้าใจ ให้อภัยหากเขาสำนึก แล้วมันจะทำให้โรคาในครอบครัวบรรเทาลงได้มาก
เอาเป็นว่า โชคดีนะครับ มิแรนด้ากับสตีฟ
สาวที่ 2 ซาแมนต้า โจนส์
Just Wanna Be … Me
แม่สาวแรงสูงขวัญใจแฟนซีรี่ส์ แหม ก็คุณเธอสุดยอดขโมยซีนนี่ครับ คำพูดแต่ละประโยคนี่ทั้งขำทั้งคม แล้วยังคิดแต่เรื่องบนเตียงตลอดเวลาด้วย ครบถ้วนทั้งเฉี่ยวเฟี้ยวและเสียว ซาแมนต้าเป็นภาพสะท้อนของหญิงยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตแบบไม่แคร์ใคร รักสนุกไปวันๆ บทบาทในซีรี่ส์เลยมักจะเป็นสีสันมากกว่าอะไรที่จริงจัง จนกระทั่งซีซั่นสุดท้าย (ปี 6) เธอตรวจพบมะเร็งเต้านมระหว่างตรวจร่างกายก่อนทำศัลยกรรมเสริมความเซ็กซี่ ทำให้แม่สาวร้อนแรงคนนี้เริ่มตระหนักความจริงของชีวิตขึ้นมา จนตัดสินใจจะใช้ชีวิตที่เหลือกับเจอร์รี่ เจอร์ร็อด หรือ สมิธ (Jason Lewis) ดาราหนุ่มสุดหล่อที่คอยเคียงข้างเธอตลอดการบำบัดมะเร็ง
ฉบับจอใหญ่เธอก็ยังอยู่กับสมิธ รับหน้าที่เป็นเอเยนต์ส่วนตัว คอยจัดคิวงาน พร้อมจัดการเขา (บนเตียง) เป็นงานรอง ตอนแรกผมไม่คิดว่าเธอจะมีปมใดๆ แค่ออกมาเริ่ดๆ เชิ่ดๆ แต่ที่ไหนได้กลับมีแฮะ เจ้าปมที่ว่านี่แฟนซีรี่ส์ที่อินกับการตัดสินใจของเธอในปี 6 อาจจะรู้สึกแปลกบ้าง แต่ผมก็คิดว่ามันก็สมควรแล้วล่ะครับที่ลงเอยแบบนี้
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ หลังจากซาแมนต้าพยายามทำตัวเป็นแม่บ้านให้หนุ่มข้างกายแบบสุดฝีมือ แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ยังเป็นเธอ ก่อนหน้านี้นับสิบปีเธอถนัดเรื่องเขมือบหนุ่มๆ พอต้องมาทำตัวเป็นวิหคในกรงทองเลยทนไม่ไหว จึงตัดสินใจบอกเลิกกับสมิธ แล้วก็หันไปใช้ชีวิตแบบเดิม ผมว่าเป็นการจบลงด้วยดีนะ ทั้งสองไม่ได้มีปัญหากัน แต่ซาแมนต้าค้นพบตัวเองว่าเธอคงอยู่แบบนี้ได้ไม่นาน ขืนฝืนต่อไปเธอกับสมิธอาจทะเลาะกันสักวัน (จริงๆ ในเรื่องก็เริ่มแล้วล่ะ) ปัญหาอาจบานปลายทำให้สมิธต้องหมดอนาคต จมอยู่กับหญิงกลางคนอายุเกือบ 50 ทั้งๆ ที่มีโอกาสก้าวหน้า เจอสาวอายุน้อยกว่าและอาจรักเขามากกว่าเธอ อีกอย่างซาแมนต้าตระหนักในตอนท้าย ว่าเธออาจไม่ได้รักสมิธ แต่ที่ยอมอยู่ด้วยเนื่องจากรู้สึกติดหนี้บุญคุณตอนที่เขามาเฝ้าเธอระหว่างทำคีโมมากกว่า
ทางเลือกของเธอนั้น มองได้สองมุม ในมุมแรกจะคิดในเชิงว่าหากเธอกลับไปเป็นแม่พวงมาลัยลอยไปเรื่อยๆ แบบนี้เมื่อไรจะมีครอบครัวที่มีความสุข แต่อีกมุมก็น่าคิดว่า การมีครอบครัวจะทำให้เธอแฮ้ปปี้ได้จริงหรือเปล่า เพราะคนเรามีหลากประเภท บางคนเกิดมาอยู่คนเดียวแล้ว Feel Great ก็มี ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีความสุขด้วยการกระทำแบบเดียวกันหมดเมื่อไร
ผมว่าคุณผู้หญิงลองทำแบบซาแมนต้าก็ไม่เลวนะครับ … โอ้ เปล่าครับ ไม่ได้ให้บอกเลิกกับหวานใจ หากรักกันอยู่ก็คบกันให้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรไปเลย แต่ผมหมายถึง การค้นหาตนเองให้พบ ว่าคุณใช้ชีวิตแบบไหนจึงเป็นสุข งานแบบไหนที่ทำแล้วรู้สึกดีสม่ำเสมอ หาเป้าหมายให้พบแล้วเดินไปตามนั้น ส่วนการหาตัวตนก็เริ่มง่ายๆ จากการสังเกตตัวเองว่าชอบสิ่งไหน ทำอะไรแล้วเรารู้สึกเพลินบ้าง ลองใช้มันเป็นแนวทางดู
อย่างน้อยผมก็เชื่อว่าเจ๊แกรู้จักรักคนอื่นเป็นเหมือนกัน เธอรักตัวเอง และรักพ่อหนุ่มสมิธพอควร ไม่งั้นคงไม่พยายามทำตัวให้หวาน น่ารับประทานขนาดนั้นหรอก (อย่างเช่น ตอนทำซูชิสูตรพิเศษ) แล้วยังอดใจไม่ไปเลยเถิดกับเพื่อนบ้านสุดล่ำด้วย ฮิฮิ ก็ยังมีอะไรให้รู้สึกว่าน่ารักเหมือนเดิม กับบทบาทอันเป็นสีสันชั้นยอดของหนัง Sex and the City นี้
รู้จักตัวเอง แล้วเดินตามทางนั้น โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และยังมีความหวังดีให้เพื่อนพ้องอยู่เสมอ …
… Maybe You Not the Best… But You do the Best.… สุขสันต์วันเกิดอายุครบ 50 ปีนะครับซาแมนต้า
อีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับซาแมนต้าที่ผมต้องบอกไว้ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองที่เกิดดูหนังเรื่องนี้พร้อมบุตรหลานโดยเฉพาะลูกสาว ก็ควรแนะนำสักนิดนะครับ ให้เข้าใจว่าวัฒนธรรมต่างกัน พวกเรื่องเซ็กซ์และการแสดงออก มีส่วนไหนบ้างเหมาะสมและไม่เหมาะสม เราพูดได้ครับ ดีกว่าดูไปแล้วอ้ำอึ้งพูดไม่ออก เดี๋ยวลูกไปหาคำตอบเองมันจะยุ่งได้นะครับ เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องควรปิดมิด มันต้องเปิดให้พองามและปิดให้พอดีครับ
สาวที่ 3 ชาร์ล็อต ยอร์ก
She’s so Lucky with the Good Husband and Cute Baby
เพื่อนผมที่ชอบซีรี่ส์ Sex and the City พอดูฉบับโรงใหญ่แล้วมาคุยกัน ว่ามีผิดหวังสมหวังบ้าง พอดีเจ้านี่ชอบชาร์ล็อตครับ ทีนี้ในหนังใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าชาร์ล็อตไม่ได้มีบทเด่นนัก เพราะเธอไม่ได้มีปมอื่นใดนอกจากเรื่องการมีลูกซึ่งก็ไม่ได้ลุ้นอยู่แล้ว แค่คลอดแล้วก็จบ ชีวิตเธอออกจะสุขีกว่าคนอื่นด้วย ปัญหาของเธอจริงๆ มีแค่ประการเดียวคือธาตุอ่อนจนกินอะไรผิดสำแดงไม่ได้แค่นั้นเอง เพื่อนผมเลยบอกว่าผิดหวังนิดๆ นึกว่าจะมีปมชีวิตมาเล่นแบบอีกสามสาวซะหน่อย
ผมเลยถามเพื่อนไปว่า “นายชอบชาร์ล็อตไม่ใช่เหรอ” มันก็ตอบว่า “เออดิ ทำไม”
“อ้าว แล้วคุณเธอไม่ทุกข์ มีความสุขกับสามีและลูกเนี่ย มันน่าผิดหวังตรงไหนล่ะ”
ตัวชาร์ล็อตอาจไม่มีจุดหักเหเข้มข้นเท่าสาวอื่น แต่ถ้าจะสรุปสำนวนว่าเธอไม่มีสิ่งใดให้พูดถึงเลยก็คงไม่ถูกนัก เรื่องของชาร์ล็อตนี่แหละครับ เป็นแบบอย่างดีๆ ที่ควรค่าแก่การพูดถึง
คาแร็คเตอร์ของชาร์ล็อตนี่เข้าข่ายหัวเก่าหน่อยๆ เป็นคุณหนูผู้มองโลกในแง่ดี และตามหารักแท้มาตลอดชีวิต เธอเชื่อในความรักถึงขนาดมีคติประจำใจว่า Love conquers all (รักชนะได้ทุกสิ่ง) เธอจึงเป็นคนเดียวที่เชื่อมาตลอดว่ามิสเตอร์บิ๊ก (Chris Noth) กับแคร์รี่ (Sarah Jessica Parker) ต้องได้แต่งงานกันแน่นอน เพราะทั้งสองรักกันปานจะกลืนกิน มีปัญหาก็ร่วมกันฝ่าฟัน พยายามทำความเข้าใจกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ชาร์ล็อตเริ่มต้นปฏิบัติการค้นหาชายในฝันตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอออกเดทแล้วคิดว่าจะเจอใครสักคนมาเติมเต็ม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เจอที่ใช่สักที เธอเคยแต่งงานครั้งแรกกับเทรย์ แม็กดูกัล (Kyle MacLachlan) คุณหมอผ่าตัดรูปงามสง่าอย่างแรง ความรวยก็ไม่ต้องพูดถึง แต่เจ้าบ่าวก็มีปัญหาในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ซ้ำยังมีความไม่เข้าใจกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องลูก เรื่องครอบครัว อันทำให้ความสัมพันธ์สิ้นสุดลง เช่นเดียวกับความฝันของเธอที่ค่อยๆ เฉาลงทุกขณะ เธอเคยวาดฝันไว้ว่าจะมีครอบครัวน่ารัก กับลูกสาวสักคน แต่ความหวังมันช่างริบหรี่เหลือเกิน … แล้วก็เหมือนเขาว่าครับ รักแท้มักมาตอนที่ปล่อยวางเลิกใส่ใจกับมันแล้ว
ไปๆ มาๆ การแยกทางกับสามีเก่านำเธอไปพบสามีในอนาคต ซึ่งก็คือ แฮร์รี่ โกลเดนบัลท์ (Evan Handler) ทนายผู้รับผิดชอบคดีหย่าร้างนี้ ซึ่งไม่ได้หล่อเหลาเท่าหนุ่มสมาร์ทคนอื่นๆ ตัวโตออกแนวท้วมหน่อย หัวโป้งเหน่ง หน้าตาท่าทางก็ประมาณมนุษย์อิฐใน Fantastic Four (สมัยยังเป็นคนธรรมดาน่ะครับ) รูปลักษณ์ภายนอกไม่เข้าใกล้กับที่เธอเคยวาดหวังไว้แม้แต่นิดเดียว แฮร์รี่รู้สึกชอบชาร์ล็อตตั้งแต่แรกเพราะความน่ารัก อ่อนโยน แต่เธอไม่ปิ๊งเขาในทันทีเพราะติดเรื่องหน้าตานิดหน่อย จนกระทั่งเธอได้สัมผัสว่าเขาจริงใจ คอยห่วงใยและเป็นที่ปรึกษาชั้นยอด เธอจึงค่อยๆ มั่นใจว่า หากฝากชีวิตไว้กับชายคนนี้แล้ว เขาจะไม่ทำให้เธอผิดหวังหรือเสียใจ
ผมว่าใครที่เคยสัมผัส “รักแบบมองที่ใจ” น่าจะนึกภาพออก หน้าตาท่าทางหรือฐานะการเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ ขอเพียงอีกฝ่ายเป็นคนดี เข้าใจเราอย่างที่เราเป็น พร้อมประคองเราเมื่อยามท้อ เรียกรอยยิ้มเมื่อยามเศร้า พร้อมพาเราไปสนุกได้ทุกที ผู้ชายบางคนอาจไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่ยอมแพ้ รู้จักทำมาหากินสู้ชีวิต คนแบบนี้สักวันก็ต้องประสบความสำเร็จอยู่ดี ดีกว่าพวกรวยแต่ทำอะไรไม่เป็นเยอะเลยล่ะครับ
เมื่อความรักสุกงอม แฮร์รี่และชาร์ล็อตก็เข้าสู่ประตูวิวาห์ ใช้ชีวิตฉันท์สามีภรรยานับแต่นั้น ขาดก็แต่ลูกสาวซึ่งทั้งสองก็ใช้วิธีรับเลี้ยงลูกสาวบุญธรรมแทน เป็นสาวน้อยน่ารักที่ชื่อลิลี่ครับ ส่วนลูกของตัวเองนั้นก็แล้วแต่สวรรค์และธรรมชาติจะบันดาล ทั้งเธอและแฮร์รี่ไม่คิดมาก เพราะทั้งคู่ต่างมีกันและกันเป็นทุน หากมีลูกก็ถือเป็นกำไร
ว่ากันตรงๆ เรื่องราวของชาร์ล็อต Happy Ending ไปแล้วตั้งแต่ฉบับซีรี่ส์ ส่วนภาคหนังใหญ่เป็นส่วนเสริมเท่านั้น ผมเลยไม่แปลกที่เธอจะไม่ค่อยมีปมอะไรอื่น แค่นั่งซึบซับความสุขและรับความรักจากแฮร์รี่ก็โอเคแล้ว ไหนจะต้องดูแลลูกในท้องอีกนั่นก็มากพอสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว
แม้เธอจะไม่มีบทบาทนัก แต่เราเรียนรู้จากเธอได้หลายอย่าง สังเกตไหมครับทำไมเธอมีความสุข อ้า ผมว่าน่ารู้นะ เคล็ดลับที่ได้จากเธอคือตระหนักรู้ในคุณค่า รู้จักดูแลหัวใจคนรักให้สม่ำเสมอ นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญแห่งชีวิตรัก คุณจะมอบความสุขให้ใครได้อย่างเต็มหัวใจเมื่อคุณเห็นว่าเขาสำคัญ เหมือนตอนเราจีบแฟนใหม่ๆ เราให้ความสำคัญ ทุ่มเทให้ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ นั่นก็เพราะเราเห็นคุณค่าในตัวเขาหรือเธอคนนั้น เมื่อเขาทำสิ่งใดผิดมาพร้อมให้อภัย เมื่อทำสิ่งถูกใจก็แสดงความขอบคุณหรือจะซึ้งใจก็สุดแท้แต่ว่าถูกใจแค่ไหน
ชาร์ล็อตเป็นคนเชื่อมั่นในรักแท้ เมื่อเธอได้พบชายในฝันตัวจริงจึงพร้อมมอบความรักให้เขาแบบเต็มที่ ซึ่งก็โชคดีที่พ่อแฮร์รี่เป็นคนดีด้วยน่ะครับ ต่างฝ่ายต่างก็เลยมอบความหวังดีให้กัน ทุกครั้งที่ชาร์ล็อตไปนั่งร่วมวงช่วยให้คำปรึกษาเพื่อนสาว หากเธอได้ยินปัญหาใดๆ เกี่ยวกับชีวิตคู่ สิ่งที่เธอจะทำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน คือ การเอาใจใส่คนรักให้มากกว่าเดิม อย่างตอนที่เธอรู้ปัญหาของสตีฟกับมิแรนด้า ก็รีบกลับมาทำตัวเป็นแม่บ้านมากขึ้น
การเติมรักให้กันเสมอ คือศิลปะแห่งชีวิตคู่อีกหนึ่งอย่าง คุณเติมได้ทุกวันทุกเวลา มีโอกาสก็สวีทหวานแหววกับคนรักสักหน่อย ไม่ใช่รอให้มันขาดแล้วค่อยมาหาทางเติม ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยลงมือแก้ ปัญหาเรื่องรักก็เหมือนโรคร้ายครับ มันมีวิธีป้องกัน เราไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นมะเร็งก่อนแล้วค่อยเยียวยา เราป้องกันมันได้แต่เนิ่นๆ
ความรักก็เช่นกันครับ หากเรามอบสิ่งดีๆ ให้แก่กันเสมอ ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไมแฮร์รี่และชาร์ล็อตถึงมีปัญหากันน้อยมาก ดูยังกับครอบครัวบาร์บี้น่ะครับ แฮ้ปปี้ตลอด ยิ้มให้กันเสมอ แต่ใช่ว่าจะไม่มีจริงในโลกนี่จริงไหมครับ เพื่อนคุณต้องมีแหละครับสามีภรรยาที่รักกันมานานแล้วรักกันต่อไป มีกระทบกระทั่งบ้างแค่เล็กน้อย คนพวกนี้เราอาจไม่ค่อยได้เจอตามหน้าหนังสือพิมพ์เพราะพวกเขาอยู่กันสงบสุขไม่จำเป็นต้องมาป่าวประกาศ (เมื่อก่อนเจอบ่อยแถวรายการคู่ทรหด) อีกทั้งข่าวบันเทิงบ้านเราก็เอาแต่หาข่าวคาวมาออกกัน บางคู่ก็ไม่มีแววเลิกหรอก แต่พอเจอนักข่าวตามมากๆ เป็นอันมีเรื่องทุกที ส่วนคู่ที่รักกันนานๆ ก็ไม่ค่อยจะเอามาพูดถึงเลย ผมจึงต้องเอาคู่ชาร์ล็อตและแฮร์รี่มายกตัวอย่างสักหน่อย นี่คือ Model ที่ดีสำหรับคู่รักทั้งหลายเลยครับ
ลองเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยดีไหมครับ โทรไปบอกรักแฟนคุณหรือไม่ก็ SMS ไปหาว่าเธอสำคัญต่อคุณแค่ไหน อย่ามองว่ามันเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย มันอาจเป็นส่วนประกอบเล็กๆ แต่น่ารักที่ยิ่งใหญ่มาให้คุณได้ อย่าลืมว่า ”รัก” มักเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ตั้งแต่การคุยเล็กๆ จำรายละเอียดสิ่งที่เขาชอบได้ทีละนิด เริ่มใช้เวลาด้วยกันแค่จิ้ดๆ… มีคนเปรียบความรักว่าเหมือนกระปุกออมสินหรือเงินในบัญชีธนาคาร ต้องสะสมจากบาทสองบาท หากเราใส่ไม่ขาดมันก็จะกลายเป็นร้อย และเป็นล้านได้ แต่ความรักจะต่างกับกระปุกหน่อย ตรงที่เงินประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ความรัก…ประเมินค่าไม่ได้ครับ
มาเริ่มทำบัญชี “ฝากประจำ” หรือไม่ก็”ออมรัก” ได้แล้วนะครับ
โอ้ะ เกือบลืม … ยินดีที่ได้ลูกสาวนะ ชาร์ล็อต ยอร์ก .. เอ้ย ไม่ใช่ ต้อง โกลเดนบัลท์สิ
สาวที่ 4 นางเอกของเรา แคร์รี่ แบรดชอว์
Big Problem to Test real Love
ทีนี้เรามาถึงมวยคู่เอก แคร์รี่ สาวสวยที่มายังมหานครนิวยอร์กเพื่อเป็นนักเขียนมีชื่อและหวังว่าจะเจอใครสักคนที่ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดในโลก งานประจำของเธอคือคอลัมน์ Sex and the City เขียนลงใน The New York Star เนื้อความว่าด้วยความสัมพันธ์ชายหญิงหรืออาจจะหญิงหญิง ชายชาย แล้วแต่ว่าเธอจะเจอกับเรื่องใดมา แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่เธอเก็บมาเล่าก็คือเพื่อนๆ สามสาวนั่นแหละ
สำหรับรักแท้ของแคร์รี่เปิดตัวตั้งแต่ตอนแรก เขาคือ มิสเตอร์บิ๊ก หนุ่มหล่อกำยำหน้าตาชวนฝันร่ำรวยมั่งคั่งที่มีความเท่ห์ไม่เหมือนใคร ทำให้ใจแคร์รี่เต้นได้ทุกครั้ง แต่ความรักของทั้งคู่ก็มีอะไรให้คนดูเสียวไส้ ลุ้นแทบตาย เพราะตลอด 6 ปีของ Sex and the City พวกเขารักๆ เลิกๆ กันบ่อยโคตร (เพราะงี้ไงครับมิแรนด้าถึงแซวเอา) แล้วยังมีการแกล้งทำให้คนดูหมดหวังด้วยนะ ประมาณว่าบิ๊กแกไปแต่งงานกับหญิงอื่นหรือไม่ก็ให้แคร์รี่ไปคบหากับหนุ่มรายอื่นที่หล่อเร้าใจไม่ใช่เล่น แต่ผมต้องปรบมือให้ Candace Bushnell คนคิดเรื่องเลย เพราะทำให้คนดูรู้สึกซึมลึกไปกับเรื่องราว คิดจินตนาการไปแล้วว่ายังไงสองคนนี้ก็ต้องคู่กัน ดูเหมาะสมกันจริงๆ โดยเฉพาะนายบิ๊กนี่หล่อได้โล่ห์จริงๆ ครับ อบอุ่นมากด้วย แคสติ้งคนมาแสดงได้เยี่ยมสุดๆ ไปเลย
ในที่สุด ตอนจบปี 6 แคร์รี่และมิสเตอร์บิ๊ก ก็ลงเอยกันในบรรยากาศแสนโรแมนติก และตอนสุดท้ายนี้เองที่ผู้สร้างยอมเปิดเผยชื่อจริงของบิ๊กซะที นั่นคือ จอห์น เจมส์ เพรสตัน พอเขยิบมาฉบับหนังใหญ่เรื่องก็ดำเนินมาถึงตอนสำคัญ เพราะทั้งสองตัดสินใจลั่นระฆังวิวาห์ (แฟนซีรี่ส์อย่างผมถอนหายใจเฮือก เฮ่อ แต่งกันซะที)
พิธีแต่งงานก็ดำเนินไป ตอนแรกแค่งานเล็กๆ แต่พอจัดไปแคร์รี่กลับต้องการงานใหญ่ขึ้นๆ จากแขกไม่กี่สิบกลายเป็นสองร้อย จากโบสถ์เล็กๆ กลายเป็นห้องสมุดประจำเมือง อะไรทั้งหลายนี้บิ๊กไม่ต้องการเลยแม้แต่น้อย เขาแค่อยากแต่งกับเธอเงียบๆ ซึ่งหากใครจำได้แคร์รี่เองก็มีความคิดนี้เช่นกันสมัยปีแรกๆ แต่พอได้แต่งจริงความต้องการมันดันขยายขึ้นตามความคาดหวัง บิ๊กเองแม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่อยากขัดความสุขของคนรัก
ขณะเดียวกันหัวสมองของบิ๊กก็เริ่มกลัว เพราะเขาเคยแต่งงานอย่างใหญ่โตมาแล้วสองครั้ง แล้วกลับลงเอยด้วยการหย่าร้าง ความกลัวการแต่งงานก็เริ่มก่อตัว เขากลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาและแคร์รี่ไปกันไม่ได้หลังจากตกลงปลงใจใช้ชีวิตรวมกันแล้ว ประจวบเหมาะกับมิแรนด้าที่กำลังหัวเสียเรื่องสตีฟนอกใจเดินมาใส่อารมณ์ตะคอกบิ๊กไปว่า “พวกคุณมันบ้าที่คิดจะแต่งงาน” บิ๊กเลยสติหลุดไปเลยครับ คิดแล้วคิดอีกว่าเขาพร้อมแน่หรือสำหรับการแต่งงานครั้งที่สาม พอคิดสับสนเขาก็พยายามติดต่ออยากคุยกับแคร์รี่ก่อน แต่ก็ดันเกิดเรื่องให้ไม่ได้คุยกัน สุดท้ายบิ๊กเลยนั่งรถออกจากงานอย่างงงๆ ก่อนจะรู้ตัวอีกทีว่าได้ทำสิ่งผิดมหันต์ครั้งใหญ่ลงไปซะแล้ว
พอบิ๊กหนีงานแต่ง แคร์รี่ก็ของขึ้น ทั้งโกรธและเสียใจ เป็นความผิดหวังที่เธอเองก็คาดไม่ถึงว่าต้องมาเจอในวันที่ควรจะมีความสุขที่สุดวันหนึ่งในชีวิต เนื้อเรื่องที่เหลือก็ให้คนดูลุ้นต่อว่าสุดท้ายบิ๊กและแคร์รี่จะลงเอยได้อีกหรือไม่ เฮ่อ เหนื่อยจริงๆ น้อ จะว่าน้ำเน่าหน่อยๆ ก็ได้ครับ แต่มันเน่าแล้วได้เนื้อนะ
คุณว่าเรื่องนี้ใครผิดครับ แคร์รี่หรือบิ๊ก … ถ้าคุณเริ่มมองปัญหาตัวนี้ด้วยการหาคนผิดล่ะก็ คุณเริ่มเดินถนนไม่ตรงเส้นแล้วล่ะครับ เมื่อเกิดปัญหาคนเรามักชอบมองพุ่งเป้าไปที่ตัวคน ว่าไอ้หมอนี่คือตัวปัญหา ต่อด้วยการตั้งป้อมด่าคนผู้นั้นชนิดสาดเสียเทเสีย แทนที่จะลงมือแก้ไขและวิเคราะห์ตัวประเด็นปัญหาที่แท้จริง … การเลือกลุยที่ “ตัวคน” แทนที่จะลุย “ตัวปัญหา” เป็นชนวนเหตุให้คู่รักสั่งลากันมานักต่อนัก รวมไปถึงการทะเลาะน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมก็เนื่องมาจากการระดมตำหนิที่บุคคลนี่แหละ
ผมไม่ได้บอกว่าคนทำผิดแล้วห้ามตำหนินะครับ เราตำหนิได้ให้พอสำนึก แต่ส่วนใหญ่ชอบเลยเถิดกลายเป็นการทะเลาะ การตำหนิอาจทำให้คนหลาบจำไม่กล้าทำอีก แต่มันเสี่ยงครับ เพราะถ้าเขาเกิดไม่สำนึก มันก็จะกลายเป็นปมด้อยหรือไม่ก็กลายเป็นคนต่อต้านสังคม (Antisocial) เพราะทันทีที่เราตำหนิคน เป้าที่เรายิงก็คือคนครับ เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะปกป้องตนเอง ดังนั้นหากจะยิงให้ตรงจุด ก็ต้องเลือกเป้าที่ถูกหน่อย หากเรายิงที่คนจะเท่ากับพลาดปัญหา (และก่อปัญหาใหม่)
บิ๊กมีสิ่งคาใจใหญ่หลวง มูลเหตุเกิดจากความไม่มั่นใจและตื่นกลัว แคร์รี่เองพอเจอแบบนี้ก็ฉุนขาดชนิดตัดญาติเลิกพบหน้า อันนี้ก็โทษเธอไม่ลงครับ ผู้หญิงสักคนที่รอคอยผู้ชายคนหนึ่งมา 10 ปี เจออีแบบนี้จะให้ใจเย็นแค่ไหนก็ต้องมีอาการ เพราะมันไม่ใช่แค่เสียหน้าเรื่องแต่งงาน แต่ความไว้ใจที่เธอมีต่อบิ๊กมันสลายไปเรียบร้อยแล้ว
นี่คือกรณีตัวอย่างที่ผมอยากให้เพื่อนๆ ลองหยิบไปคิดนะครับ หากเป็นตัวเราเองเจอเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม เราจะทำอย่างไร ผมก็ขอเสนอแนะตัวระงับปัญหานี้ซึ่งมีอยู่สองแนว คือ ป้องกันก่อนมันเกิด กับลงมือแก้หลังระเบิดลง ลองนึกตามไปทีละส่วนนะครับ
การป้องกันที่เด็ดสุด หนีไม่พ้นการพูดเปิดอกเมื่อเรามีเรื่องไม่สบายใจ ดังที่เคยบอกว่าเมื่อคุณเริ่มชีวิตคู่เท่ากับเริ่มการหารสอง จากนี้ทุกก้าวที่เราเดิน เราไม่ได้ตัวคนเดียวอีกแล้ว เรามีอีกหนึ่งคนเคียงข้าง หากสิ่งที่รบกวนใจเราเป็นเพียงเรื่องยิบย่อยก็คงไม่ต้องแชร์กัน แต่หากเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบถึงความสัมพันธ์อย่างเรื่องของบิ๊ก ซึ่งมีผลแน่นอนกับพิธีวิวาห์ก็ควรยกขึ้นมาปรับความเข้าใจกัน …
ทีนี้ก็เข้าสู่เรื่องยาก ผมเข้าใจครับว่าการจะยกเรื่องพวกนี้มาคุยกับแฟนมันไม่ใช่ของง่าย ในหนังปัญหามันเริ่มตั้งแต่การที่แคร์รี่ต้องการงานแต่งใหญ่แต่บิ๊กไม่ นี่คือจุดเริ่มที่เขาและเธอควรพบกันครึ่งทาง แต่ครั้นจะไปเปิดปากแล้วบอกว่า “คุณทำไม่ถูกนะแคร์รี่ ผมไม่ต้องการงานใหญ่โต ผมต้องการให้คุณจัดงานเล็กๆ เดี๋ยวนี้” เดี๋ยวก็มีมวยกันพอดี ไอ้ตอนเปิดสภาร่ายวาระนี่แหละครับที่ต้องระวัง ควรพูดแบบเอาน้ำเย็นเข้าลูบ ใช้คำเบาๆ ในเชิงว่าเราไม่ได้หาเรื่องแต่เราอยากหาข้อสรุป
และต้องอย่าลืมว่า ปัญหาคืออะไรให้ตีที่ตรงนั้น อย่าพุ่งไปที่ตัวแฟนเรา ในกรณีของบิ๊ก ก็เริ่มจากทำความเข้าใจกันก่อน ว่าทั้งคู่ต้องการแบบไหน แล้วค่อยตกลงแบบวินวินยอมถอยคนละก้าวเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความพอใจที่สุด จับหลักให้ได้ครับ ต้องคุยให้ดีๆ คุมสติให้อยู่ หากเครียดให้หาคนระบายหรือที่ปรึกษาก็ได้ อย่าคุยตอนโมโหเชียว
สำหรับวีธีแก้หลังระเบิดลง ก็ย้อนมาดูแคร์รี่ครับ พอเจอเรื่องสะเทือนใจเธอก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน ดีที่ได้เพื่อนอีกสามและผู้ช่วยแสนน่ารักอย่างหลุยส์ (Jennifer Hudson) ทำให้เธอลุกขึ้นมาสำเร็จ
จุดสำคัญของการแก้ปัญหาแบบนี้ อย่างแรกคุณต้องสงบโทสะตนเองหรือรอให้แฟนคุณสงบลงก่อน อย่างที่สองในกรณีที่คุณยังหงุดหงิดตะขิดตะขวงใจ ผมก็อยากให้คุณคุยกับเพื่อน แบบแคร์รี่ไงครับ เธอได้มุมมองใหม่จากหลุยส์และคำเกลี้ยกล่อมเล็กน้อยของแฮร์รี่ เพราะตอนแรกเธอโกรธเมื่อมองจากมุมเดียว แต่เมื่อพลิกมุมคิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้ (เหมือนชื่อหนังสือเลยเน้อะ) แต่จริงครับ วิธีนี้ใช้ได้ไม่เฉพาะกับการทะเลาะเท่านั้น หากคุณอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ก็จัดหาความคิดอ่านมาใส่หัวคุณ ทั้งจากตำราและวาจาคนพร้อมคิดให้เป็นบวก ฝึกทำบ่อยๆ แล้วมันจะกลายเป็นกระบวนการแก้ปัญหาให้คุณได้เองแหละครับ คิดง่ายๆ ว่า ถ้าคิดมุมนี้แล้วไม่ดี แสดงว่าเราต้องรีบคิดมุมอื่นแล้วล่ะ มันจะได้ดีขึ้น นี่คิดแบบเด็กๆ เลยนะครับ
และแล้วบิ๊กกับแคร์รี่ก็ได้มาเจอกันอีกครั้ง หลังจากแยกย้ายกันไป บิ๊กนั้นสำนึกผิดตลอดและพยายามง้อเธอด้วยการส่งกลอนมากมายแบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อน (แต่เขารู้ว่าเธอชอบ) ส่วนเธอก็ได้เพื่อนช่วยให้กำลังใจยามท้อ ให้แง่คิดยามขุ่นมัว บทลงเอยของทั้งสองจึงแฮ้ปปี้แบบจริงๆ ซะที
ผมรู้สึกดีนะครับ บิ๊กยังรักแคร์รี่เสมอ ส่วนแคร์รี่เองก็เข้าใจในที่สุดว่าความรู้สึกของคนรักสำคัญกว่าพิธีแต่งงานหรืออื่นใด ไม่มีการแต่งงานไหนจะศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าการเข้าประตูวิวาห์ด้วยใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยใจที่ตระหนักรู้ว่าคนข้างกายคือสิ่งล้ำค่ากว่าแก้วแหวนเงินทองใด หากคุณเข้าพิธีด้วยความรู้สึกนั้นและตั้งใจจะรักษาความรักที่มีต่อกันเสมอไป คุณแทบไม่ต้องการคำอวยพรจากผู้ใดเพราะคุณกำหนดอนาคตที่สดใสได้ด้วยตนเอง
ทุกความรักย่อมมีอุปสรรคมาทดสอบ เหมือนเดินเรือฝ่าคลื่นลม ต้องมีทั้งวันแดดดีและวันมีพายุ ผมจึงอยากให้ทุกคนรู้ทันเมื่อมีเรื่องแคลงใจกับแฟน ขอให้นึกทันทีว่านี่คือโจทย์หนึ่งที่เราต้องฝ่าฟันไปให้ได้ อย่าไปบ้าจี้มู้ดดี้กับมัน แล้วคุณจะผ่านไปได้ครับ เชื่อเถอะ บอกกับตัวเองทุกครั้งเมื่อเจอปัญหาในชีวิตคู่ว่า “It’s Just a Test!”
ก็ถึงวันสมหวังซะทีนะแคร์รี่ ดีใจด้วย ส่วนบิ๊ก … ดูแลเธอดีๆ ล่ะ
… และผมอยากจะขอบคุณสำหรับสาระเรื่องรักๆ ที่มอบให้ตลอดหลายปีนะครับ 4 สาว… ผมเป็นหนี้บุญคุณพวกเธอจริงๆ …
สรุปนะครับ ดูได้เลยครับ แค่ไปชมการแสดงระดับยอดเจ๋งของ Cattrall ก็คุ้มแล้ว คุณเธอขโมยซีนชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยซีรี่ส์แล้วครับ สวยเฉี่ยวแต่ก็ฮาไปด้วย คนอื่นๆ ก็เป็นสีสันชั้นยอด ไม่ว่าคุณจะดู SatC มาก่อนหรือไม่ก็ตาม ถ้าหากอยากชมเอาบันเทิงล่ะก็ ผมแนะนำด้วยความเต็มใจ
สองดาวสามส่วนสี่ดวงครับ
(7.5/10)