Sin City: A Dame to Kill For (2014)
Directors: Frank Miller, Robert Rodriguez
สิ่งที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดที่สุดจาก Sin City มาจนถึง Sin City: A Dame to Kill For ย่อมหนีไม่พ้นสไตล์ภาพอันเป็นลักษณะพิเศษแตกต่างจากหนังทั่วไป ภาพขาวดำคอนทราสต์จัดจ้านแต้มบางจุดเป็นสีสันแสบตาเหมือนเป็นภาพที่หลุดมาจากการ์ตูนคอมมิก ที่ถูกทำให้เคลื่อนไหวผ่านดีไซน์ช็อตที่สอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวแบบคอมมิกเช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อล่วงมากว่าเกือบทศวรรษนับจากที่ได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาเป็นหนึ่งในหนังคัลท์ขึ้นแท่น หนังอย่าง Sin City ถูกจดจำในด้านสไตล์ภาพมากกว่าเนื้อหาของตัวหนังเองด้วยซ้ำไป
เนื้อหาทั้งสองภาคของหนัง ว่าด้วยกลุ่มคนดิบในเมืองบาปที่เหล่าตัวละครต่างมีเผชิญชะตากรรมที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ความรุนแรง ความลุ่มหลง ความรัก ความสูญเสีย การแก้แค้น ความเป็นความตาย หนังผูกโยงบทบาทตัวละครต่างๆ เข้าด้วยกันโดยขับเน้นจิตใจอันดำมืดวิปริตของตัวละครเหล่านั้นออกมาอย่างเสียดเย้ย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งร่วมกันของสองผู้กำกับ Frank Miller และ Robert Rodriguez โดยรายแรกเป็นนักเขียนคอมมิกชื่อก้องที่เป็นเจ้าของผลงาน Sin City เวอร์ชั่นคอมมิก โดยทั้งสองตัดสินใจที่จะคงเรื่องราวในคอมมิกไว้ให้สมบูรณ์ที่สุดในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ นี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สไตล์ภาพแบบคอมมิกกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหนังทั้งเรื่องไว้
หากคำว่า “ภาพสวย” เป็นคำที่เราใช้จำกัดความหนังบางเรื่อง เฉกเช่นที่ Sin City ถูกจดจำในด้านงานภาพที่โดดเด่นเกินองค์ประกอบอื่นๆ ของหนัง ผิวเผินเหมือนเป็นคำชม แต่ก็ดูจะส่งผลเสียต่อคุณค่าในด้านอื่นๆ ของตัวหนังไม่น้อย เพราะความน่าสนใจด้านเรื่องราวที่ขับเน้นด้านมืดของตัวละครผ่านพล็อตที่มีองค์ประกอบน่าสนใจ มันสอดรับแล้วไปได้เวิร์คมากๆ กับสไตล์ภาพขาวดำจัดจ้าน หม่นมืด อาบคลุมด้วยทัศนียภาพซอกมุมอับอันเน่าเฟะของเมืองคนบาปที่ฝนตกตลอดเวลา ความรุนแรงกับการสาดกระเซ็นของเลือดแดงฉานตัดกับภาพขาวดำจัด ตัวละครบริสุทธิ์ไร้เดียงสาผู้ไม่ถูกกลืนเข้าเป็นพลเมืองเมืองคนบาป ที่มีสีสันสดใสเยี่ยงมนุษย์ปกติตัดกับตัวละครย้อมขาวดำอื่นๆ เหล่านี้คือการผสานกันเป็นเนื้อเดียวกันของเนื้อหาและสไตล์ภาพที่แยกจากกันไม่ได้ ทั้งยังขยับขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของภาพยนตร์และประสบการณ์ของคนดูให้กว้างขึ้นไปอีกด้วย
แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอยู่เช่นกันเมื่อ Sin City: A Dame to Kill For ที่หยิบเอาองค์ประกอบทั้งหมดของคุณงามความดีที่เคยทำไว้ในภาคแรกมาใช้ กลับมีคุณภาพที่ลดหลั่นลงไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ถูกลดทอนเสน่ห์ลงไป บทที่ผูกเรื่องราวได้ไม่กลมกล่อมนัก รวมถึงงานภาพที่นอกจากจะไม่มีอะไรแปลกใหม่แล้วยังมีหลายๆ ซีนที่ทำได้ธรรมดาซ้ำซากเกินไป ทั้งการที่ยังผูกเนื้อหาบางส่วนอ้างอิงกับภาคแรกและหนังก็ไม่ได้ยืนยันความหลังมากพอสำหรับคนที่ไม่เคยดูภาคแรกก็ดูจะเป็นปัญหาด้ารอรรถรสอยู่ไม่น้อย การไต่เข้าสู่ไคล์แมกซ์ของแต่ล่ะตัวละครก็ดูจะคลายปมไปไม่สุด กล่าวโดยรวมแล้วมันช่างให้ความรู้สึกที่ “ไม่อิ่ม” เอาเสียเลยหลังดูจบ พาเอามนต์ขลังความคัลท์ที่เคยทำไว้จางหายไปไม่น้อย
ทั้งนี้ทั้งนั้น Sin City: A Dame to Kill For ก็ยังมีความน่าสนใจเมื่อพิจารณาถึงความโดดเด่นแตกต่างของสไตล์หนัง เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ สำหรับคนที่เคยดู Sin City แล้วก็ยังได้ติดตามเรื่องราวของตัวละครหลักที่น่าสนใจหลายๆ ตัวที่สืบเนื่องมาจากภาคแรก และเสน่ห์ดั้งเดิมของตัวหนังที่ยังพอทำให้หายคิดถึงอยู่บ้างแม้อาจจะไม่ได้เต็มอิ่มมากนัก รวมถึงคนที่ไม่เคยดู Sin City มาก่อนก็ไม่ได้เป็นปัญหาในการได้เปิดรับหนังที่เรียกได้ว่ามีสไตล์ภาพและการเล่าอันมีเอกลักษณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าท้ายที่สุดแล้วเสน่ห์และความโดดเด่นของหนังสไตล์จัดเรื่องนี้ ก็ยังคงไม่ใช่สิ่งที่พบเจอได้ง่ายนักในตลาดหนังที่นับวันยิ่งมีแต่ความเล่าซ้ำจำเจจนแทบแยกไม่ออกว่ามันแตกต่างกันยังไง