บันทึกไว้ในความทรงจำเลยว่านี่เป็นหนังที่ทำให้ผมตะโกนในใจว่า “อ้ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก” ในตอนที่หนังเกือบจะจบ (ใจจริงอยากตะโกนออกเสียงมันเดี๋ยวนั้น แต่เกรงใจคนที่ดูด้วย)
จังหวะนั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่มีตัวละครหนึ่งตะโกนว่า Yes ด้วยความสะใจพอดีครับ แสดงว่าเรื่องในหนังมันกะให้ตัวละครพีคอยู่แล้ว และคงกะให้คนดูที่เกิดอาการอินพีคด้วยเช่นกัน และผลลัพธ์ที่ได้สำหรับผมคือ มันทำให้ผมพีคครับ
หนังเรื่องนี้เป็นไงน่ะเหรอครับ หนังมันโคตร Rock เลยฮะ แบบที่พี่พระเอกพูดนั่นแหละ ว่า Rock มันคือความสด มันคือความเสี่ยง มันอาจไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่มันพอเหมาะพอดี มันสาแก่ใจในหลายประเด็น เพลงก็ได้ใจมากมาย บทสรุปก็ซัดเข้าใจเราแบบเต็มคอกอีกต่างหาก
เรื่องหลักๆ ว่าด้วยเด็กหนุ่มคอเนอร์ (Ferdia Walsh-Peelo) ที่ครอบครัวกำลังมีปัญหา เงินทองในครอบครัวก็ไม่พอใช้ เลยทำให้และเขาต้องย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกกว่า ทว่าสภาพแวดล้อมชวนให้จิตตกไม่น้อย ไม่ว่าจะครูที่เข้มงวดโคตรๆ และเพื่อนอันธพาลจอมเกเร
แต่จุดเปลี่ยนก็เริ่มต้นเมื่อเขาเจอสาวคนหนึ่ง (Lucy Boynton) เขาอยากสร้างความประทับใจเลยบอกว่าตัวเองมีวงดนตรี (แต่แน่นอนครับ ตอนนั้นเขาไม่มี) ดังนั้นเพื่อให้แผนชนะใจสาวสัมฤทธิ์ผล เขาเลยต้องตั้งวงขึ้นมาจริงๆ
ใครเป็นคอหนังแนว Coming of Age, หนังวัยรุ่นเพลินๆ และหนังที่มีเพลง Rock ยุคเก่าโคตรสะใจล่ะก็ ผมขอแนะนำว่าต้องดูเลยครับ ท่านต้องชอบแน่ๆ เพราะมันตอบโจทย์ทุกอันได้แบบเจ๋งสุดๆ มันคือความสนุกหฤหรรษ์ที่แฝงไว้ด้วยแรงบันดาลใจจริงๆ
โอเค ผมยอมรับครับว่าตอนต้นๆ กราฟความชอบอาจยังนิ่งๆ การเดินเรื่องตอนต้นมันเป็นการแนะนำตัวละคร และเป็นการนำเสนอชีวิตที่แสนเซ็งของคอเนอร์ มันเลยยังไม่ติดเท่าไร แต่พอคอเนอร์เริ่มหาเรื่องตั้งวงเท่านั้นล่ะครับ ความมันส์ค่อยๆ ทยอยไหลมา แล้วมันก็เทมาเรื่อยๆ จนหนังจบเลย
ดาราในเรื่องทุกคนเล่นได้ลื่นแบบพอเหมาะครับ คืออาจจะไม่ได้จัดจ้าน แต่มันเป็นธรรมชาติ บางจังหวะอาจมีการแสดงที่ดูแข็งๆ บ้าง แต่มันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอารมณ์ขัดครับ มิหนำซ้ำมันกลับให้อารมณ์ “ธรรมชาติ” แทน และทำให้ตัวละครดูจริงขึ้นมาอีกด้วย
ด้านเพลงนี่สะใจมาก ของดีเต็มไปหมด ทั้งเพลงดั้งเดิมแห่งยุค 70 – 80 กับเพลงใหม่ที่แต่งขึ้น ทุกเพลงเพราะหมดครับ และมันสื่อความหมายกับเพิ่มอารมณ์ให้แต่ละฉากอย่างยอดเยี่ยมด้วย สำหรับคอหนังที่ชอบ Soundtrack แนว Rock & Pop ยุคนั้นแล้ว ผมเชื่อว่าท่านจะถึงขั้นรักหนังเรื่องนี้ทีเดียว
หนังสามารถดึงเสน่ห์ของเมืองดับลิน (สาธารณรัฐไอร์แลนด์) ออกมาได้อย่างน่าปรบมือครับ จริงๆ วิวหรือโลเกชั่นมันไม่ได้อลังการอะไรนะ ไม่ว่าจะถนนหรือตึกรวมบ้านช่องที่ดูเรียบง่ายและบ้านๆ แต่ทุกฉากมันได้อารมณ์เข้ากับเรื่องราวและดูมีเสน่ห์จนน่าไปเดินเล่นอย่างยิ่ง
แน่นอนว่าผมชอบประเด็นต่างๆ ที่หนังนำเสนอ (อันนี้ต้องคุยกันยาว เดี๋ยวโซนสปอยล์แล้วค่อยว่ากันครับ) ทุกประเด็นอาจเรียบง่ายนะครับ มันอาจไม่ใช่ของใหม่เพราะหนังหลายเรื่องก็เคยนำมาเล่น แต่กับเรื่องนี้นี่มันกลมกล่อม มันเข้ากันกับองค์ประกอบต่างๆ ของหนังอย่างมาก
John Carney ทำได้อีกแล้วครับ อันที่จริงผมว่าเรื่องนี้เสน่ห์มันล้นจนออกจะแซง Once กับ Begin Again อยู่นิดนึงเลยล่ะ (ที่แน่ๆ คือไม่มีเรื่องไหนทำให้ผมอยากตะโกน “อ้ากกกกกกกกก” ออกมาดังๆ แบบนี้ได้) เป็นผลงานที่ผมคงดูซ้ำอีกหลายรอบล่ะครับ และผมอยากชวนให้ทุกท่านที่ยังไม่ได้ชมมาลองชมกันด้วย ^_^
========================
เอาล่ะครับ เพื่อความ Rock มันคงต้องสปอยล์กันหน่อย เอาเป็นว่าใครไม่อยากทราบขอให้ข้ามไปอย่าอ่านต่อครับ แต่หากใครไม่กลัว (เพราะผมเชื่อว่าหลายคนอ่านสปอยล์แล้วดูหนังอร่อยขึ้นก็มี… อย่างผมเป็นต้น) หรือดูแล้วก็ตามมาอ่านกันได้ตามอัธยาศัยเลยครับ
1) สิ่งที่ผมชอบมากๆ คือหนังเล่าพล็อตรองต่างๆ ได้ดีมาก ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัวที่กำลังแตกสลายของคอเนอร์, เรื่องพี่ชายของคอเนอร์, เรื่องความฝันจะไปลอนดอนของราฟิน่า, เรื่องการก่อร่างสร้างวง, เรื่องในโรงเรียน, เรื่องมิตรภาพ, เรื่องย่อยๆ เกี่ยวกับครอบครัวของแต่ละคนในวง ฯลฯ
แต่ละอันคือเรื่องปลีกย่อยครับ หนังใช้เวลาเล่าแต่ละพล็อตไม่นาน (เมื่อเทียบกับพล็อตใหญ่ที่ว่าด้วยการเติบโตและความรักของคอเนอร์) แต่ที่ว่าไม่นานนั้นหนังกลับสามารถเล่าได้อย่างตรงประเด็น แต่ละฉากที่ใส่ลงมานี่มันบรรยายแก่นหลักของแต่ละพล็อตได้แบบตรงๆ
ดังนั้นแม้จะใช้เวลาไปกับแต่ละพล็อตไม่เยอะ แต่เพราะมันตรงเป้า เพราะมันเล่าในสิ่งที่เราควรรู้ เลยทำให้ทุกๆ พล็อตรองเป็นที่จดจำในหัวเรา (และบางพล็อตเราก็จำถึงใจ) และพล็อตรองเหล่านั้นก็ช่วยเสริมความแน่น+ความ Real+ความ Rock ของเรื่องหลักได้อย่างน่าทึ่ง
คือเมื่อลองมานึกย้อนแล้ว ทุกส่วนมันเกี่ยวเนื่องกันน่ะครับ มันมีผลต่อการตัดสินใจของคอเนอร์ในตอนท้าย อย่างเรื่องครอบครัวของคนอื่นๆ ในวงมันอาจดูไม่เกี่ยวนะ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าครอบครัวทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะแหว่งวิ่นไม่อบอุ่น ไหนจะเรื่องโรงเรียนหรือสิ่งที่พี่ของคอเนอร์ระบายอีก ทั้งหมดมันทำให้การตัดสินใจสุดท้ายของคอเนอร์เป็นอะไรที่ “มหันตพีค” เลยจริงๆ
ในอดีต (เมื่อนานมาแล้ว) ผมเคยคิดนะว่าการจะเล่าพล็อตอะไรให้มันดีนั้น เราต้องให้เวลามันเยอะสักหน่อย แต่พอมานั่งดูนั่งวิเคราะห์หนังที่มันระดับตำนานหลายๆ เรื่องก็จะพบว่าจริงๆ แล้วหลายพล็อตมันไม่ต้องเล่ายาวเลย บ้างพล็อตมีแค่ 5 นาทีตลอดเรื่อง แต่หากเล่าได้ตรงจุดมันก็ถึงอารมณ์ได้เหมือนกัน
และหนังเรื่องนี้ก็ทำสำเร็จครับ ^_^
2. ผมชอบพี่ของคอเนอร์มากๆ เป็นตัวละครที่เจ๋งนะ เขาเป็นพี่ที่ดีต่อน้อง เขาอาจไม่ใช่พี่ตัวอย่างที่ดีเลิศไปเสียหมด หลายจังหวะเขาใช้อารมณ์ เขาคุมตนเองไม่ได้ แต่โดยหลักแล้วเขาก็ยังรักและปรารถนาดีต่อน้องเสมอ
ตัวละครนี้ทำให้เรานึกถึงญาติ, เพื่อน หรือคนใกล้ตัวที่เรารู้จักมาตั้งแต่เด็ก มันจะมีน่ะครับคนที่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อมแต่เราก็พึ่งพาได้ คนที่สอนหรือชี้แนะตั้งแต่เล็กจนโต คนที่มีลักษณะเช่นนี้อาจไม่ได้แสดงทีท่าว่ารักเราหรือห่วงเรามากมาย แต่เราก็รู้ได้ด้วยใจครับว่า “ถ้าไม่มีเขา ก็คงไม่มีเราในวันนี้”… ซึ้งนะ
3. หนึ่งในประเด็นที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ครับ นั่นคือ “คนเราเลือกที่จะเดินได้” อย่างตอนที่คอเนอร์มีเรื่องกับเด็กเกเรในโรงเรียน ตอนแรกเขาอาจจะโดนแกล้งอยู่นั่นแหละ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อเขามีหลักยึด เมื่อเขามีความมั่นใจและมีความมั่นคงแล้ว เขาก็เลือกได้ว่าจะ “สร้างเรื่อง (มีเรื่อง)” หรือ “สร้างสรรค์”
อีกประเด็นคือ “คนเรามีค่าเสมอ” อย่างตัวเด็กเกเรนั่น เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่าเขาโดนคนที่บ้านสับโขก เขารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามาตลอดเลยทำตัวเกเร แต่พอเขามีที่ยืนในสังคม พอมีคนยอมรับเขา เขาก็พร้อมจะกลายเป็นใครสักคนที่มีประโยชน์ และพอเขาได้ทำอะไรที่มันมีประโยชน์ เขาก็จะมีเวลาในการเกเรลดลงทุกขณะ
เรื่องนี้ก็ชวนให้คิดเรื่องการสร้างความมั่นใจให้กับคนอยู่เหมือนกันนะครับ บางทีมันอาจไม่ต้องยึดหลักทฤษฎีที่วิจิตรพิสดารอะไรมากมาย แค่มีพื้นที่ให้เขายืน มีอะไรให้เขาทำ มีคนเคียงข้างเขา และเอาเขาจากจุดที่เต็มไปด้วยการตอกย้ำซ้ำเติม เท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่ประเสริฐมากแล้ว
4. เมื่อลองมาคิดดูดีๆ แล้วคอเนอร์ไม่ได้มีแผนอะไร เขาแค่คิดแล้วทำเลย พุ่งเข้าไปชนเลย ซึ่งบางครั้งชีวิตมันก็ต้องแบบนี้ล่ะครับ ของเพียงมีทิศทางให้ไป แล้วเราก็ลองไปมันดูซักตั้ง มีอะไรก็ไปแก้ไปลุยเอาดาบหน้า หากเราเดินหน้าแล้วมีปัญหาให้แก้ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยหรือไม่ได้เริ่มทำสักที
เพราะปัญหาทำให้เราเติบโตได้เสมอ แต่หากเราไม่เจอปัญหาเลย เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเท่าไร
5. ตอนจบเป็นอะไรที่พีคมากๆ ครับ เหมือนทุกองค์ประกอบในหนังมันบิ้วเราจนมาถึงจุดนี้ จุดที่คอเนอร์และราฟิน่าอยากออกไปผจญภัยทำตามฝัน มันจบแบบสะใจจริงๆ นะ และยิ่งจบแบบทิ้งให้คิดเองแบบนี้ยิ่งเจ๋งเข้าไปอีก
อันนี้เป็นเทคนิคชั้นดีของ Carney เลย มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครยังคงดำเนินชีวิตของเขาอยู่ต่อไปที่ไหนสักแห่ง หรือเรียกได้ว่า “หนังจบ อารมณ์ไม่จบ” ยังไงยังงั้นเลยครับ
… สำหรับผม หนังเติมพลังให้เราก้าวต่อ สู้ต่อ พุ่งเรือฝ่าคลื่นต่อไป ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นหรือลง ไม่ว่าโอกาสจะมาหรือผ่านไปแล้ว ไม่ว่าเรากำลังจะสูญเสียอะไรไปก็เถอะ แต่หากเรายังเดินต่อ มันก็จะยังคงมีทางให้เราก้าวต่อไปได้
6. (เพิ่มเติม) ผมชอบเพราะเด็กกล้าก้าวออกไปให้พ้นจากโลก “ตันๆ” ที่เขาอยู่ครับ
เรื่องเด็กกล้าตามฝันสำหรับผมเป็นเรื่องรอง เพราะผมก็อายุปาไปครึ่งชีวิตแล้ว จมน้ำเกือบตายระหว่างเดินทางไปสู่ความฝันหลายรอบจนรู้ดีว่าบางที “โลกความฝัน” มันก็แค่คำชวนเชื่อ หรือเป็นแค่ยูโทเปียที่ไม่ได้มีอยู่จริง
จริงๆ แล้วที่ผมรู้สึกว่ามัน “ใช่” ก็เพราะเด็กออกเรือไปตายเอาดาบหน้า ทิ้งโรงเรียนโคตรเคร่ง, สังคมที่ไม่สมบูรณ์ และครอบครัวที่กำลังจะจมไว้ เขาไม่ยอมจมไปกับสิ่งเหล่านี้ เขาขอไปตายเอาดาบหน้า
ผมชอบที่หนังทิ้งท้ายไว้แบบนั้น เพราะมันไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะไปได้ดี พวกเขาอาจจมน้ำตายระหว่างทางด้วย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไปพ้นจากตรงนี้ เพราะพวกเขาไม่ขอทนอยู่อีกต่อไปในโลกเบื้องหลังที่กำลังล่มสลายนั้น
ผมชอบเพราะแบบนั้นครับ และอาจเพราะบางที ชีวิตตัวเอกก็มีบางแง่มุมที่ชวนให้นึกถึงชีวิตผมเองเหมือนกัน
สามดาวครับ
(8/10)