SINKHOLE: หลุมระทึก ตึกถล่ม ใต้กรุงโซล

Sinkhole หนังเกาหลีรายได้เปิดตัวสูงสุดแห่งปี 2021 เป็นหนังภัยพิบัติฟอร์มยักษ์ แนวทริลเลอร์-คอเมดี้ ที่ตอกย้ำความมุ่งมุ่นที่ว่า เกาหลีจะเดินหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะคอนเทนต์สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจหรือสังคมในระบบทุนนิยม รวมถึงการบ้าคลั่งทำ CG ที่เล่นใหญ่ระดับฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย

Park Dong-won (Kim Seong-gyoon จาก Reply 1988) ทำงานเก็บเงินกว่า 11 ปี เพื่อซื้อบ้านหลังแรกของตัวเองได้ หลังจากพาลูกเมียย้ายมาอยู่ได้ 2 อาทิตย์ ก็เกิดแผ่นดินยุบ ตึกทั้งตึกถูกดูดลงไปในหลุมลึกกว่า 500.เมตร ทำให้เขา และ Kim Seung-hyun (Lee Kwang-Soo จาก It’s Okay, That’s Love) กับ Eun-joo (Kim Hye-jun จาก Kingdom) เพื่อนร่วมงานที่เขาชวนมาปาร์ตี้ขึ้นบ้านใหม่ ต้องติดอยู่ในหลุมใต้ดิน พร้อมกับเพื่อนบ้านคู่กัดของเขา Jung Man-soo (Cha Seung-Won จาก A Korean Odyssey) และลูกชาย (Nam Da-reum จาก Start-Up)

Sinkhole ไม่ได้เล่าแค่ความหายนะหลุมยุบใจกลางเมือง ที่ดูดอพาร์ตเมนต์ 5 ชั้น จมดิ่งลงไปใต้ดินเท่านั้น แต่ยังสะท้อนปัญหาบ้านและที่ดินที่ราคาสูงลิ่วในกรุงโซล ที่ชนชั้นกลางต้องเก็บหอมรอมริบแทบทั้งชีวิตเพื่อมากู้ซื้อบ้าน (เรื่องระยะเวลาเก็บเงินเป็นประเด็นที่ตัวละครในเรื่องย้ำบ่อยมาก ๆ) หรือบ้างต้องทำงานหลายอาชีพ หรือต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้านที่ราคาสูงลิ่วจนไม่มีเวลาอยู่บ้านกับครอบครัว ซึ่งหนังก็จะพาเราไปหาบทสรุปของนิยามของคำว่า “บ้าน” กันอีกที

ถึงแม้บ้านในเกาหลี โดยเฉพาะในเมืองหลวง จะราคาแพงแค่ไหน แต่ค่านิยมเรื่องการมีบ้านก็ยังคงแพร่หลายในเกาหลี ถ้าไม่นับการประหยัดเวลาเดินทางไป-กลับที่ทำงาน การซื้อบ้านยังเป็นความภาคภูมิใจ เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จและความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณโชคดีที่ที่ดินที่คุณซื้อมันราคาสูงขึ้นชั่วข้ามคืน บางคนที่ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้อาจขาด self-esteem และคิดว่าตัวเองไม่สามารถมีครอบครัวหรือดูแลใครได้ ในขณะเดียวกัน คนที่มีบ้านก็อาจพยายามปกปิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้ก้อนโตที่กู้ธนาคารมาซื้อบ้าน หรือปกปิดจุดบกพร่องของบ้านที่ตัวเองแสนภูมิใจเพราะกลัวตัวเองจะเสียหน้าและกลัวบ้านจะเสียราคา

เผิน ๆ เหมือนหนังจะเล่าประเด็นดราม่าที่หนัก แต่คาแรกเตอร์ของตัวละครและเสน่ห์ของทีมนักแสดงทำให้ Sinkhole เป็นหนังลุ้นระทึกเอาตัวรอดฉบับคลายเครียดที่มีเรื่องให้ขำตลอดเวลา แต่ฉากที่ให้ซึ้งก็ดึงอารมณ์พอสมควร เพราะตั้งแต่ช่วงแรกหนังพาเราไปพันผูกกับตัวละครได้ประมาณหนึ่ง ทำให้เราอยากเอาใจช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังมีความไม่สมเหตุสมผลในแง่หลักฟิสิกส์และหลักการเหตุผลต่าง ๆ รวมถึง CG ที่ยังลอยอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเทียบกับ CG ของฮอลลีวู้ด ก็คงเทียบไม่ได้ แต่สำหรับเอเชียแล้ว เราต้องยอมรับว่า เกาหลีเขาทำได้ดี ไม่อายใคร และยังตอบโจทย์ความบันเทิงโดยรวมได้อยู่