Southpaw (Antoine Fuqua / USA / 2015)
นานทีจะมีหนังนักมวยมาให้ดู ถึงส่วนใหญ่หนังกีฬาฝั่งฮอลลีวูดจะเป็นหนังดราม่าหรือไม่ก็หนังชีวประวัติซึ่งร้อยทั้งร้อยก็เป็นแนวดราม่ารันทดอดสู้อีกนั่นแหละ หนังกีฬาอื่นๆ ก็หนีไม่พ้นแนวนี้เหมือนๆ กัน คือไม่ค่อยได้ถูกผลักดันให้สร้างเป็นแนวแอคชั่นเอามัน หรือออกแนวแฟนตาซีคอเมดี้ให้ชวนหัวและผ่อนคลายบ่อยนัก ต่างจากหนังฝั่งเอเชียที่พอจับกีฬามารวมกับแนวคอเมดี้แล้วจะเข้าท่ามากกว่า พอนึกเร็วๆ ในหัวก็มีหนังญี่ปุ่นอย่าง Sumo Do, Sumo Don’t (Masayuki Suo / 1992), Waterboys (Shinobu Yaguchi / 2001), Tug of War! (Nobuo Mizuta / 2012) ที่ตลกผ่อนคลายผสมเรื่องราวการแข่งขันกีฬาได้สนุกน่าติดตาม หนังเกาหลีอย่าง Mr. Go (Yong-hwa Kim / 2013) ก็เป็นหนังเด็กหนังครอบครัวที่มีความแฟนตาซีได้น่ารักพอตัว Shaolin Soccer นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ (Stephen Chow / 2001) จากฝั่งฮ่องกงก็ตลกแฟนตาซีฮาท้องคัดท้องแข็ง มาจนถึงหนังตลกไทยที่สร้างจากเรื่องจริง อย่าง สตรีเหล็ก (ยงยุทธ ทองกองทุน / 2000) รวมถึงหนังกีฬาตลกไทยเรื่องอื่นๆ เช่น หมากเตะรีเทิร์นส์ (อดิสรณ์ ตรีเกษม / 2006) และ ดรีมทีม (กิตติกร เลียวศิริกุล / 2008) จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่ยักษ์อย่างฮอลลีวูดแล้ว หนังกีฬาตลกผ่อนคลายฝั่งฮอลลีวูดในความทรงจำตอนนี้มันช่างนึกออกยากเสียเหลือเกิน แต่ยังดีที่อย่างน้อย Balls of Fury (Ben Garant / 2007) ก็แล่นเข้ามาในหัว
ด้วยความที่ชีวิตจริงในโลกนี้ก็มีเรื่องให้เครียดมากพอแล้วทำให้เงินพุ่งเข้าหาหนังตลกสนุกด้วยแอคชั่นเว่อร์วังอลังการที่ผ่อนคลายระบายความเศร้ามากกว่าหนังเนื้อดีขยี้ชีวิตจริงของคน ซึ่งสำหรับกลุ่มคนจำนวนมากในทุกวันนี้คำว่าหนังดราม่ายังคงเท่ากับหนังชวนง่วง หนังกีฬาดราม่าจึงดึงดูดตลาดคนหมู่มากไม่ค่อยจะได้ก็เลยถูกมองเป็นหนังดูยากของขาแมสตลาดจ๋ากลุ่มทำเงิน ถึงบางเรื่องจะทำรายได้ทั่วโลกมหาศาลแต่หนังหลายเรื่องก็ต้องลุ้นแทบเยี่ยวเล็ด จนหนังกีฬาดราม่าฝั่งฮอลลีวูดในทุกวันนี้ถูกประทับตราให้กลายเป็นหนังหวังกล่องรางวัลตั้งแต่ประกาศสร้างไม่แพ้หนังการเมือง แต่หลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก อย่าง Rocky (John G. Avildsen / 1976), Raging Bull (Martin Scorsese / 1980), Million Dollar Baby (Clint Eastwood / 2004), The Wrestler (Darren Aronofsky / 2008), The Fighter (David O. Russell / 2010), Warrior (Gavin O’Connor / 2011), Rush (Ron Howard / 2013) และสองผลงานล่าสุดของผู้กำกับจอมสันทัดหนังชีวประวัติ Bennett Miller กับ Moneyball (2011) และ Foxcatcher (2014) ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นหนังสำรวจล้วงลึกตัวละครที่ดีและหลายเรื่องก็เข้าขั้นกระเทาะความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ การแสดง และการกำกับ ถือเป็นหนึ่งในหนังประเภทที่ท้าทายผู้กำกับและนักแสดงเป็นอย่างมาก และผลก็คือหนังมันมีพลังมากพอที่จะส่งให้เข้าชิงรางวัลในเวทีใหญ่ๆ ซึ่ง Southpaw ก็เป็นหนังกีฬาเรื่องล่าสุดในจำพวกนี้ที่ดูก็รู้ว่า‘กู’ก็หวัง
รู้จัก Antoine Fuqua ผู้กำกับจากหนังแอคชั่นโด่งดังเรื่อง Training Day (2001) และหนังแอคชั่น(เช่นเคย)เรื่องล่าสุดของเขาที่ได้ดูเมื่อปีที่แล้วอย่าง The Equalizer (2014) มาคราวนี้น่าสนใจดีที่ผู้กำกับขาบู๊จะมาเล่าเรื่องราวชีวิตดราม่านักกีฬาบ้าง ถึงแม้โครงสร้างบทจะไม่ได้มีมุมใหม่อะไรให้ประหลาดใจและเรื่องราวมันก็ไม่ได้เกินความคาดหมายอีกทั้งยังเล่าเรื่องไปตามสเต็ปหลักของหนังสูตรอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับหนังกีฬาดราม่าหลายเรื่องที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ มันยังไม่มากพอที่จะส่งให้ผู้กำกับได้แผงฤทธิ์มากไปกว่าการที่ทำให้หนังดราม่าเรื่องหนึ่งนำพาตัวละครนักมวยซูเปอร์สตาร์ตกอับไปถึงฝั่งให้ได้ และดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นไปทั้งเรื่องจริงๆ แต่เพราะด้วยการกำกับการแสดงที่หินมากขึ้นจากหนังแอคชั่นเรื่องก่อนๆ ทำให้ผู้กำกับมีช่องให้โชว์ฝีมืออยู่บ้าง Antione Fuqua กำกับฉากชกมวยได้สนุกมากๆ มีความเป็นสนุกแบบแอคชั่นและลุ้นระทึกแบบทริลเลอร์ ให้ความตื่นเต้นและเขย่าขวัญในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าความดีงามส่วนหนึ่งของช็อตและฉากเหล่านี้ต้องแบ่งให้ผู้กำกับภาพและคนลำดับภาพด้วยก็ตามที
นอกจากนั้นลักษณะตัวละครหลักก็ยังน่าติดตามแล้วยิ่งเมื่อได้รวมกับสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังซึ่งก็คือการแสดงของ Jake Gyllenhaal ที่ยังคงหยั่งลึกและถ่ายทอดลักษณะตัวละครได้น่าเชื่อและน่าติดตาม ส่วนตัวแล้วชอบและรู้สึกเข้าถึงมากกว่าใน Nightcrawler (Dan Gilroy / 2014) ที่คาแร็กเตอร์ดูจัดเกินไป แต่ในเรื่องนี้พี่เจคแกนำพาสถานการณ์ชีวิตที่น่าสมเพช เวทนากับความพลาดพลั้งแล้วนำมาซึ่งการสูญเสียและความเจ็บปวดได้ถึงอารมณ์มากๆ โดยเฉพาะเอ็ฟเฟ็กต์อาการกระทบกระเทือนทางสมองจากการชกมวยที่สื่อทางน้ำเสียง สายตา และบุคลิกร่างกายได้สมจริงมากๆ ช่วยให้บทในแต่ละฉากที่ยังดูเรียบราบซ้ำซากให้มีมิติมากขึ้นไปอีก ส่วน Rachel McAdams ยังคงงดงามเสมอ เช่นเดียวกับ Forest Whitaker ที่ยังให้การแสดงที่ทรงพลัง
ถึงแม้Southpaw ดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝันในเวทีออสการ์อย่างที่มีแปะไว้บนโปสเตอร์หน้าโรง แต่จริงๆ แล้วยังเหลือ Jake Gyllenhaal ไว้เป็ความหวังเดียวอยู่ และถึงจะชวดโอกาสนี้ไป…อย่างน้อย Southpaw ก็ยังเป็นหนังกีฬาดราม่าที่ฉากกีฬาสนุกมากที่สุดเรื่องนหนึ่ง และบางส่วนอย่างการดิ้นรนของพ่อนักมวยตกอับที่ต้องต่อสู้กับชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ให้ลูกสาวเห็น ในกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองมนุษย์แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนพรากความผูกพันระหว่างพ่อลูกไปชั่วขณะมันกระอักกระอ่วนได้พองามดี เมื่อรวมกับการแสดงที่เยี่ยมยอดและฉากชกมวยลุ้นระทึกมันก็เพียงพอแล้วล่ะที่จะต้องไม่พลาดตีตั๋วเข้าโรงไปดู