Spider-Man: Far from Home (2019) สไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม

Untitled07212

ผมดู Spider-Man ภาคนี้ไป 2 รอบครับ รอบแรกดูในฐานะหนังปิดเฟส 3 ของจักรวาล Marvel เป็นการดูต่อจาก Avengers: Endgame ส่วนรอบ 2 เป็นการเอามาดูต่อกันตั้งแต่ฉบับ Tobey ต่อด้วย Andrew ดูเพื่อเตรียมไปสนุกกับภาค No Way Home

การดู 2 รอบให้ความรู้สึกที่ต่างกัน

รอบแรกดูแล้วก็สนุกดี รู้สึกชอบ รู้สึกว่าเป็นหนังที่ต่อเรื่องราวจาก Endgame ได้ดี โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับโทนี่ สตาร์ก

ครั้นพอดูรอบ 2 ก็ยังสนุกอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ได้ความรู้สึกอื่นๆ พ่วงเข้ามาด้วย

อาจเพราะดูหลายฉบับต่อกันมันเลยเกิดการสังเกตน่ะครับ ว่าฉบับ Tobey เป็นยังไง ฉบับ Andrew เป็นยังไง และฉบับ Tom เป็นยังไง ซึ่งแต่ละฉบับก็มีจุดเด่นหรือสไตล์ในแบบของตัวเอง

สำหรับผมแล้ว ภาค Far From Home นี้ดูเอาสนุกได้สบายๆ เป็นภาคที่เล่น CG กันเต็มที่ ฉากต่อสู้ถือว่ายิ่งใหญ่ และความร้ายกาจฉลาดล้ำของมิสเตอริโอ (Jake Gyllenhaal) ก็ถือว่าน่าพอใจ ในขณะที่ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Tom Holland) หรือสไปเดอร์แมนภาคนี้ก็ได้ออกท่องโลก สู้ในหลายสมรภูมิ ลุยในหลายประเทศ ถือเป็นการผจญภัยที่สนุกมากๆ ครั้งหนึ่งของเขา

แต่อาจเพราะเอามาดูต่อกัน 3 ฉบับรวด เลยอดรู้สึกไม่ได้ครับว่าความอาภัพของปีเตอร์ในฉบับนี้ถือว่าไม่มากเท่าฉบับก่อนๆ

จริงๆ ประเด็นความอาภัพหรือชีวิตต้องสู้ของปีเตอร์นั้นเป็นอะไรที่ Stan Lee ตั้งใจจะให้เป็นตั้งแต่สร้างสรรค์ตัวละครนี้ขึ้นเมื่อยุค 60 และความอาภัพเหนื่อยยากในชีวิตของปีเตอร์เราก็จะได้สัมผัสแบบชัดๆ ในฉบับ Tobey และได้สัมผัสพอสมควรในฉบับ Andrew แต่ยอมรับว่าพอมาฉบับ Tom แล้ว ดีกรีความอาภัพดูจะน้อยกว่าเพื่อน แต่ก็พยายามคิดว่าอาจเพราะชีวิตเขายังไม่ถึงจุดนั้น ความรันทดหรือเผชิญชีวิตเลยยังไม่มาก

อีกอย่างคือจะให้ชีวิตปีเตอร์อาภัพมากก็ยังไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเยอะเกิน ลำพังต้องเล่าเรื่องส่วนที่เกี่ยวกับ Marvel Universe ก็ต้องใช้พื้นที่มากพอควรแล้ว – ใส่เยอะเกินเดี๋ยวจะลงเอยแบบ Spider-Man 3 และ The Amazing Spider-Man 2 – ดังนั้นเป็นอย่างที่เป็นแบบนี้ถือว่าพอเหมาะพอเจาะแล้วครับ เพราะหนังก็ออกมากลมกล่อมลงตัว ดูสนุกในแบบของตัวเอง

Untitled07211

ความรันทดของปีเตอร์ในฉบับนี้เลยจำกัดอยู่เพียงประเด็นการที่ชีวิตวัยรุ่นของเขาถูกเบียดบังไป เนื่องจากต้องออกโรงพิทักษ์โลก ไม่ได้ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือคนที่แอบชอบสักเท่าไร – จุดนี้บอกกับตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปรียบเทียบให้เสียเวลา เพราะ Spider-man ฉบับนี้ยังไม่เน้นประเด็น “ชีวิตต้องสาป” ในเวลานี้ ยังอยู่ในโหมด Coming of Age การก้าวพ้นวัยอยู่ ดังนั้นให้เราไปสนุกกับอย่างอื่นที่หนังมีก็แล้วกัน

ปมของปีเตอร์ในภาคนี้ นอกจากประเด็นเรื่องชีวิตวัยรุ่นถูกเบียดบังแล้ว ก็ยังมีประเด็นการรับช่วงความรับผิดชอบต่อจากไออ้อนแมน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ใหญ่มากจนตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะรับไหวไหม?

การผจญภัยหนนี้จึงเป็นบททดสอบสำคัญของปีเตอร์ครับว่าเขาจะสามารถผ่านเรื่องราวทั้งหลายไปได้ไหม จะสามารถจัดการปัญหาและศัตรูผู้คิดร้ายได้สำเร็จไหม

บทเรียนสำคัญสำหรับปีเตอร์ในภาคนี้ก็หนีไม่พ้น “วิจารณญาณและการมองสิ่งต่างๆ ให้ครบมุม” ว่าง่ายๆ คือต้องคิดให้ครบ คิดให้รอบคอบ ต้องไตร่ตรองมองเกมไปข้างหน้าหลายๆ ก้าว อย่าจำกัดมุมมองไว้เพียงสิ่งที่เราเห็น

เพราะสิ่งที่เห็น บางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง… บางทีอาจเป็นเพียงภาพลวงตา

บทเรียนต่อมาคือ คนเราพลาดกันได้ แต่หากพลาดแล้วก็ต้องหาทางแก้ไข และที่สำคัญคือต้องบอกตัวเองว่า “เราจะต้องไม่พลาดซ้ำที่เดิม”

อะไรเหล่านี้ถือเป็นการสานต่อประเด็น Coming of Age ที่เริ่มตั้งแต่ภาคก่อน ภาคนี้ปีเตอร์ก็ต้องเจอกับปัญหาเพื่อก้าวข้ามสู่ความเป็นผู้ใหญ่ไปอีกขั้น

แต่ประเด็นที่ชอบมากหน่อยคือแผนการของมิสเตอริโอที่หลอกคนทั้งโลกด้วยการสร้างภาพ ทั้งภาพมายา CG และภาพลักษณ์ลวงๆ ในยุคสมัยที่คนพร้อมจะเชื่อเรื่องเหลือเชื่อแบบที่เขาเล่า

Untitled07213

ในแง่หนึ่งก็เสียดสีเรื่องกระแสครับ ประมาณว่าถ้ากระแสโลกเป็นแบบไหน แล้วมีใครหัวใสหน่อย แต่งเรื่องที่สอดคล้องกับกระแสนั้น หรือแต่งเรื่องที่คนส่วนใหญ่อยากได้ยินและพร้อมที่จะเชื่อ แบบนั้นแล้วคนก็จะพากันเชื่อเป็นตุเป็นตะ แล้วคนที่แต่งเรื่องก็จะสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้แบบสะดวกๆ

โดยส่วนตัวผมชอบมิสเตอริโอนะ แผนแกร้าย ลูกเล่นเยอะ แม้จะเป็นการสร้างภาพลวงตา แต่ภาพที่ได้เห็นในเรื่องก็สร้างความสนุกเร้าใจได้ไม่น้อย ซึ่งก็ต้องชมทีมงานด้วยที่ออกแบบภาพลวงตาแต่ละช่วงออกมาได้ดี

Holland ลื่นไหลไปกับบทปีเตอร์ ส่วน Gyllenhaal ก็เหมาะมากๆ กับบทมิสเตอริโอ, Zendaya ก็เป็นเอ็มเจได้น่ารัก มีเสน่ห์แบบแข็งๆ ดูไปก็เหมาะกับปีเตอร์อยู่เหมือนกัน, Jacob Batalon ก็ยังคงเวิร์กอยู่กับบทเน็ด เพื่อนซี้บัดดี้สไปเดอร์แมน ที่ทั้งเนียนและทั้งฮา, บทป้าเมย์ของ Marisa Tomei มาภาคนี้บทถือว่าน้อยไปหน่อย

แต่คนที่ชอบมากคือ Jon Favreau แววตาเวลาเขามองปีเตอร์นั้นดูห่วงใยและปรารถนาดี บางแววตาก็มีความชื่นชม คนละแบบกับภาคก่อนที่มองปีเตอร์เป็นเหมือนเด็กวุ่นวาย – ชอบตอนอยู่บนเครื่องบินครับ แววตาที่แฮปปี้มองปีเตอร์ก่อนจะเปิดเพลงนั้น เป็นอะไรที่มีความหมายมากๆ

และที่ลืมไม่ได้คือ Samuel L. Jackson และ Cobie Smulders ที่การแสดงของพวกเขาถือว่าเหมาะสม ยอมรับว่าระหว่างดูแอบตะหงิดในบางเวลาเหมือนกัน แต่พอดูจนจบก็ถึงบางอ้อ

Jon Watts คุมหนังได้ดีเหมือนเดิมครับ ฉากต่อสู้ออกมาเร้าใจตื่นเต้นพอประมาณ อารมณ์ขันก็หยอดลงไปแบบพอดีๆ มีความสนุกตามแบบฉบับของ Spider-man เวอร์ชั่น Tom Holland

แล้วเพลงที่เลือกมาใส่ตอนเหล่าตัวเอกไปแต่ละประเทศนั้นก็เลือกมาได้เหมาะมากๆ ฟังไม่รู้เรื่องหรอก แต่เหมาะและได้อารมณ์จริงๆ

หากนับกันถึงตอนนี้ ผมยังชอบ Spider-Man 2 ภาคแรกของเวอร์ชั่น Tobey มากที่สุดอยู่ครับ ในขณะที่ฉบับนี้ผมถือว่าสนุกนะ มันจะดูสนุกมากขึ้นเมื่อดูควบคู่กับเรื่องอื่นใน Marvel Universe

สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ

Star22

(7.5/10)