The Killing of a Sacred Deer ฝันร้าย หัวใจกวาง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Killing of a Sacred Deer ฝันร้าย หัวใจกวาง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ไม่มีกวางใน The Killing of a Sacred Deer อย่างน้อยก็ไม่มี “กวาง” เป็นตัว ๆ ให้เราเห็น

The Killing of a Sacred Deer ภาพยนตร์สุดประหลาดเรื่องนี้ออกฉายในปี 2017 แต่เพิ่งลง Netflix สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่ หนังคงถูกฝังอยู่ใต้อัลกอริธึ่มลึกพอดู ผู้ชมที่อยากแสวงหารสชาติแปลกใหม่ (และใจแข็งพอ) อาจจะต้องออกแรงขุดหนังของผู้กำกับชาวกรีก ยอร์กอส ลันทิมอส เรื่องนี้ขึ้นมาจากใต้เมนู 

ยอร์กอส ลันทิมอส เริ่มต้นอาชีพมาจากสายหนังอาร์ท เริ่มมีชื่อขึ้นมาจากหนังทุนต่ำ Dogtooth ว่าด้วยครอบครัวสุดวิปลาส แต่หนังที่ทำให้เขาโด่งดังมาก คือ The Lobster หนังโรแมนติค-ตลกร้าย นำแสดงโดยคอลิน ฟาร์เรล และ ราเชล ไวส์  ว่าด้วยโลกดิสโทเปียที่คนโสดต้องหาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกสาปให้แปลงร่างเป็นสัตว์  The Lobster ก้าวข้ามวงหนังอาร์ทมาเป็นหนังกึ่งเมนสตรีมวงกว้าง (ในไทยหนังดังไม่น้อย) ด้วยพล๊อทสุดเพี้ยนแต่กลับลงเอยเป็นหนังโศกนาฏกรรมโรแมนติก และก่อให้เกิดการตีความถกเถียงกันยืดยาวว่าด้วยปรัชญาความสัมพันธ์ของมนุษย์และนิยามของ “ความรัก”

The Killing of a Sacred Deer พาเราย้อนกลับไปสู่ความเป็นลันทิมอสในยุคแรก กลับไปสู่ความไร้ตรรกะของชีวิตและโชคชะตา ความหม่นทึบของอารมณ์ ความวิปริตที่ร่ำ ๆ จะข้ามเส้นตลกร้าย และการตั้งใจทำให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนและสั่นคลอนในจิตใจไปตลอดทาง (ขอเทียบกับภาษาอังกฤษว่า หนังเรื่องนี้ช่าง “disturbing”) พูดง่าย ๆ คือหนังอาจจะไม่มีแรงดึงดูดในวงกว้างอย่าง The Lobster  และไม่มีกลิ่นอายความ “ฮิพ” แต่สำหรับผู้ชมที่อยากลองของ รับรองว่าโดนของแน่ ๆ

คอลิน ฟาร์เรล กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ในบทสตีเว่น หมอศัลแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ นิโคล คิดแมน เป็น อันนา ภรรยาของเขาที่เป็นหมอเหมือนกัน ทั้งสองมีลูกวัยรุ่นสองคน และใช้ชีวิตครอบครัวที่ดูเหมือนจะสงบสุขดีในเมืองซินซินาติ สิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ทุกอย่างสั่นคลอนคือ มาร์ติน (แบรี่ คีโอน ในบทที่ทำให้ดาราหนุ่มคนนี้โด่งดังจนต่อมาไปได้ไกลถึง Eternals) เด็กวัยรุ่นท่าทางประหลาดที่สตีเว่นไปสนิทด้วย มาร์ตินเริ่มเข้ามาพัวพันและมีบทบาทในบ้านของสตีเว่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่เขาจะเผยเจตนา (ร้าย) ที่แท้จริงออกมา

ชื่อหนังบอกใบ้เราว่า ยอร์กอส ลันทิมอส อาจจะพยายามบอกอะไรเรา อย่างที่ว่าไป ไม่มีกวางใน The Killing of a Sacred Deer แต่หนังพูดถึงตำนานปกรนัมกรีกของอิฟเฟียเจอเนีย (Iphigenia) อันว่าด้วยกษัตริย์อะกาเมมนอน ที่ต้องยอมฆ่าลูกสาวคนโตของเขาเพื่อบรรเทาโทสะของเทพีอาร์เทมีส และเพื่อให้กองเรือของเขาสามารถออกเดินทางไปรบที่กรุงทรอยได้ แต่เมื่ออิฟเฟียเจอเนียถูกหลอกไปสังเวยชีพ เทพีอาร์เทมิสกลับเอาชีวิตกวางไปแทน

หนังไม่ได้อธิบายว่าตำนานนี้เชื่อมโยงกับหนังตรง ๆ อย่างไร แต่ไอเดียของการพลีชีพ การ “เลือก” รักษาชีวิตหรือปลิดชีวิต รวมทั้งความไร้สาระของโชคชะตา เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพอมองเห็นได้ในหนัง รวมทั้งการที่สตีเว่นเชิญมาร์ตินเข้ามาในบ้านตัวเองไม่ต่างจากการเอาม้าเมืองทรอยผ่านประตูเมืองเข้ามาจนเกิดความวุ่นวาย ส่วนที่น่าจะทำให้คนดูอึดอัดได้ไม่น้อย คือสไตล์การกำกับและการใช้คำพูดของตัวละคร ลันทิมอสมักให้ตัวละครของเขาพูดด้วยเสียงราบเรียบไร้อารมณ์ ไม่ “บิลท์” จังหวะหนังให้ตื่นเต้นหรือขับเน้นภาวะทางอารมณ์ พูดอีกอย่างคือ เขาทิ้งช่องว่างระหว่างคนดูกับตัวละคร ไม่ให้เราเข้าใกล้พวกเขา ไม่ให้เราเข้าใจหรือรับรู้สิ่งที่พวกเขาคิด ทิ้งเราให้ลอยในสุญญากาศอันเย็นชา ราวกับฝันร้ายที่ทำให้เราตื่นขึ้นและชุ่มด้วยเหงื่ออันเยือกเย็น การทิ้งให้คนดูห่างเหินและไม่เข้าใจตัวละคร เป็นวิธีการที่สร้างความฉงน กระตุ้นให้เราใคร่รู้และพยายามเพ่งมองเข้าใปในความคิดของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันหนังก็สร้างสภาวะหลอนด้วยฉากที่รุนแรงแบบไม่ให้ตั้งตัว รวมทั้งใช้เทคนิคของหนังสยองขวัญต่าง ๆ ทั้งเพลง เสียง และแสงเงา เพื่อสร้างความขัดแย้งของการรับรู้ไปตลอดทาง เรื่อยไปถึงฉากไคลแม๊กซ์ที่ทั้งช็อคและน่าฉงน จนบางคนต้องไปกูเกิ้ลหาคำตอบกันมือเป็นระวิง

ลันทิมอสเป็นคนทำหนังที่มีแนวทางน่าสนใจและมีความคิดทางภาพยนตร์ที่ท้าทายกรอบเดิม ๆ โดยไม่กลัวที่จะทำให้คนดูอึดอัด แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็สามารถปรับเอกลักษณ์และความสนใจของตัวเองมาสู่ตระกูลหนังหลาย ๆ แบบ ดังจะเห็นได้จากหนังเรื่องถัดจาก The Killing of a Sacred Deer คือเรื่อง The Favourite หนังชีวประวัติของควีนแอน ที่ใช้ตลกร้ายผสมกับหนังหักเหลี่ยมซ่อนคมของสาวกในวัง จนส่งให้ดารานำโอลิเวียร์ โคลแมน ได้รางวัลออสการ์ และหนังยังได้ชิงรางวัลออสการ์อีกถึง 10 รางวัล

The Killing of a Sacred Deer สตรีมอยู่ใน Netflix ตอนนี้