อีกหนึ่งผลงานหนังดราม่าสุดจัดจ้านทางการแสดงของผู้กำกับที่โดดเด่นกับการร้อยเรียงประเด็นครอบครัวได้อย่างช่ำชอง อย่าง “ฟลอเรียน เซลเลอร์” นักสร้างหนังที่เคยปังสุด ๆ มากับหนังชิงออสการ์ อย่าง The Father และมาล่าสุดใน “The Son” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังภาคต้นจากเรื่องที่แล้ว ที่ยังคงเน้นกับการใส่เนื้อความเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวได้อย่างลึกซึ้งและเจ็บปวด ซึ่งต้องบอกตรง ๆ เลยว่าหนังเรื่องทำปฏิกิริยากับผู้ชมอย่างด่ำดิ่ง ชนิดที่แทบจะลงไปนอนกองที่พื้น
The Son เล่าเรื่องราวของ ปีเตอร์ กำลังยุ่งอยู่กับชีวิตหน้าที่การงานของเขา รวมทั้งการดูแลภรรยาคนปัจจุบัน เบธ กับลูก ๆ ของพวกเขา กระทั่งการปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งของ เคต อดีตภรรยาที่มาพร้อมกับ นิโคลัส ลูกชายที่เติบใหญ่เป็นวัยรุ่น ทำให้ชีวิตของปีเตอร์ต้องเผชิญหน้ากับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง ในการรับมือกับอดีตที่เขาเคยเดินจากมา และบัดนี้ได้ไล่ติดตามถึงตัวเขาอีกครั้ง
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากฉบับละครเวที (Le Fils) ที่ ฟลอเรียน เซลเลอร์ เป็นผู้ประพันธ์และสร้างเอาไว้ เมื่อปี 2018 โดยเขาหยิบจับเอาบทละครมาขัดเกลาปั้นออกมาเป็นบทหนังที่เต็มไปด้วยความคมคายเกี่ยวกับความสัมพันธ์และปัญหาในครอบครัวได้อย่างบรรจงสร้าง บาดเจ็บไปด้วยการแสดงของนักแสดงหลัก ๆ เพียงไม่กี่คน แต่เต็มไปด้วยความทรงพลัง เป็นหนังที่สอดแทรกประเด็นได้อย่างหนักอึ้งและสะท้อนปัญหาปัจจุบันของความเป็นครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าเสียงวิจารณ์จากเหล่านักวิจารณ์ทั่วโลกจะไม่ได้ประทับใจในหนังเรื่องนี้กันสักเท่าไหร่ เพราะความที่เป็นหนังสไตล์เมโลดราม่าที่ไม่ได้เหนือการคาดเดาอะไรสักเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าใครจะไม่ชอบ แต่ทางเราชอบหนังเรื่องนี้ในระดับน่าพอใจ ถึงมันอาจจะยังไม่ใช่หนังที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อย ๆ The Son ก็สร้างปฏิกิริยาและขับเคลื่อนอารมณ์ให้กับผู้ชมไปได้ด้วยดี ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงของหนังเรื่องนี้
บทหนังในเรื่อง The Son นั้น คือถ้าใครเป็นผู้เสพสายละครเวที หรือ Performance Art มานั่น จะสัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยว่า หนังยังมีความเป็นละครเวทีปะปนอยู่เต็มไปหมด เหมือนหยิบการแสดงบนเวทีมาร้อยเรียงเป็นช็อต ๆ เรียบเรียงเป็นเรื่องเดียวกันออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ และก็เป็นไปตามที่นักวิจารณ์บอกกันว่าบทหนังไม่ได้มีอะไรที่เหนือการคาดเดา เพราะถ้าลองตามดูไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้จะเดาทิศทางของหนังได้ยากเท่าไหร่ บทสรุปและจุดหักมุมต่าง ๆ มีความเป็นแอคติ้งสเตจตามสูตร
ทางด้านงานสร้างของหนังเรื่องนี้ ดูเหมือนว่า ฟลอเรียน เซลเลอร์ ก็ยังคงนำเสน่ห์และวิสัยทัศน์ที่คุ้นเคยของเขามาใช้อยู่เช่นเดิม หลายประองค์ในหนังเรื่องนี้ยังทำให้หนึ่งถึง The Father ผลงานเรื่องก่อนอยู่ประปราย มุมภาพ มุมกล้อง และวิธีนำเสนอต่าง ๆ ของ The Son ยังเน้นไปที่การโฟกัสแบบโคสอัพตัวละครที่กำลังสื่อสารอารมณ์อยู่ได้อย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะไม่ใช่เทคนิคที่แปลกใหม่ และออกจะดูธรรมดาไปหน่อย แต่ก็ถือว่ายังเป็นสูตรเดิมที่เวิร์กกับตัวหนังดีอยู่
ส่วนพาร์ททางการแสดงก็ถือว่าไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลย “ฮิวจ์ แจ็คแมน” คือแบกรับและตีโจทย์ออกมาได้ดีตามมาตรฐานของเขา แม้ว่าแอคติ้งของเขาจะไม่ได้ทรงพลังยิ่งยวดอะไรขนาดนั้น แต่จัดได้ว่าสื่อสารทางอารมณ์ออกมาได้ดี ทั้งผ่านอากัปกิริยาและไดอะล็อกต่าง ๆ เขาทำได้น่าพอใจ เป็นการแสดงที่ดีในมาตรฐานไปถึงรางวัลได้ เพียงแต่ต้องมาดูว่าคู่แข่งในปีนั้น ๆ จะแข็งแกร่งสักแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่ายังมีคนอื่น ๆ จากเรื่องอื่นที่ดีกว่า
ขณะที่ “ลอร่า เดิร๋น” กับ “วาเนสซา เคอร์บี้” ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่ละสายตาไปไม่ได้เช่นกัน พวกเขามอบการแสดงที่น่าพอใจและดีตามมาตรฐานของตัวเองเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่ง “แอนโทนี ฮอพกินส์” ที่ตำนานก็ยังคือตำนาน ออกมาแค่เพียงซีนเดียวใหญ่ ๆ ก็ทรงพลังได้อย่างน่าขนลุก และคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ “เซน แม็คกราธ” นักแสดงหนุ่มดาวรุ่งหน้าใหม่ ที่ชั่วโมงบินอาจจะยังน้อย แต่ลีลากการเข้าถึงบทดราม่าของเขาก็จัดได้ว่า..จัดจ้านดี
ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว The Son ถือว่าเป็นหนังดราม่าที่เต็มไปด้วยข้อความที่ทรงพลังดี สะท้อนถึงปัญหาสังคมและครอบครัวได้อย่างรวดร้าว การเล่าเรื่องที่ง่าย ๆ ออกไปทางละครเวทีเรื่องยาวที่ยังทำได้ตรึงใจดี กับการแสดงของนักแสดงมืออาชีพที่ช่วยประคองตัวหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้อย่างดี แม้ว่าหนังจะยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์ในทุกด้านก็ตาม และบทหนังก็ยังค่อนข้างธรรมดา ไม่เกินที่คาดเดามากนัก แต่แค่ประเด็นของหนังที่ต้องการสื่อสารออกมานั้น ก็ถือว่าสามารถซื้อใจและทำให้รู้สึกเหนี่ยวรั้งอารมณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงฉากจบของเรื่อง
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง The Son
- ประเภท: ดราม่า / ครอบครัว
- ผู้กำกับ: ฟลอเรียน เซลเลอร์
- นำแสดงโดย: ฮิวจ์ แจ็คแมน, ลอร่า เดิร์น, วาเนสซา เคอร์บี้
- ความยาว: 123 นาที
- กำหนดฉายในไทย: 26 มกราคม 2023 (เฉพาะที่ House สามย่าน)
Movie.TrueID METRIC: The Son
- ภาพรวม
⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰ (6/10) - การเล่าเรื่อง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰ (7/10) - การแสดง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰ (7/10) - เทคนิคงานสร้าง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰ (6/10) - บทภาพยนตร์
⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰✰ (5/10)
————————————-