The Tale of the Princess Kaguya (2013) เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่

Untitled06327

ตำนานเจ้าหญิงคางุยะหรือเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่นั้นเป็นอะไรที่ได้ยินมานานตั้งแต่เด็กๆ ครับ พูดได้ว่าแม้จะเป็นตำนานญี่ปุ่นแต่คนรุ่นผมน่าจะคุ้นเคยกันบ้างไม่มากก็น้อย

ถ้าจำไม่ผิดผมรู้จักเรื่องนี้หนแรกจากรายการเล่านิทานของญี่ปุ่นทางช่อง 11 ครับ จำได้ว่าสมัยก่อนจะมีรายการเอานิทานหุ่นมาเล่า ฉายทางช่อง 11 ซึ่งเล่าได้ประทับใจดีครับ เรื่องไหนถ้าซึ้งก็จะทำเอาเราซึ้งจนซึมทีเดียว พอมานึกตอนนี้ก็อดทึ่งไม่ได้เหมือนกัน (เพราะความซึ้งเนี่ย หนังจริงๆ บางเรื่องยังทำไม่ได้น่ะครับ แต่นี่เป็นนิทานหุ่นเชิด แต่กลับทำได้สำเร็จ)

อย่างอีกเรื่องหนึ่งที่จำได้คือหนูน้อยไม้ขีดไฟ ผมจำความรู้สึกตัวเองได้เลยว่าผมอินนะ เป็นครั้งแรกที่จำได้เลยมั้งที่ฟังนิทานแล้วเราอินเศร้าได้ขนาดนี้ เพราะทั้งการเล่า ทั้งจังหวะมันสวยงาม และทำให้เราเห็นใจหนูน้อยไม้ขีดไฟแบบมากมายจริงๆ… นึกถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังอินอยู่นะ

ก็ทำให้คิดเหมือนกันครับว่าแม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีอะไรๆ จะก้าวไปไกล แม้เราจะทำ CG ได้ไกลเคียงคนจริงๆ แค่ไหน แม้เราจะเนรมิตอะไรๆ ได้มากเพียงใด แต่เทคนิคการเล่ายังคงเป็นเรื่องสำคัญครับ ขอเพียงมีจังหวะการเล่าที่ดีแล้ว แม้วิธีการเล่าจะดูเก่าหรือเชยแค่ไหน มันก็จะไม่ลดทอนความดีของเรื่องราวนั้นลง

และกับการ์ตูน Ghibli เรื่องนี้ ทีมงานเลือกใช้เทคนิคการวาดภาพพู่กันครับ ลายเส้นในเรื่องจึงแตกต่าง ได้อารมณ์สวยงามพลิ้วไหวไปอีกแบบ ชนิดที่ว่าใครรักลายเส้นเก่าๆ สวยๆ ล่ะก็ คงชื่นชอบหนังเรื่องนี้ได้แบบไม่ยากเย็น

หนังก็จับเอาตำนานเจ้าหญิงคางุยะมาบอกเล่าครับ แต่ดูจะมีรายละเอียดมากขึ้น คือจุดเริ่มต้นก็คือคุณตาเข้าป่าไปตัดไผ่ แล้วก็เจอหนูน้อยโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน เขาเลยพาเจ้าหนูกลับไปเลี้ยงดูที่บ้านกับยาย แล้วหนูน้อยก็เติบโตขึ้นท่ามกลางการเลี้ยงดูด้วยความรัก

แต่พอถึงจุดหนึ่งชีวิตหนูน้อยก็เปลี่ยนไปเมื่อเธอต้องเผชิญกับสังคมที่ซับซ้อนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเรื่องชนชั้น ยศฐาบรรดาศักดิ์ เรื่องวัตถุนิยม จนนำมาสู่บทสรุปที่ใครเคยฟังนิทานเรื่องนี้ก็น่าจะทราบกันน่ะนะครับ แต่หากใครยังไม่เคยผมก็จะไม่สปอยล์ตรงนี้ ลองไปรับชมกันต่อนะครับ

หนังมีอะไรมากกว่าที่คิดครับ ตอนแรกคิดว่าจะเป็นการ์ตูนน่ารักๆ ชวนประทับใจอะไรแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงนี่คือการ์ตูนสะท้อนสังคมแบบชัดเจนเลยครับ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นการสะท้อนความจริงของสังคม ค่านิยม และวัฒนธรรมของมนุษย์ ดังนั้นใครคาดหวังการ์ตูน Feel Good ล่ะก็ ไม่ใช่เรื่องนี้ครับ

หนังจับเอาประเด็นการเทิดทูนเงินทอง ทรัพย์สิน ยศฐา มาเสียดสีเป็นส่วนใหญ่ครับ ตอนต้นๆ อาจยังไม่ค่อยมีอะไร แต่พอเจ้าหญิงโตเป็นสาวเท่านั้นล่ะ ประเด็นนี้มาเต็มๆ เลย และมาแบบไม่ทันตั้งตัวด้วย คือใจไม่นึกน่ะครับว่าจะจับเอาประเด็นพวกนี้มาเสียดสีกันแบบเต็มๆ ในการ์ตูนภาพสวยแบบนี้

จะว่าไปมันก็เป็นอะไรที่ย้อนแย้งกันดีครับ เพราะภาพวาดในเรื่องนั้นสวยงาม และเป็นอะไรที่ดั้งเดิม ในขณะที่การเสียดสีสังคมนั้นเหมือนจะเอาสังคมในปัจจุบันของญี่ปุ่น (และแน่นอนว่าหลายๆ ประเทศในโลกก็เป็นกัน) มาใส่ลงไป โดยเฉพาะเรื่องชนชั้นกับอาการบ้าวัตถุ หรือการใช้ชีวิตแบบ “เหมือนจะมีความหมาย” แต่แท้จริงแล้วกลับกลวงโบ๋

หรือคนบางคนที่เหมือนจะมีวาทะลึกซึ้งคมบาด เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่เข้าใจในวาทะที่เตนเอ่ยอย่างลึกซึ้งแท้จริง อะไรเหล่านี้ถ้ามองลึกๆ ก็จะรู้สึกล่ะครับว่าเหมือนทีมงานพยายามจะบอกเป็นนัยๆ ให้เราเพ่งมอง “ความน่าขันหลายๆ ประการของค่านิยมปัจจุบัน” และชี้ชวนผ่านลายเส้นโบราณให้เรานึกถึงรากเหง้าดั้งเดิมบางประการที่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งที่ค้ำจุนสังคมให้ยืนยาวมาได้ถึงป่านนี้

ถือเป็นอีกหนึ่งการ์ตูนที่น่าจดจำครับ และถือเป็นความกล้าของทีมงานที่สร้างสรรค์เรื่องราวแบบนี้ด้วยลายเส้นแบบนี้ จัดว่าเป็นผลงานที่น่าดูเลยล่ะครับ เพียงแต่ในแง่ความสนุกแบบบันเทิงนั้น หนังอาจไม่ได้ตอบโจทย์ที่ว่าสักเท่าไร อย่างผมเองดูไปก็ยอมรับครับว่าชอบลายเส้น ชอบสาระ แต่กับตัวเนื้อเรื่องนั้นด้วยความที่หนังเสียดสีด้านลบของสังคมไว้เยอะ เลยทำให้อารมณ์ระหว่างดูมันไม่ได้ครื้นเครงหรือแฮ้ปปี้สักเท่าไร

คือไม่ใช่ทำออกมาไม่ดีนะครับ จริงๆ ต้องถือว่าดีนั่นแหละที่หนังนำเสนอด้านน้ำเน่าของสังคมได้แบบตรงๆ จนเราเองยังรู้สึกรำคาญกับเรื่องพวกนี้ระหว่างดู แต่ก็เพราะเหตุนั้นน่ะครับ อารมณ์ระหว่างดูมันเลยไม่ใช่ความเพลิดเพลินยินดี แต่มันจะออกแนว “มนุษย์นี้หนอช่างวุ่นวาย” มากกว่า

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)