WEST SIDE STORY: เวสต์ ไซด์ สตอรี่ 2021

คอหนังเก่า โดยเฉพาะแนวมิวสิคัล และแฟนบรอดเวย์ทั้งหลาย อาจรู้จัก West Side Story มาตั้งแต่สมัยฉบับละครเวทีปี 1957 หรือฉบับภาพยนตร์ปี 1961 ของ Robert WIse แต่สำหรับเรา เราเพิ่งได้รู้จัก West Side Story ครั้งแรกจากผลงานของ Steven Spielberg ในปี 2021 นี้นี่แหละ

เราไม่ใช่ทั้งคอหนังแนวมิวสิคัลและบรอดเวย์ และไม่เคยอ่านหนังสือออริจินัลของ Arthur Laurents แต่เคยอ่านและดูงานที่เป็น inspiration ของ West Side Story อย่าง Romeo and Juliet ของ William Shakespeare ซึ่งเนื้อเรื่องออกแนวโศกนาฏกรรมรักต้องห้ามแบบที่เราไม่ค่อยชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจึงสรุปไว้ล่วงหน้าก่อนได้เลยว่า West Side Story ไม่ใช่หนังสไตล์เราอย่างแน่นอน

แต่ด้วยเวทมนตร์วิเศษของพ่อมดในตำนานแห่งวงการฮอลลีวู้ด กับการเขียนบทดัดแปลงโดย Tony Kushner (ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Lincoln และ Munich) ทำให้เราดูหนังมิวสิคัลแนว Romeo and Juliet ได้เพลิน ๆ จนจบ และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องทนทุกข์อยู่กับสองชั่วโมงครึ่งอันทรมานแต่อย่างใด (ถึงแม้คนที่นั่งข้าง ๆ เรา เขาออกจากโรงไปตั้งแต่องก์แรก และไม่กลับเข้ามาอีกเลยก็ตาม)

นอกจากนี้ ถึงแม้พล็อตจะดูอิงมาจากตำนานรักต้องห้าม แต่จริง ๆ แล้ว หนังให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรง ความเกลียดชัง การเหยียด และการล้างแค้น รวมถึงการยกพวกตีกัน ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ส่งผลดีต่อใครหรืออะไรเลย มีแต่จะสร้างความเสียหายและสูญเสียอย่างไม่รู้จบ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว ประเด็นนี้จะเด่นชัดกว่าเรื่องความรักของพระนางเสียอีก

The Jets

ความร่วมสมัยของ West Side Story ที่แตกต่างจาก Romeo and Juliet คือ ตัวพระกับตัวนางมีความแตกต่างกันเรื่องเชื้อชาติ-สีผิว และมาจากสองแก๊งที่เป็นอริกันในย่านสลัมของมหานครนิวยอร์ก โดยเซตติ้งของเรื่องอยู่ช่วงปลายยุค ’50 ซึ่งกำลังมีการไล่ที่และรื้อถอนสลัม เพื่อเตรียมการก่อสร้าง Lincoln Center และอพาร์ตเมนต์หรูของคนรวย

ตัวพระหรือ Tony (Ansel Elgort จาก Baby Driver) เป็น co-founder และเพื่อนสนิทของ Riff (Mike Faist) หัวโจกแก๊ง Jets ซึ่งเป็นกลุ่มคนขาวเชื้อสายยิว ไอริช และอิตาเลียน แต่เป็นผลผลิตของครอบครัวที่ไม่เอาไหนและถูกสังคมทิ้งขว้าง แต่ทำตัวเป็นเจ้าถิ่น วัน ๆ ดีแต่เที่ยวเหยียดและระรานพวกคนละติน อย่างที่เราจะเห็นได้จากฉากเปิดเรื่องที่เดินเต้นราวกับเป็นเจ้าของถนนและเอาสีไปสาดธงชาติของคู่อริ

ส่วนตัวนางหรือ Maria (Rachel Zegler นักแสดงหน้าใหม่และว่าที่สโนว์ไวท์คนต่อไป) เป็นน้องสาวคนเดียวของ Bernardo (David Alvarez) หัวหน้าแก๊ง Sharks ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อพยพจากเปอร์โตริโก้ ถึงแม้จะยากจนและย้ายมาอเมริกาทีหลัง แต่ก็ขยันทำมาหากินและพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว เช่น Chino (Josh Andrés Rivera) ว่าที่คู่หมั้นของ Maria ก็เรียนบัญชีและต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย และ Anita (Ariana DeBose) ว่าที่พี่สะใภ้ของ Maria ก็ตัดเย็บผ้าเพื่อเลี้ยงชีพ

แก๊ง Jets กับแก๊ง Sharks มีเรื่องกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน แต่จะเห็นได้ชัดว่า ตำรวจนิวยอร์กซึ่งเป็นคนขาว อย่างหมวด Schrank (Corey Stoll) และจ่า Krupke (Brian d’Arcy James) มักจะเข้าข้างแก๊ง Jets มากกว่าเสมอ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “ภาษา” มากกว่า “เชื้อชาติ” หรือ “สีผิว”

ตลอดเรื่อง คนขาวต้องย้ำพวกเปอร์โตริโก้อยู่บ่อย ๆ ว่า ให้พูดภาษาอังกฤษ เพราะพวกเขายังติดพูดภาษาสเปนกันอยู่เสมอ แม้แต่คนเปอร์โตริโก้อย่าง Anita เอง ก็พยายามเคี่ยวเข็ญให้ Bernardo กับ Maria พูดภาษาอังกฤษเสมอถึงแม้ว่าจะอยู่ในบ้าน เพราะเธอรู้ดีว่า ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ได้รับการยอมรับจากคนขาวและคนอเมริกัน

สิ่งหนึ่งที่ขัดใจคนดู แต่ก็เป็นความตั้งใจอันดีของผู้กำกับ นั่นก็คือ การไม่ใส่ซับไตเติลใดใดเลยเวลาตัวละครพูดภาษาสเปน แน่นอนว่า คนดูที่ไม่รู้ภาษาสเปนย่อมรู้สึกหงุดหงิดและงุนงงเพราะไม่เข้าใจว่าตัวละครพูดว่าอะไร แต่ถ้าตั้งใจมากพอ ก็พอจะเข้าใจได้ จากการเดา ๆ จากบริบทและอวัจนภาษา

ทั้งนี้ Steven Spielberg ที่ให้คนละตินแท้ ๆ มารับบทกลุ่มเปอร์โตริโก้ทุกคน (ไม่ใช่เอาคนขาวมาเมคอัพเป็นคนละตินอย่างเวอร์ชั่นก่อน) ต้องการโปรโมท inclusivity และเคารพภาษาสเปน โดยไม่ให้ภาษาอังกฤษมีอำนาจเหนือกว่าภาษาสเปนโดยการใส่ซับไตเติล (อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Indiewire) ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ มันอิมแพคอย่างมาก มันให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นคนต่างด้าวที่ไม่เข้าใจภาษานั้นเอาเสียเลย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีความ universal ที่เรายังสามารถสื่อสารและเข้าใจกันได้อยู่

Tony And Maria

มนต์ขลังอีกอย่างหนึ่งของ West Side Story เวอร์ชั่นนี้ก็คือ Rita Moreno นักแสดงวัย 90 ปี ที่เคยแสดงและได้ออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากบท Anita ใน West Side Story ฉบับปี 1961 กลับมารับบท Valentina ผู้เป็นป้าสะใภ้ของ Tony ด้วย โดยบทของป้ามีความพิเศษตรงที่ ป้าเป็นหญิงเปอร์โตริโก้ที่มาแต่งงานกับลุงของ Tony ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน และป้ามีคำคมสอนหลานสั้น ๆ ที่ประทับใจเรา เช่น “Life matters even more than love.” และ “You don’t wanna start with, maybe, “I’d like to take you out for coffee?”

นอกจากนี้ ยังมีตัวละคร non-binary ที่อยากได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของแก๊ง Jets แสดงโดย Iris Menas นักแสดง non-binary จริง ๆ (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังโดนแบนในตะวันออกกลางไปโดยปริยาย) จากเดิมที่ตัวละครนี้ในหนังฉบับปี 1961 เป็นลุคทอมบอยมากกว่า โดยถ้าย้อนกลับไปที่หนังสือต้นฉบับ ผู้บริหารทรัพย์สินของผู้แต่งผู้มาก่อนกาล ได้กล่าวไว้ว่า ตัวละคร Anybodys เป็นผู้ชายที่เกิดมาในร่างของผู้หญิง หรือเรียกได้ว่า transgender ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งสิ่งที่เราชอบคือ การเลือกใช้สีในหนัง ตั้งแต่ให้สีน้ำเงินแทนกลุ่ม Jets และสีแดงแทนกลุ่ม Sharks และพอมันมาอยู่ด้วยกัน (หรือมาตีกัน) มันได้ภาพที่ตัดกันอย่างสวยงาม ส่วนงานโปรดักชั่นดีไซน์ย้อนยุคต่าง ๆ ก็เป๊ะไม่เสียชื่อ Steven Spielberg อยู่แล้ว

โดยสรุป ถึงแม้เราจะไม่ใช่คนชอบหนังมิวสิคัลและหนังโศกนาฏกรรมรักต้องห้าม แต่เราก็ชื่นชอบในทุก ๆ องค์ประกอบและความสมบูรณ์แบบในด้าน cinematic รวมถึงเพลงต่าง ๆ จนไปถึงความ inclusive ทางด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา และเพศอย่างแท้จริงของ West Side Story เวอร์ชั่น 2021

SHARE THIS: