กางแขนเป็น “โดรน” แต่ไม่แฮนด์บอล

ข่าวใหญ่ประจำวันนี้หนีไม่พ้นการร่วงตกรอบ เอฟเอ คัพ รอบ 4 จากการแพ้ดวลจุดโทษของ แมนฯยูไนเต็ด คา โอลด์แทรฟฟอร์ด ชนิดที่ว่าโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 100 ก็ว่าได้

“ดวงแตก” คือคำนิยามที่สรุปหายนะที่เกิดขึ้นกับเหล่าพลพรรค “ปีศาจแดง” ที่พูดได้ว่ารูปเกมแบบนี้ชนะน้อยยังโกรธแต่นี่ถึงกับแพ้ คงไม่ต้องพูดว่าระดับความร้อนบนหัวจะทะลุไปกี่องศา

โอกาส 30 ต่อ 6 ในอัตราการครองบอล 71%, คริสติอาโน่ โรนัลโด้ ยิงจุดโทษในนาที 20 ไม่เข้า, จอร์ดอน ซานโช่ ชิพชนคานและ บรูโน่ แฟร์นานเดซ ซ้ำจ่อๆข้ามคาน

และโอกาสโล่งๆล่อเป้าที่ผู้รักษาประตูออกมาจากปากประตูของ บรูโน่ คนเดิมก็ยังอุตสาห์ไปชนเสา

ที่ว่ามานี้อย่างต่ำๆต้องสกอร์ 4 เม็ดด้วยซ้ำ!!

ครับทีนี้ดราม่าที่ทำให้มีข่าวใหญ่ว่อนโซเชี่ยลเกิดขึ้นในนาที 64 จาก ดันแคน วัตมอร์ ตัวสำรองที่จับบอลลั่นและทำแฮนด์บอลจนจังหวะต่อเนื่องกลายเป็นประตูตีเสมอ

ตามกฏถ้ามีผู้เล่นทำแฮนด์บอลแต่ไม่ใช่จังหวะการทำประตูทันที (จะแอสซิสต์หรืออะไรก็แล้วแต่) หากเข้าข่ายไม่ได้ “ตั้งใจ” หรือ “accident” จะไม่ถือว่าแฮนด์บอล

ซึ่งการตีขลุม “ไม่ได้ตั้งใจ” มันกว้างเป็นมหาสมุทรและในแง่ของเกมกีฬามันไม่ค่อยยุติธรรมซักเท่าไหร่สำหรับทีมที่เสียผลประโยชน์

ผมอธิบายให้เห็นภาพคือในเคสของ วัตมอร์ คุณภาพฝีเท้าไม่ถึงทำให้จับบอลลั่นห่างตัวเป็นเมตร

ถามว่าแขนที่ตีลูกบอลตั้งใจไหม ไม่แน่นอน มันเกิดจากโมเมนตั้มการจัดระเบียบร่างกายที่กระโดดแล้วต้องทรงตัว

แต่ก็ต้องถามอีกเหมือนกันว่าในความไม่ตั้งใจนั้นแขนที่กางระยะมันกว้างยิ่งกว่ากางปีกโดรน DJI air2s ซะอีก

เคสนี้คุณต้องตัดความไม่ตั้งใจออกแล้วแทนที่ด้วยการใช้แขนช่วย 100%

ตรงกันข้ามถ้าคุณพักอกหรือดูดลง บลาบลา แล้วบอลไปไต่แขนที่กางออกเล็กน้อยซัก 10-20 องศา แบบนี้ก็ยังถือว่าคุณใช้ความสามารถ 70-80% มันก็ยังพอรับได้กับคำว่า “ไม่ได้ตั้งใจ”

อย่างในเคสของการที่ฝ่ายรับกางแขนทำให้ตัวใหญ่กับแขนแนบลำตัวยังตัดสินให้จุดโทษต่างกัน ผมจึงไม่เข้าใจว่ามันยากตรงไหนที่จะตัดสินเป่าให้เป็นแฮนด์บอลในจังหวะนี้

ผมไม่ใช่แฟนผี ผมยกตัวอย่างอันนี้คงไม่น่าเกลียด ลองเปรียบเทียบจังหวะ ซานโช่ ดูดบอลลงแล้วยิง 1-0 กับลูก 1-1 คุณเห็นอะไรไหมครับ

คนนึงทำถูกกติกา(ด้วยทักษะ)แต่อีกคนผิดกติกา(ทักษะไม่ถึง) แต่ได้ประตูเหมือนกัน เป็นผมก็น้อยใจอ่ะบอกตรงๆ

ดังนั้นผมคิดว่ากฏ “ไม่เจตนา” ควรให้เป็นเคสของการแฮนด์บอลที่ไม่ “โจ่งแจ้ง” แบบใช้มือช่วยแบบ 100% แบบนี้

ท้ายที่สุด VAR ก็แค่เทคโนโลยี อำนาจชี้ขาดยังอยู่ที่ผู้ตัดสินเหมือนเดิมและผมค่อนข้างเชื่อว่าหากเป็นผู้ตัดสินคนอื่นหรือเกมอื่นลูกลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป่าแฮนด์แทบทั้งนั้น มันไม่มีเหตุผลใดๆที่จะปล่อยให้เป็นประตูเลยจริงๆครับ

ผมเห็นแว่บๆมีคนที่เห็นด้วยว่าเป็น “ควรแฮนด์” ได้ยกตัวอย่างการทำแฮนด์บอลของ เมสัน กรีนวู้ด ในเกมที่ แมนฯยูฯ บุกไปเสมอ อตาลันต้า 2-2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน

ผมกลับมองว่ามันคนละเคสกัน อันนั้นเป็นการแย่งบอลแล้วผู้เล่น อตาลันต้า สกัด
ไปถูกแขน MG (ที่หลับตาเบือนหน้าหนี) แต่ วัตมอร์ พยายามจับบอลเพื่อทำประตู ฝ่ายแรกยังไม่ได้ครอบครองบอลด้วยซ้ำ

เอาจริงๆถ้าใช้มาตรฐานนี้อนาคตต่อไปคุณตัดสินลำบากนะเพราะนักเตะจับไม่ดีบอลถูกแขนลักษณะท่าทางส่วนใหญ่มักออกมาไม่ได้เจตนาเหมือนกันหมด

ผมดูกระแสในโซเชี่ยลแทบจะไปในทิศทางเดียวกันคือ “สงสาร” แมนฯยูไนเต็ด ขนาดเหล่าแฟน “หงส์” ที่แทบจะไม่เผาผียังโกรธแทนเพราะถ้าออกมาแนวนี้ซักวันต้องโดนกันไม่ทีมใดก็ทีมนึงแน่ๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็น “ดราม่า” ก็ส่วนนึงแต่ที่ต้องกล่าวโทษคือตัว “ปีศาจแดง” ควรปิดเกมเล่นชิวๆกับโอกาสที่มีร่วม 30 ครั้งไปตั้งนานแล้ว

แฟนบอลไม่มีอะไรดูมาร่วม 2 สัปดาห์กับพักเบรกทีมชาติแถมมีเรื่องฉาวที่ทำให้สโมสรถึงกับสั่นคลอนอย่างเคสของ เมสัน กรีนวู้ด โผล่มาดูทีมรักอีกทีบ้านแตกซะงั้น

จะว่าไปแล้วถ้วย เอฟเอ คัพ เป็นช่องทางธรรมชาติเดียวที่เหลืออยู่ของ ยูไนเต็ด ด้วยซ้ำ เพราะ UCL ยังต้องเจอเสือสิงห์กระทิงแร่ดอีกเยอะ ศักภาพของทีมชุดนี้ยังไม่พร้อมสำหรับความสำเร็จในระดับนี้

เป็นการเปิดหัวปี 2022 ที่หนักหนาสาหัสจริงๆครับสำหรับ “ปีศาจแดง”