ฟีฟ่านำระบบช่วยจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติมาทดสอบในฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้การตัดสินเกิดขึ้นภายใน 3 วินาทีไม่ต้องรอกันนาน
เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากฟีฟ่า และนำมาทดสอบในทัวร์นาเมนต์ระหว่างทวีป หวังช่วยลดระยะเวลาดีเลย์ในจังหวะล้ำหน้าที่ก้ำกึ่ง
หากการทดสอบเป็นไปด้วยดี พวกเขาอาจนำเทคโนโลยีมาใช้ก่อนที่จะถึงศึกฟุตบอลโลกในกาตาร์ช่วงสิ้นปี
แฟนบอลไม่พอใจกับการขัดจังหวะของ VAR ที่ทำให้เกมต้องชะงักไปในหลายๆหน หลังคนคุม VAR ต้องมานั่งตีเส้นว่ามีการล้ำหน้าเกิดขึ้นหรือไม่
กระนั้นฟีฟ่าหวังว่าเทคโนโลยีนี้, ซึ่งจะมีการนำเอไอและกล้องเฉพาะจุดมาใช้, จะช่วยลดระยะเวลาดังกล่าวลงและตัดสินได้ทันทีว่าจังหวะที่เกิดขึ้นคือจังหวะล้ำหน้าหรือไม่
เทคโนโลยีนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “โกลไลน์” ที่ใช้ระบบฮอว์คอายมาช่วยตัดสินกันทันทีว่าฟุตบอลข้ามเส้นประตูหรือไม่ แต่การจับล้ำหน้าเป็นเรื่องยากกว่าเพราะจุดที่เกิดการล้ำหน้านั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ปิแอร์ลุยจิ คอลลินี่ ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินของฟีฟ่ายืนยันว่ากรรมการในสนามยังเป็นคนตัดสินชี้ขาด และไม่ควรนำเทคโนโลยีนี้ไปเปรียบว่าผู้ตัดสินคือหุ่นยนต์
“ผมรู้ว่าการเล่นประเด็นนี้ว่าเป็น ‘หุ่นยนต์จับล้ำหน้า’ หรืออะไรทำนองนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่มันไม่ใช่แบบนั้น คุณเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเพียงเครื่องมือง่ายๆที่ช่วยเหลือมนุษย์” คอลลินี่ กล่าว
“ผลการจับล้ำหน้าจะไม่ได้ข้ามหน้าข้ามตาผู้ตัดสินในสนาม, เจ้าหน้าที่นอกสนาม พวกเขามีส่วนร่วมต่อการตัดสินและพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบในคำตัดสินสุดท้าย”
“มันเป็นเพียงแค่เครื่องมือน่ะ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาลง, ช่วยให้ตัดสินกันได้ไวขึ้น”
“ส่วนสุดท้าย, แอนิเมชั่น, สื่อถึงเรื่องความน่าเชื่อถือมากกว่า คนจะเข้าใจจากภาพที่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นและเชื่อในการตัดสินใจมากขึ้น ถ้าคุณไม่เข้าใจเพราะคุณไม่ได้เห็นชัดๆว่ามันเกิดอะไรขึ้น, คุณก็จะเริ่มกังขาในการตัดสิน”