ถึงแม้ว่า SLR กล้อง ติด ตาย จะได้นักแสดงวัยรุ่นสุดฮอตอย่าง นนน กรภัทร์ และ เฌอปราง อารีย์กุล มาแสดงนำ แต่ดูเหมือนว่ากระแสแฟนคลับก็ไม่อาจจะทำให้หนังเรื่องนี้ ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ส่งผลให้รายได้สุดสัปดาห์ หนังทำเงินไปที่ประมาณ 2 ล้านปลายๆเท่านั้น*
SLR มีหน้าหนังเป็นหนังสยองขวัญเกี่ยวพันกับเรื่องราวลึกลับ ว่าด้วยกล้อง SLR สุดอาถรรพ์ที่นำพาชีวิตของวัยรุ่นอย่างแดน (นนน กรภัทร์) ต้องเข้าไปพัวพันกับความตาย ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ความชั่วร้ายที่เป็นต้นตอของความสะพรึงทั้งมวลมีความเป็น “สากล” และดูเป็นตะวันตกอย่างชัดเจน
ต่อจากบรรทัดนี้ไปมีการเปิดเผยจุดสำคัญของภาพยนตร์ หากไม่อยากให้อรรถรสในการรับชมลดลงควรปิดบทความนี้ก่อนครับ
ผู้ชมจะได้รับทราบตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ตัวเอกอย่างแดนนั้นกำลังเผชิญกับสถานการณ์บีบคั้น เมื่อตัวเขาเองพยายามจะทำธีสิสจบการศึกษา และที่เขาฝันไกลกว่านั้นคือการได้รับ “เกียรตินิยม” เพื่อเป็นใบเบิกทางให้ตัวเขา สามารถได้รับการพิจารณาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก ประเทศอเมริกา แรงบีบคั้นที่ทำให้เขารู้สึกว่าปีนี้ตัวเองต้องจบการศึกษาให้ได้ คือสองเพื่อนสนิทอย่าง น้ำ (เฌอปราง) และเกรท (นนท์ ศดานนท์) เรียนจบเรียบร้อยและมหาวิทยาลัยเมืองนอกรับทั้งสองเข้าศึกษาต่อแล้ว
เมื่อแดนได้รับข้อเสนอจากอาจารย์เอม ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (นพพันธ์ บุญใหญ่) ให้นำกล้อง SLR ไปถ่ายภาพคน 7 คน เพื่อ บันทึกภาพห้วงอารมณ์ของคนที่ถูกถ่ายให้ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ โดยหลังจากที่แดนตัดสินใจ เลือกถ่ายภาพนักกีฬาวีลแชร์คนพิการ เขาก็ได้รับคำชื่นชมจากอาจารย์เอมทันทีว่างานของเขา โดดเด่นและน่าสนใจ โดยที่แดนไม่รู้เลยว่า การลั่นชัตเตอร์ครั้งนี้จะทำให้นักกีฬาวีลแชร์ถึงแก่ความตายอย่างน่าสะพรึง
อันที่จริง คนดูพอจะคาดเดาได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าตัวละครอย่างอาจารย์เอมนั้น น่าจะเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายบางอย่าง และเมื่อเขาได้หยิบยื่นกล้อง SLR ให้กับตัวเอกอย่างแดนนั้น เราสามารถเปรียบเปรยมันได้เทียบเท่ากับคำท้าทายและข้อเสนอสุดเย้ายวนใจ ว่าถ้าหากแดนอยากจะประสบความสำเร็จในการเรียน อาชีพการงาน และอนาคต บางทีสิ่งที่เขาต้องแลกอาจจะต้องเอาวิญญาณของตัวเองเป็นเดิมพัน และฉกฉวยประโยชน์จากความเดือดร้อน (ความตาย) ของคนอื่นด้วยเช่นกัน
ในโมเมนต์ที่ตัวละครอยู่ระหว่างทางแยกของชีวิต หุบห้วงที่เขาต้องตัดสินใจมอบความตายให้กับคนใกล้ตัว (แม้ว่าเขาจะรู้ดีอยู่แล้วว่าคนๆนั้นกำลังจะสิ้นลมในอีกไม่ช้า) แต่เขาก็ไม่รีรอที่จะใช้ประโยชน์จากความตายครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า ในห้วงจังหวะนึงของชีวิต “วัยรุ่น” อย่างแดนก็พร้อมที่จะแลกทุกอย่างเพื่อฝันของตัวเองเช่นกัน
บางทีหนังอย่าง SLR อาจจะเป็นภาพสะท้อนของวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบัน ที่พยายามจะกระเสือกกระสน สร้างตัวตนของตัวเอง และมองหาอนาคต “ที่ดีกว่า” ท่ามกลางสภาพสังคมการเมืองที่ไม่เอื้อโอนให้พวกเขาจะทำความฝันของตัวเองให้เป็นรูปธรรมได้สักที ก็ได้