อาบัติ (2015) Arpat

13770502_1270807399616725_3714474717121521297_n

สารภาพว่าทุกวันนี้ตอนเปิดอาบัติดูทีไร ผมยังขำไม่เลิกเมื่อชื่อหนังขึ้นไตเติ้ลว่า “อาปัติ” และทุกวันนี้เวลาเจอเพื่อนทีไร ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบเรื่องนี้มาพูดแบบฮาๆ

แต่แม้จะฮาแค่ไหน ก็ขอให้เชื่อเถอะครับว่าเอาจริงๆ แล้ว ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ชวนให้ขำแบบสลดยังไงก็ไม่รู้ T-T

หลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องศาสนา แต่เอาเข้าจริงนี่คือหนังผีนี่แหละครับ หนังผีแนวลึกลับ มีความสยองเจือปน มีปมให้ติดตาม มีการหักมุมให้คนดูอึ้งอะไรประมาณนั้น แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงมีปัญหา ก็คงเพราะตัวละครหลักเป็นพระ และมีเรื่องว่าด้วยสีกาเจือเข้ามาพอสมควร

กระนั้นแม้จะมีการเซ็นเซอร์หรืออะไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็พูดได้เต็มปากครับว่าเป็นหนังไทยที่มีดีอีกเรื่องหนึ่ง ตัวเอกคือซัน (ชาลี ไตรรัตน์) หนุ่มคะนองที่มาบวช แล้วก็เจอกับเรื่องราวน่ากลัว เจอผีลึกลับปรากฏ เจอคนเสียสติมาสร้างความสะพรึง แล้วก็เจอสาวน้อยที่เขารู้สึกมีใจให้

อย่างที่บอกครับว่าแกนหลักคือหนังผี ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ ดูน่ากลัว ลึกลับ สยองแบบกินบรรยากาศ มีตุ้งแช่บ้างพอกล้อมแกล้ม โดยรวมแล้วในฐานะหนังผีสักเรื่องก็ถือว่าดูสนุก

ในแง่หนังลึกลับสืบสวนตามปม ก็ถือว่าน่าติดตามดีครับ ปมในเรื่องก็น่าสนใจอยู่ การคลี่คลายปมก็ถือว่าพอเหมาะ และหลายๆ ปมก็สามารถนำมาร้อยเรียงกับเรื่องราวชีวิตของเณรซันได้อย่างน่าสนใจไม่ใช่น้อย

เป็นหนังที่ดูแล้วโอเคกว่าที่คิดครับ ตอนแรกก็ไม่ได้อยากดูอะไร แต่พอดูแล้วก็ยอมรับในความน่าสนใจของมัน แน่นอนว่าหนังไม่ได้มาพร้อมความแปลกใหม่อะไร (นอกจากคำว่า “อาปัติ” ที่แปลกใหม่สำหรับผม 555) แต่อย่างน้อยหนังก็สามารถเล่าเรื่องราวตามสูตรเดิมๆ ได้อย่างน่าพอใจ

ดาราในเรื่องแสดงกันได้ดีทุกคนครับ ไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ส่วนผู้กำกับ คุณขนิษฐา ขวัญอยู่ ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีครับ การถ่ายทอดและจังหวะหนังถือว่าออกมาดี โดยรวมจึงคุ้มค่าแก่การชม

ขณะเดียวกันหนังก็มีประเด็นสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างครับ อย่างคำถามที่เณรซันตั้งว่าหากพระทำผิดแล้วท่องๆ เพื่อปลงอาบัติแค่นี้ก็จบแล้วเหรอ อันนี้ก็นับว่าน่าคิดเหมือนกัน

พอมาย้อนมองดูก็พบว่าสังคมทุกวันนี้คนเราพยายามหา “ทางลัด” อะไรสักอย่างที่จะทำให้เราพ้นผิดพ้นเวรหรือพ้นกรรมแบบไม่ต้องออกแรงมาก เช่น ถ้าช่วงนี้ชีวิตไม่ดี ก็อยากได้วิธีแก้กรรมแบบง่ายๆ ที่แก้แล้วได้ผลเลย ชีวิตดีขึ้นทันตาเห็น

หรือถ้าอยากรวยก็แค่ทำบุญมากๆ ถ้าอยากทำงานแล้วรุ่งก็แค่ไปไหว้พระวัดนั้นวัดนี้ที่ว่ากันว่าจะสามารถช่วยได้ หรือไม่ก็ไปบนบานศาลกล่าวขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดลบันดาลสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตของเราโดยเร็ว

เรื่องเหล่านี้พอมองแล้วผมก็รู้สึกว่ามันดูจะเกี่ยวเนื่องกับการที่คนไทยชอบข้ามถนนตรงไหนก็ได้, ทิ้งขยะที่ไหนก็ได้, แซงคิวทุกครั้งที่อยากทำ, ขับรถเบียดเลนตรงคอสะพาน, ขับรถปาดทีเดียว 3 เลน, ขี่มอเตอร์ไซค์บนฟุตบาท, ชอบเล่นหุ้นแบบได้เงินตอบแทนเร็วๆ ขึ้นลงไวๆ (จนติดดอยกันไปมากต่อมาก) ฯลฯ

ดูเหมือน “ทางลัด” จะเป็นเมกะโปรเจคท์ที่คนไทยส่วนมากพยายามมีเป็นของตัวเอง

และคงไม่เกินจริงหากจะบอกว่าทุกวันนี้ทุกคนพยายามสร้างทางลัดส่วนตัวในทุกโอกาสที่ทำได้ ท่ามกลางระบบระเบียบของประเทศที่เหลวแล้วแหลกอีก บ้านเราสกปรกมากขึ้น, น้ำท่วมกันง่ายขึ้น, มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก, คนทะเลาะง่ายกันมากขึ้น ฯลฯ

“ทางลัด” อาจทำให้คนหนึ่งคน “สะดวก” เป็นการส่วนตัว แต่ก็สร้างความ “สะดุด” ให้กับประเทศได้ในเวลาเดียวกัน

ตอนนี้ชักไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าจะเรียกมัน “ทางลัด” หรือ “ทางเละ” ดี

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)