‘ผู้จัดกาตาร์’ ชี้ปลอกแขนหนุน LGBTQ+ ‘สร้างความแตกแยก’

ฮัสซัน อัล ทาวาดี เลขาธิการฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ กาตาร์ บอกว่าปลอกแขนสนับสนุน LGBTQ+ ซึ่งหลายชาติเคยวางแผนจะใส่ แสดงออกถึงข้อความที่สร้างความแตกแยก และขอให้ผู้มาเยือนทำความเข้าใจค่านิยมของพวกเขา

ก่อนเริ่มฟุตบอลโลก เหล่าทีมชาติจากยุโรปทั้ง อังกฤษ, เวลส์, เยอรมนี, เดนมาร์ค, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์ และ เนเธอร์แลนด์ วางแผนจะสวมปลอกแขนเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศภายใต้โครงการ OneLove

อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องล้มเลิกโครงการไป ภายหลังไม่ได้รับอนุญาตจาก ฟีฟ่า และมีความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษหากทำแบบนั้น ขณะที่ กาตาร์ ระบุให้การรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัล ทาวาดี ให้สัมภาษณ์กับ talkSPORT พูดถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว

“นั่นเป็นการตัดสินใจของ ฟีฟ่า โดยที่ผมไม่ได้มีส่วนร่วม”

“นโยบายของ ฟีฟ่า คือการให้ใส่ปลอกแขนที่แสดงออกโดยครอบคลุมหลายประเด็นอย่างมีความยั่งยืน”

“ผมไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับผม ถ้ามีทีมไหนตัดสินใจสวมปลอกแขนนั้นตลอดทั้งฤดูกาล มันก็ไม่มีปัญหา”

“แต่ถ้าพวกเขามาที่นี่เพื่อแสดงออกถึงบางประเด็นใน กาตาร์, นั่นคือสิ่งที่ผมมีปัญหา”

“เรื่องมันย้อนกลับไปที่ข้อเท็จจริงอันเรียบง่าย ว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งมีค่านิยมเป็นของตัวเอง, ไม่ใช่แค่ กาตาร์ แต่ผมกำลังพูดถึงโลกของชาวอาหรับ”

“ทีมทั้งหลายมีสิทธิแสดงออกถึงเรื่องต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่คุณทำคือคุณกำลังประท้วงที่ประเทศมุสลิมได้เป็นเจ้าภาพ แล้วจุดสิ้นสุดมันจะอยู่ที่ตรงไหน?”

“โลกนี้ต่างมีค่านิยมและมุมมองที่แตกต่างกันไป หรือคุณหมายความว่าเหล่าประเทศมุสลิมจะไม่มีวันได้เป็นเจ้าภาพ?”

“ดังนั้นเมื่อคุณมาที่นี่เพื่อแสดงออกถึงแนวคิดบางอย่างในกาตาร์ หรือมุ่งเป้าไปที่ กาตาร์ และโลกของอิสลามโดยเฉพาะ แน่นอนว่าผมต้องมีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะนั่นเป็นข้อความที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างมาก”

อัล ทาวาดี ถูกถามเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่มีผู้มาเยือน กาตาร์ เพื่อรับชมฟุตบอลโลกหลายราย ถูกเจ้าหน้าที่สั่งยึดเครื่องแต่งกายที่มีสีรุ้ง

“เราบอกตั้งแต่วันแรกแล้วว่าเราพร้อมให้การต้อนรับทุกคนที่ กาตาร์ แต่เราก็ขอให้ผู้คนที่มาที่นี่เคารพวัฒนธรรมและศาสนาของเราเช่นกัน”

“นั่นไม่ใช่แค่ศาสนาหรือวัฒนธรรมของชาว กาตาร์ เพราะค่านิยมเหล่านั้นคือระดับภูมิภาค, นั่นเป็นค่านิยมของโลกอิสลามและชาวอาหรับในตะวันออกกลาง”

“เราต้องการให้คนทุกชีวิตทั่วโลกมาที่นี่เพื่อมีส่วนร่วม, ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีช่วงเวลาที่ดี”

“แต่ประเด็นนี้ (การสนับสนุน LGBTQ+) เป็นประเด็นที่ซับซ้อน, สำหรับเรา หรืออย่างน้อยก็สำหรับส่วนนี้ของโลก เรามีค่านิยมพื้นฐานของศาสนาโดยเฉพาะ”

“เราอาจไม่เห็นตรงกันในทุกเรื่อง แต่นี่คือสิ่งเราต้องการ, เราต้องการให้โลกมองเห็นเรา, ทำความรู้จักและเข้าใจเรา”

“นั่นจะยิ่งทำให้เราสามัคคีกันมากกว่าเดิม เรามีจุดยืนร่วมกันมากขึ้น และเราต้องหาจุดยืนร่วมกันเพิ่มอีก เพื่อที่จะหาวิธีอยู่ร่วมกันในอนาคต, นั่นจะทำให้เรามีความเคารพซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐาน”