Break Up 100 เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่ผมเอามาดูซ้ำรอบ 2 ในเวลาเพียงไม่กี่วันครับ เพราะหลังจากดูรอบแรกแล้วมันมีอะไรบางอย่างติดอยู่ในความรู้สึก ขณะเดียวกันใจก็บอกไม่ถูกเกี่ยวกับหนัง คือบางอย่างเราก็ชอบนะ แต่บางอย่างก็รู้สึกว่ายังดีได้อีก พอคำถามและความรู้สึกมันวนเวียนอยู่ในหัว ก็เลยหาเวลาดูมันอีกรอบ ให้คำตอบมันกระจ่างยิ่งขึ้น… และผลก็คือ ผมว่าผมชอบหนังเรื่องนี้อยู่พอสมควรแฮะ แม้จะไม่ถึงกับชอบมากๆ ก็เถอะ
ตัวเอกของเรื่องคือ เซิน (เจิ้งอี้เจี้ยน, Ekin Cheng) กับหลัน (โจวซิ่วน่า, Chrissie Chau) คู่รักที่ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ร่วมกัน แล้วไปๆ มาๆ ร้านของพวกเขาก็กลายเป็นสักขีพยานการเลิกรากันของคู่รัก หรือไม่บางคนก็มาระบายความช้ำรักให้พวกเขาฟัง จนในที่สุดพวกเขาก็ปิ๊งไอเดียทำที่รับฝากของเกี่ยวกับความรักที่ชอกช้ำ ให้คนที่ทิ้งของเหล่านั้นไม่ลงมาเช่าที่ฝากของไว้ในร้าน
ส่วนชื่อเรื่อง Break Up 100 นั้นก็เป็นเพราะเซินกับหลันรักๆ เลิกๆ กันอยู่เป็นประจำครับ ประมาณว่าเลิกกันมา 99 ครั้งแล้วก่อนจะเปิดร้าน แล้วทีนี้การเลิกครั้งที่ 100 ของพวกเขาจะเกิดจากอะไร และจะไปจบลงตรงไหน ก็หาคำตอบได้จากในหนังครับ
ผมชอบไอเดียหลายๆ อย่างในหนังนะ อย่างชั้นรับฝากของสำหรับคนที่เลิกกัน หรือการที่พอมีคนช้ำรักมาที่ร้านบ่อยๆ พวกเขาเลยทำกาแฟซิกเนเจอร์ออกมาในชื่อ กาแฟเลิกกัน (Break Up Coffee) ที่ได้รสชาติความช้ำรัก แล้วมีระดับให้เลือกอีก ใครช้ำธรรมดาก็ช็อตเดียว ใครช้ำมากก็ใส่ 3 ช็อตเอาให้ขมขึ้นตากันไปเลย รวมถึงมุกตลกที่หนังแทรกลงมาเป็นระยะ บางมุกก็เข้าท่าดี แอบสะท้อนหรือบางครั้งก็เสียดสีเรื่องความรักได้ไม่เลว
หนังเดินเรื่องโดยมีแกนหลักคือเรื่องความรักของเซินกับหลัน แล้วก็จะมีเหตุการณ์เรื่องรักๆ ของตัวละครอื่นแทรกลงมา รสชาติเหมือนหนังรวมเรื่องสั้นน่ะครับ มีเหตุการณ์สั้นๆ มาร้อยเรียงกัน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เลว เพียงแต่หนังอาจยังไม่ถึงขั้นดีสุดๆ จนห้ามพลาดอะไรแบบนั้น คือดูได้เพลินๆ น่ะครับ
หนังกำกับโดย เจิ้งตันยุ่ย (Lawrence Cheng) ดาราหน้าแว่นที่คอหนังจีนชุด TVB สมัยก่อนอาจจำได้จาก จอหงวนร้อยเหลี่ยม (หรือภาค 2 ที่ใช้ชื่อ ทนายปากทอง) และในเรื่องนี้เขายังโผล่มารับเชิญด้วย เป็นคุณตำรวจแว่นที่ชอบเดินผ่านมาตรวจแถวร้านบ่อยๆ นั่นแหละครับ
ตัวหนังผมว่าเข้าท่าในเรื่องของไอเดียครับ แล้วก็เรื่องของตัวละครสมทบแต่ละคนบางประเด็นก็น่าสนใจดีเหมือนกัน เลยทำให้หนังจัดว่าดูได้เรื่อยๆ บางอารมณ์ก็นึกไปถึง Love Actually น่ะครับ เพียงแต่เรื่องนี้ความกลมกล่อมลงตัวอาจไม่ถึงระดับนั้น
แต่บางฉากผมก็ชอบครับ อย่างฉากที่มาพร้อมเพลง A Hundred Times แล้วก็บอกเล่าเรื่องราว “ณ ขณะนั้น” ของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง บางคนกำลังจัดไฟล์ภาพให้คนที่แอบรัก แต่เขากำลังจะแต่งงานกับคนอื่น, บางคนก็นั่งซดบะหมี่ ดูทีวีจากโน้ตบุ๊คเพียงลำพัง ได้แต่คิดถึงคนรักที่แยกทางกันไปแล้วทั้งน้ำตา หรือบางคนก็ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทำตัวเหมือนปกติทุกอย่าง แต่ใจนั้นยังคงคิดถึงความรักที่ไม่สมหวังอยู่ตลอดเวลา
ฉากแบบนี้ผมชอบน่ะครับ มันอาจเป็นฉากในหนัง แต่มันให้ความรู้สึก Real อยู่ในที เพราะเราไม่มีทางรู้ครับว่าขณะที่เรากำลังเดินผ่านหน้าใครบางคนไปตามท้องถนนในชีวิตจริง เขาคนนั้นอาจกำลังปวดร้าวด้วยความรักอยู่ก็ได้ – มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ อาจกำลังเกิดอยู่ด้วย เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้น
ดาราในเรื่องก็หน้าคุ้นสำหรับคอหนังจีนยุค 90 ครับ ส่วน 2 ตัวหลักก็แสดงกันได้ดีครับ เฮียเจิ้งก็ยังหล่อเหมือนเดิม ครั้นพอถึงซีนที่ต้องแสดงอารมณ์พี่เขาก็ยังทำได้ดีเช่นเคย เอาแค่ฉากตอนท้ายที่เขามองหลันด้วยสายตาโกรธประหนึ่งว่า “ทนไม่ไหวแล้ว” นั่น แค่แววตาก็บอกความรู้สึกได้โดยไม่ต้องพูดอะไรสักคำ ส่วนโจวซิ่วน่าก็น่ารักครับ ในแง่การแสดงก็ถือว่าไปกันได้กับเฮียเจิ้ง หรือช่วงที่สับสน ช่วงที่เก็บอารมณ์ความรู้สึกก็ถ่ายทอดออกมาได้ไม่เลว
ระหว่างดูผมแอบรู้สึกอยู่เล็กๆ ครับว่าลีลาสไตล์ของหนังมันชวนให้นึกไปถึงหนังฮ่องกงสมัยก่อน (ยุค 80 – 90) ที่เดินเรื่องแบบมีเนื้อเรื่องหลัก แต่ระหว่างทางก็จะมีเรื่องเล็กๆ แทรกอยู่ แวะไปเล่าเรื่องโน้น หรือไม่คนนี้ก็แวะมาหา อันนำไปสู่เรื่องนั้น ฯลฯ หนังเอาสไตล์การเล่าแบบเก่ามาผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะการเสริมด้วยมุมกล้อง งานภาพสวยๆ ดนตรีดีๆ หรือการลำดับภาพที่พอเหมาะ ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อน การเดินเรื่องแบบนี้มักดูแล้วสะดุดทางอารมณ์อยู่บ่อยๆ ครับ แต่กับเรื่องนี้ อย่างที่บอกว่าหนังผสานเทคนิคใหม่ๆ ลงมา ทำให้มันดูพอเหมาะพอดียิ่งขึ้น ไม่ขาดๆ เกินๆ จนถึงขั้นรู้สึกได้แบบสมัยก่อน
ก็ต้องขอชมทีมงานครับ ตั้งแต่ดนตรีของ Kwong Wing Chan (Infernal Affair ทั้ง 3 ภาค, The Warlords, Wu Xia และ The Storm Riders) การกำกับภาพของ Kenny Tse (Cold War และ Ip Man 3) และการลำดับภาพของ Hoi Wong (Red Rose White Rose และ Bodyguards and Assassins) ทั้งหมดนี้ช่วยกันอุดจุดอ่อนบางประการของหนังได้พอสมควร
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกในการดูรอบ 2 คือ ผมสนุกกับการเก็บรายละเอียดครับ ได้เห็นคาแรคเตอร์ของตัวละครน้อยใหญ่ชัดขึ้น เข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น แม้นี่จะไม่ใช่หนังที่สนุกสุดๆ แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดูเพลิน และยังให้แง่คิดสาระดีๆ เกี่ยวกับเรื่องความรักได้ไม่น้อย ซึ่งผมกำลังจะขอสปอยล์ดังต่อไปนี้
=== ถัดจากนี้อาจมีสิ่งที่เรียกว่าสปอยล์นะครับ ใครไม่อยากทราบแนะนำให้ข้ามไปครับ ===
แก่นแกนเนื้อหาหลักของหนังคือความรักของเซินกับหลัน ที่ปัญหาก่อนหน้านี้ อันนำไปสู่การเลิกรากันหลายครั้งก็เพราะความไม่เข้าใจกัน หรือมองกันคนละมุม หลันก็ค่อนข้างแข็งและจริงจัง คิดเสมอว่าตนเองถูก (ซึ่งหลายครั้งเธอก็ถูกจริงๆ แต่บางครั้งก็เป็นการใช้อารมณ์) ในขณะที่เซินก็ชอบทำตัวเหมือนเด็ก ไม่หนักแน่นในหลายๆ เรื่อง จนกระทั่งทั้งคู่มาเปิดร้านกาแฟกัน ปัญหาเดิมๆ ก็ยังอยู่ครับ ฝ่ายชายก็ยังชอบเล่นมากกว่า ในร้านคนเยอะกำลังยุ่ง ก็ยังอุตส่าห์ไปเล่นอยู่นอกร้าน ปล่อยให้ฝ่ายหญิงต้องดูแลร้านจนหัวหมุน ไหนจะต้องทำบัญชีกำไรขาดทุนอีกสารพัด ในขณะที่ฝ่ายชายกลับไม่คิดคำนวณเรื่องพวกนี้สักเท่าไร ประมาณว่าขาดทุนนิดหน่อยจะเป็นไร
แล้วบางทีก็ผีซ้ำด้ำพลอย มีเรื่องวุ่นๆ มาจากเพื่อนของฝ่ายชายอีก (ที่หลายครั้งก็ทำตัวเหมือนเด็ก ไม่รู้จักโตพอกัน หรือไม่ก็ทำอะไรโดยไม่คิด) ฝ่ายหญิงก็ต้องมาคอยเก็บกวาด ทั้งหมดนี้ทำให้รอยร้าวระหว่างเซินกับหลันสะสมมากขึ้น
พอเรื่องราวถึงจุดพีค ก็นำไปสู่การบอกเลิกครั้งที่ 100 ซึ่งพวกเขาแยกกันไปพักหนึ่ง ฝ่ายหญิงไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนฝ่ายชายก็ยังอยู่ที่ร้าน แต่เนื่องจาก 99 ครั้งที่ผ่านมา เซินต้องเป็นฝ่ายขอโทษตลอด และหลันก็ยังยึดว่าเธอทำถูก เธอเลยรอให้เซินมาง้อ แล้วเซินก็ง้อจริงๆ ครับ อีกทั้งเขากะจะขอเธอแต่งงานด้วย แต่แล้วพอเซินได้เจอหลัน เขาก็เปลี่ยนความคิดที่จะขอเธอแต่งงาน หลังจากที่สิ่งแรกที่หลันทำคือต่อว่าเขาเหมือนทุกครั้ง… แต่ครั้งนี้ไม่เหมือน เพราะเซินเองเริ่มรู้สึกถึงจุดเปลี่ยนบางอย่าง
เซินยิ่งรู้สึกมากขึ้นเมื่อใครต่อใครทำให้เขาตระหนักว่า “เขาต้องเป็นฝ่ายง้อหลันอยู่เสมอ” ประหนึ่งว่ามีคำ “แพ้-ชนะ” ปรากฏขึ้นมาแทรกกลางระหว่างความสัมพันธ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีเลยแม้แต่น้อย
เขาพยายามเปลี่ยนแปลง เขาพยายามทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ซึ่งจริงๆ มันน่าจะเป็นเรื่องดีครับ แต่ทว่าท่ามกลางการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงของเซินนั้น เขาไม่รู้สึกดีกับมันเลย บางอย่างก็เป็นตัวเองน้อยลง และที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดียิ่งกว่าก็คือ แม้เขาจะพยายามเปลี่ยน แต่หลันก็ยังทำกับเขาเหมือนเดิม คือทำเหมือนเขาเป็นเด็กไม่รู้จักโต (แต่ปัญหาคือ เขาไม่ใช่เด็กไม่รู้จักโตคนนั้นอีกแล้ว)
สถานการณ์นี้อธิบายแบบง่ายๆ ได้เป็น เซินในตอนแรกอาจทำตัวเหมือนอายุ 8 ขวบมานาน ในขณะที่หลันอาจเปรียบเหมือนคนอายุ 30 ที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เธออยากให้เขาโตเสียที อยากมานานจนไม่คิดแล้วว่าเขาจะโต-หรือไม่สายตาก็ถูกทำให้มองว่าเซินเป็นเด็กแบบถาวรไปแล้ว แต่ครั้นพอเซินเจอจุดเปลี่ยนแล้วเติบโตขึ้นจริงๆ วิธีคิดเปลี่ยน การมองโลกต่าง ความรู้สึกไม่เหมือนเดิม แต่ว่าหลันก็ยังมองเซินและทำกับเขาเหมือนอายุ 8 ขวบอยู่อีก… แน่นอนว่าเซินย่อมรู้สึกไม่ดี จากน้อยๆ ก็สะสมกลายเป็นมากๆ อันทำให้ช่องว่างระหว่างเซินและหลันขยายกว้างมากขึ้นทุกขณะ
มันคือความซับซ้อนของสมการความรัก หนึ่งตัวเลขเปลี่ยน หนึ่งค่าเปลี่ยน ย่อมส่งผลต่อสมการเสมอ
และคำตอบเดิมที่ใช้กับสมการเก่าได้มานาน อาจไม่สามารถใช้กับสมการใหม่ได้… หากเรายังยืนกรานยัดคำตอบเดิมใส่สมการใหม่ ปัญหาย่อมเกิด
ความรักไม่ใช่ของตายครับ มันไม่อยู่กับที่ มันมีการเติบโต มันคือการเปลี่ยนแปลง มันคือเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ – หากไม่เข้าใจ รักย่อมไม่ราบรื่น (ขนาดเข้าใจแล้ว บางทีก็ยังไม่ราบรื่นเลย ว่าไหมครับ)
จริงที่เซินพยายามเติบโต แต่เมื่อคนข้างกายไม่ได้โตไปตามเขา (เพราะในกรณีนี้คนที่ไม่โตขึ้น+ยังติดอยู่กับภาพเก่าๆ กลับกลายเป็นหลันแทน) และยิ่งการเปลี่ยนแปลงหนนี้ของเขาเกิดจากเรื่องลบๆ เสียอีก ความรู้สึกของเซินก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่
ผมชอบฉากสรุปของเรื่องนะ หนังแทนค่าให้เห็นภาพแบบตรงๆ เลย นั่นคือพอเซินกับหลันตกลงจะเดินไปร้านกาแฟด้วยกัน ซีนแรกเราจะเห็นหลันเดินนำ แล้วเซินเดินตาม (แทนค่าเป็น ตอนแรกของความสัมพันธ์ ที่หลันมักเป็นฝ่ายนำ ส่วนเซินเดินตาม) แต่พอถึงจุดหนึ่ง เซินเป็นฝ่ายเดินแซงหน้าหลันไป แล้วเขาก็เดินห่างเธอออกไปเรื่อยๆ ถึงขั้นเดินข้ามถนนไปอีกฝั่ง โดยไม่ได้หันกลับมามองว่าหลันจะเดินข้ามได้ไหม (แทนค่าเป็น ตอนที่เซินเปลี่ยน เซินก้าวไปแล้ว แต่เป็นการก้าวด้วยความรู้สึกที่โดดเดี่ยว + เซินไม่รู้ว่าควรจะทำตัวยังไง หรือควรจะ “รัก” หลันอย่างไร – ในขณะที่หลันยังคงอยู่ที่เดิม)
แล้วสุดท้าย หลันก็ต้องข้ามถนนเอง และเดินตามเซินให้ทัน ก่อนจะยื่นมือเธอไปจับมือเขา ในนาทีนั้นเซินหยุดเล็กน้อย ก่อนจะกุมมือหลันให้แน่นขึ้น แล้วจับมือเธอเดินต่อไปด้วย (แทนค่าด้วย หลันต้องเดินตามเซินให้ทัน ไปให้ถึง “จุดที่เขาเป็น” แล้วทำความเข้าใจ พร้อมด้วยแสดงความเคียงข้างด้วยการจับมือ – แล้วเซินก็จับมือตอบ – ในที่สุดพวกเขาก็เดินไปด้วยกัน อาจไม่ถึงกับเดินพร้อมกัน แต่อย่างน้อยพวกเขาก็เดินเคียงกัน)
เป็นบทสรุปเกี่ยวกับความรักที่ชวนให้คิดไม่น้อยครับ และผมก็ชอบไม่น้อยเหมือนกัน ยิ่งฉากนั้นเพลงที่ประกอบก็ไพเราะเหมาะดี (เพลง Never Say Breakup Again ของ Ivana Wong คนที่มาแสดงเป็น พริสซิลล่า หรือยีรุ่ยเหวิน ที่ทำเฟรนช์โทสต์มาส่งที่ร้านน่ะครับ)
อีกประเด็นคือ สำหรับคนที่พยายามแก้ไขตนเองเพื่อทำสิ่งใหม่ เขาย่อมอยากได้กำลังใจครับ และที่ไม่อยากได้แน่ๆ คือคำตำหนิซ้ำเติม การติซ้ำๆ อาจรังแต่ทำให้กำลังใจหดหาย ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น แม้คำตำหนิจะมาจากเจตนาที่ดีก็ตาม…
=============== หมดสปอยล์ครับ ===============
สรุปแล้ว หนังเรื่องนี้มีจุดที่น่ารักอยู่พอสมควรครับ หนังอาจไม่ได้สุดยอดอะไร แต่ก็ดูได้เรื่อยๆ เพลินๆ และมีแง่คิดดีๆ เกี่ยวกับความรักติดปลายนวมกลับมาด้วย แต่ผมก็มั่นใจครับว่าต้องมีคนดูแล้วรู้สึกไม่ชอบ ซึ่งก็เป็นธรรมดาครับ แต่อย่างไรก็อยากให้ลองดู โดยเฉพาะคนที่ชอบหนังรักบรรยากาศเบาๆ หนังเรื่องนี้อาจมีทั้งจุดที่เข้าท่าและจุดที่น่ารำคาญครับ แต่ก็ไม่แน่ว่าจุดที่เข้าท่าอาจเข้าตาเรามากกว่า จนทำให้ใจเราเอนเอียงไปที่โซนชอบก็ได้
เราไม่จำเป็นต้องรักในทุกส่วนของหนังทั้งเรื่องครับ เพราะบางทีหนังบางเรื่องแม้จะมีส่วนที่เราไม่ชอบอยู่เยอะ แต่หากมีอะไรสักอย่างที่โดนใจเรามากๆ แบบที่ไม่ค่อยเจอในหนังเรื่องอื่น เราก็สามารถตักตวงความรู้สึกดีๆ และเก็บเกี่ยวความสุขจากมันได้เหมือนกัน
สองดาวกว่าครับ
(6.5/10)