ชายแก่ตาบอด (Stephen Lang) ที่ทำให้ Don’t Breathe ประสบความสำเร็จทั้งในด้านคำวิจารณ์และผลประกอบการ กลับมาอีกครั้งใน Don’t Breathe 2 ซึ่งเล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์ในภาคแรก 8 ปี แต่บรรยากาศของ setting ก็ยังคงดู old school มากกว่ามาจากอนาคตอันใกล้
โดยใน Don’t Breathe 2 แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับภาคแรกเลย แต่เพิ่มเติมว่า ลุงไม่ได้เป็นตาแก่ตาบอดที่อยู่บ้านคนเดียวอีกต่อไป ลุงมีหมาคู่ใจชื่อ Shadow (จะพูดว่า ลุง = John Wick ที่ตาบอดตอนแก่ ก็ไม่ผิดนัก) และมีลูกสาววัยเริ่มแรกรุ่นชื่อ Phoenix (Madelyn Grace จาก Grey’s Anatomy) ที่ลุงเลี้ยงดูเยี่ยงนกน้อยในกรงทอง แต่ก็เข้มงวดเธออย่างหนักกับการสอนวิชาเอาตัวรอดในโลกอันโหดร้าย
นอกจากนี้ คู่กรณีของลุงในภาคนี้ ไม่ใช่แก๊งเด็กวัยรุ่น 3 คนที่ร้อนเงินธรรมดา ๆ เหมือนภาคแรก หากแต่เป็นอาชญากรมืออาชีพ ทั้งด้านการค้ายา ทั้งเคยเป็นทหารออกศึกเช่นเดียวกับลุง (แต่ลุงน่าจะเก่งกว่า เพราะลุงเคยอยู่ถึงหน่วยซีล) และก็มีกันเป็นกระบวนการมากกว่า 3 คน นำโดย Raylan (Brendan Sexton III จาก Three Billboards Outside Ebbing, Missouri)
“I HAVE KILLED. I HAVE RAPED. I AM A MONSTER”
แต่ทั้งนี้ทั้งนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่า การเพิ่มสกิลและความโหดให้กับฝั่งคู่ปรับ รวมถึงการเพิ่มดีกรีความรุนแรงหรือความสยองของฉากต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มความซับซ้อน มันช่วยทำให้หนังมันสนุกหรือได้ใจคนดูมากขึ้นตรงไหน (โดยเฉพาะผู้ชมที่รักสัตว์ อาจรู้สึกเซนซิทีฟกับหลาย ๆ ฉากเป็นพิเศษ) แล้วพอความซับซ้อนมันไม่เมคเซนส์หรือไม่ชวนเชื่อ ประกอบกับฝั่งโจรที่แทบไม่มีมิติ มันเลยกลายเป็นหนังที่ไม่สนุกเท่าภาคแรก และอารมณ์หนังมันไม่ต่อเนื่องเมื่อมันมีช่วงว่างเว้นให้คนดู (รวมถึงลุงและโจร) ได้พักหายใจนานเกินไปหน่อย สรุป โหดมากขึ้น เยอะมากขึ้น แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเลย…
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน สิ่งที่ทำให้ Don’t Breathe ประสบความสำเร็จ ณ ตอนนั้น คือความสดใหม่ คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากกว่า เพราะโจรวัยรุ่นเรื่องนั้นยังพอมีอะไรที่น่าเอาใจช่วย (ใช่ค่ะ เอาใจช่วยโจรมันนี่แหละค่ะ) และถึงแม้คนดูอาจจะรู้มาบ้างจากการอ่านเรื่องย่อหรือดูเทรลเลอร์ แต่คนดูก็เหมือนได้เรียนรู้ศักยภาพอันแสนโหดของชายตาบอดคนนี้และค้นพบความลึกลับซับซ้อนของบ้านของลุงไปพร้อม ๆ กับโจรทั้งสาม นอกจากนี้ พล็อตเรื่องภาคแรกก็ไม่ได้ซับซ้อน เซตติ้งก็จำกัดอยู่แค่ในบ้านของลุง มันจึงมีความกดดัน ลุ้นระทึก และตรึงอารมณ์ได้ดีกว่า
แต่ก็ต้องชื่นชมที่ Fede Alvarez (ผู้กำกับจากภาคแรก ที่มาเขียนบทภาคนี้ แล้วให้ Rodo Sayagues มากำกับแทน) มีความพยายามที่จะใส่ความซับซ้อนให้กับตัวละครมากขึ้นในหนังทริลเลอร์ของเขา นอกจากเราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของลุงมากขึ้น (ไม่งั้นก็เกือบคิดไปแล้วว่าลุงเป็นยอดมนุษย์) เรายังได้เห็นเมสเซจที่เขาต้องการจะสื่ออย่างชัดเจนมากในเรื่องของการค้นหาตัวตน โอกาสที่สอง และความหมายของคำว่า “บ้าน หรือ ครอบครัว” เช่น Phoenix ที่อยากรู้รากเหง้าและสังคมของตัวเอง, ลุงที่อยากได้เริ่มต้นใหม่เป็นคนดีและเป็นพ่อที่ดีของลูกสาว ฯลฯ
ตลอดเรื่อง เราได้เห็นตัวละครได้มีทางเลือก หรือมีโอกาสเลือกเส้นทางที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องมากมาย เช่น การที่ลุงเปลี่ยนใจให้ลูกสาวได้ออกไปเที่ยวในเมืองในวันนั้นและการที่เพื่อนของลุงเกิดใจดีแอบพาเด็กไปเยี่ยมบ้านเก่าของเธอ ทำให้พวกเธอต้องเจอกับแก๊งโจรและพวกนั้นก็แอบตามกลับมาบ้าน, การตัดสินใจของลุงที่จะฆ่าหรือไม่ฆ่าหมาของฝั่งโจร ทำให้ลุงได้ช่วยลูกสาวของตัวเองไว้ได้, การตัดสินใจของเด็กหญิงที่จะเดินหรือไม่เดินออกจากประตูบานนั้นเมื่อครั้งยังมีโอกาส ทำให้เธอต้องประสบกับสถานการณ์เฉียดตายอย่างน่าหดหู่ เป็นต้น
เช่นเดียวกับทางเลือกของผู้สร้างหนัง ถ้าพวกเขาไม่ตัดสินใจทำภาคต่อ พวกเราก็จะได้จดจำ Don’t Breathe แค่ Don’t Breathe เวอร์ชั่น 2016 นั้น ซึ่งมันก็จบได้ลงตัวในตัวมันเองและน่าขึ้นหิ้งดีอยู่แล้ว แต่การตัดสินใจทำภาคต่อสำหรับหนังที่ไม่จำเป็นจะต้องมีภาคต่อตั้งแต่แรก ทำให้เราคิดอะไรไม่ได้อีกเลย นอกจากว่า ลุง…ซึ่งปัจจุบันก็อายุ 69 ปีแล้ว… ควรไปพัก…
อย่างไรก็ตาม ฉาก post-credits (หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า end credit) ก็จบแบบปลายเปิดมาก ๆ ว่า ลุงอาจจะกลับหรืออาจจะไม่กลับมาในภาค 3… ซึ่งครั้งนี้… คงอยู่ที่คนดู ที่จะตัดสินใจ…