HUNGER (คนหิว เกมกระหาย) [2023]
HUNGER (คนหิว เกมกระหาย) อีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่เป็น Original Netflix ซึ่งผลิตโดย ซองซาวด์ โปรดักชั่น
เขียนบทโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ สิทธิศิริ มงคลศิริ
กำกับโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ
อำนวยการสร้างโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ โสฬส สุขุม
นำแสดงโดย
ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง (จากภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง และ ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ) รับบทเป็น ออย
นพชัย ชัยนาม (จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ Homestay) รับบทเป็น เชฟพอล
กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (จากภาพยนตร์เรื่อง ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค) รับบทเป็น โตน
ภูมิภัทร ถาวรศิริ (จากซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ ซีซั่น 2 ตอน รับน้อง) รับบทเป็น อู๋
วฤธ ลีสวรรค์ (จากละครเรื่อง My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน และ คือเธอ) รับบทเป็น ทศ
รับชมได้ทาง Netflix
เนื้อเรื่อง/เรื่องย่อ
เรื่องราวของ ออย หญิงสาวที่จำเป็นต้องสานต่อธุรกิจร้านขายราดหน้า-ผัดซีอิ๋วของครอบครัว เนื่องจากคุณพ่อเริ่มแก่ตัวและยังต้องส่งเสียน้องสาวเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย
แต่แล้ววันหนึ่ง ออย ก็ได้พบกับ โตน เชฟหนุ่มที่เป็น 1 ในทีม ฮังเกอร์ ที่นำทีมโดย เชฟพอล เชฟชื่อดังอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่ง โตน รู้สึกประทับใจในรสชาติผัดซีอื๊วของ ออย เขาจึงได้ชักชวน ออย ให้มาเข้าร่วมทีม ฮังเกอร์ แทนคนเก่าที่เพิ่งออกจากทีมไป
ด้วยความที่อยากจะดิ้นรนออกจากชีวิตและสังคมที่ลำบากยากแค้น และอยากเป็นคนพิเศษเป็นที่ยอมรับของทุกคน ออย จึงตัดสินใจไปตามคำชักชวนของ โดน
และการตัดสินใจในครั้งนั้นนั่นเองที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตและมุมมองของ ออย ไปตลอดกาล
ความรู้สึกหลังดูจบ
ความรู้สึกแรกที่แว๊บเข้ามาเลยตั้งแต่ช่วง 10 นาทีแรกของหนังคือ “ทำไมหนังมันดูประดิษฐ์จังวะ” มันรู้สึกถึงความไม่ธรรมชาติของทั้งไดอะลอคและตัวละครทั้งตัวละครหลักและตัวประกอบทั้งหมดเลย
และไม่ใช่เพียงแค่ 10 นาทีแรกเท่านั้น เพราะความรู้สึกนี้มันก็ยังตามมาตลอดทั้งเรื่องจนหนังจบเลยฮะ โดยเฉพาะไดอะลอคที่เต็มไปด้วยภาษาที่เหมือนภาษาเขียนมากกว่าที่จะเป็นภาษาพูด และเต็มไปด้วยไดอะลอคการกระทบกระเทียบ แอบแซะ และจิกกัดวิถีชีวิต-ความเหลื่อมล้ำของสังคมในยุคนี้ โดยการยัดใส่ปากตัวละครให้พ่นออกมา ซึ่งมันมากเสียจนรู้สึกว่ามันขาดชั้นเชิงในการนำเสนอไปเลย
เหมือนคนสร้างตั้งใจจะสื่อสารกับคนดูว่า “นี่พวกคุณ เราจะทำหนังที่ประชดประชันสังคมความเหลื่อมล้ำนะ นี่ๆ ฉากนี้ เราจะพูดกันเรื่องนี้นะ ฉากนั้น เราจะด่าเรื่องนี้นะ” คือมันเปิดออกมาโต้งๆ เลย โดยที่คนดูไม่จำเป็นต้องคิดตามหรือตีความอะไรมากมายก็รับรู้ได้ว่าคุณกำลังด่าใครอยู่
และพอเราไม่ต้องคิดหรือตีความอะไรมากกับสารที่คนทำหนังต้องการสื่อ เราจึงหันไปโฟกัสกับแผล, กับพลอตโฮล และความไม่สมจริงที่มีอยู่เต็มไปหมดตลอดทั้งเรื่องแทน และมันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าหนังขาดการทำการบ้านเกี่ยวกับการนำเสนออาชีพเชฟหรือคนทำอาหารไปเยอะพอสมควร (ซึ่งแม้ส่วนตัวจะไม่ใช่คนที่ทำอาหารเป็น แต่ก็ผ่านการดูรายการสอนทำอาหาร และการแข่งขันทำอาหารทั้งของไทยและต่างชาติมาหลายรายการอยู่ ก็พอจะทำให้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับวิถีของการทำอาหารอยู่บ้างนะฮะ)
อีกทั้งตัวละครในทีม ฮังเกอร์ คนอื่นๆ ที่มีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจมากๆ อยู่หลายตัว ก็ไม่ได้ถูกหยิบมาใช้งานอะไรเลย ถูกเขี่ยทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ตอนแนะนำตัวละครเหล่านี้ ก็เหมือนจะมีอะไรให้เล่นอยู่เยอะ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ตัวประกอบที่ใส่มาเพื่อให้ทีมมีจำนวนคนครบๆ เท่านั้นเอง
แล้วตามธรรมเนียมของหนังแนวนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องการออกเดินทางตามหาความฝัน, การดิ้นรนหาเส้นทางของตัวเอง หรือหาแสงมาประดับตัวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เป็น Somebody ในสังคม ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม สุดท้ายหนังก็มักจนลงเอยในทำนองว่า “สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ” แต่กับตอนจบของ ฮังเกอร์ คนหิว เกมกระหาย กลับให้ความรู้สึกเหมือนดูละครอย่าง “ฟ้ามีตา” ไปได้ซะงั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะในช่วงไคลแมกซ์ของเรื่องที่ไม่สามารถผลักดันอารมณ์และภาพรวมของเรื่องให้พีคพอที่จะส่งออกมาให้ถึงคนดูได้ สิ่งที่ต้องการนำเสนอ, สารที่ต้องการจะสื่อ, บทเรียนสุดท้ายที่ต้องการจะสอน มันจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
การดำเนินเรื่องโดยรวม จริงๆ แล้วก็เริ่มต้นมาได้อย่างน่าสนใจและชวนให้ติดตามมากๆ เลยนะฮะ แต่แล้วความน่าสนใจกลับค่อยๆ แผ่วลงจนสุดท้ายในฉากไคลแมกซ์ก็ไม่ได้พีคอย่างที่กล่าวไปข้างต้น มันจึงทำให้รู้สึกว่าหนังมันยาวไปนะ ถ้าลดเหลือสักชั่วโมงครึ่งหรือเกือบๆ 2 ชั่วโมง แล้วเล่นกับแก่นของเรื่องให้กระชับกว่านี้ ก็น่าดีนะ
สรุป >> ให้ไป 6.5 เต็ม 10 ละกันฮะ กับความพยายามที่จะยกระดับหนังไทยให้แตกต่างจากหนังตลาดทั่วๆ ไป เพียงแต่ถ้าคนทำหนังให้กับความสำคัญกับองค์รวมของหนังและทำการบ้านในส่วนของสายอาชีพที่ตัวเองต้องการนำเสนอให้มากกว่านี้ แทนที่จะไปให้ความสำคัญกับการพยายามประชดประชันเสียดสีจิกกัดสังคมมากจนเกินไป ก็น่าจะทำให้หนังออกมาได้น่าประทับใจกว่านี้ และมีแผลน้อยกว่านี้นะฮะ