John Carpenter’s Escape from New York (1981) หนีนรกนิวยอร์ก

Untitled06222

ถือเป็นหนังแอ็กชันผจญภัยที่ทำออกมาได้ดีอีกเรื่องหนึ่งสำหรับสมัยนั้นครับ และเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจดจำของผู้กำกับ John Carpenter ด้วย

หนังสร้างในปี 1981 ครับ โดยเล่าถึงเรื่องในโลกอนาคต (สำหรับตอนนั้น) ในปี 1997 ตัวเอกของเรื่องมีนามว่า สเน็ค พลิสเกน (Kurt Russell) อาชญากรตัวเอ้ที่ทางการต้องการตัว และในที่สุดเขาก็โดนจับได้ แต่ขณะนั้นเองก็เกิดเหตุท่านประธานาธิบดี (Donald Pleasence) ไปติดอยู่บนเกาะนิวยอร์ก ซึ่งนิวยอร์กในยุคนั้นกลายเป็นเสมือนคุกที่เอานักโทษไปปล่อยไว้ ดังนั้นยิ่งท่านประธานาธิบดีอยู่ที่นั่นนานเท่าไร ก็มีโอกาสรอดน้อยเท่านั้น

ทางการเลยยื่นข้อเสนอให้สเน็คครับ ว่าถ้าหากเขายอมแหกนรกไปช่วยท่าน ปธน. ออกมาได้ ก็จะได้รับการอภัยโทษ และนั่นก็คือจุดเริ่มของการหนีนรกนิวยอร์กครับ

Carpenter มีไอเดียเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปีช่วงปี 1974 – 1976 แล้วครับ สมัยนั้นเขามีโอกาสเดินทางไปยังนิวยอร์กแล้ว แล้วเห็นมุมอันเสื่อมโทรม (รวมถึงเสื่อมทราม) ของเมือง บวกกับได้อ่านนิยาย Planet of the Damned ของ Harry Harrison, ได้ดูหนัง Death Wish ภาคแรก แล้วไหนจะได้มารับรู้ข่าวเกี่ยวกับความฉ้อฉลของรัฐบาล (คดีวอเตอร์เกทน่ะครับ) ทั้งหมดทั้งปวงนี้เลยจัดเรียงกันในหัวของเขา ทำให้เขาได้บทหนังเรื่องนี้ออกมา

เขาหมายมั่นว่าจะเอาบทนี้มาทำเป็นหนังครับ แต่ปรากฏว่าเขาเอาบทนี้ไปเสนอกับค่ายไหนก็ไม่มีใครยอมรับไปทำ โดยให้เหตุผลว่าเรื่องมันดาร์กไป และมีความรุนแรงมากไป

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังจาก Carpenter ทำ Halloween ออกมาในปี 1978 แล้วมันดังแบบสุดๆ พอถึงตอนนั้นบรรดาค่ายต่างๆ ที่เคยส่ายหน้า ต่างก็พากันสนใจบทหนังเรื่อง Escape From New York กันเป็นแถบแถว

ทีนี้พอถึงเวลาจะสร้างหนังเรื่องนี้ ก็มีประเด็นให้ Carpenter ต้องไฟท์กับสตูดิโอนิดหน่อยครับ นั่นคือคนที่จะแสดงเป็นสเน็ค พลิสเกน ซึ่งทางสตูดิโอต้องการให้ Charles Bronson มารับบท แต่ Carpenter ก็ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่า Bronson แก่เกินไปสำหรับบทนี้

จากนั้นสตูดิโอก็อยากได้ Tommy Lee Jones มารับบทนำครับ แต่สำหรับ Carpenter แล้ว เขาอยากให้ Kurt Russell มาเป็นสเน็คมากกว่า เพราะเคยร่วมงานกันมาก่อนตอน Carpenter กำกับหนังทีวีเรื่อง Elvis (ในเรื่องนี้ Russell แสดงเป็น เอลวิส เพรสลี่ย์ครับ) และ Carpenter ก็มั่นใจว่า Russell นี่แหละที่เหมาะกับบท สเน็ค พลิสเกนอย่างที่สุด

Untitled06223

แต่ทางสตูดิโอไม่เห็นด้วยครับ เหตุผลสำคัญก็เพราะสมัยนั้น Russell เคยเล่นแต่หนังค่าย Walt Disney ว่าง่ายๆ คือเล่นมาแต่หนังเบาสมองหรือไม่ก็หนังโทนโลกสวยเป็นหลัก แต่บทสเน็ค พลิสเกนนี่ออกแนวแอนตี้ฮีโร่สายดาร์กแบบเห็นได้ชัด เลยทำให้สตูดิโอและผู้สร้างมองไม่ออกเลยว่า Russell จะมารับบทวายร้ายกร้านโลกแบบนี้ได้ยังไง

แต่พอหนังสำเร็จเสร็จออกมา ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันครับว่า Russell นี่แหละ คือคนที่เหมาะจะแสดงเป็น สเน็ค พลิสเกน อย่างแท้จริง เพราะเล่นได้ดี ดูเป็นพระเอกสายผู้ร้าย มีความร้ายกาจ มีคำพูดเจ็บๆ และมีวิธีคิดแบบอาชญากร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ร้ายที่มีหลักการ ทำให้สเน็ค พลิสเกนเป็นฮีโร่ที่มีครบทั้งความร้าย ความเถื่อน มีเล่ห์เหลี่ยม และมีคุณธรรม (แบบโจรๆ) ผสมรวมกันอยู่

และ Russell เองยังมีส่วนในการสร้างความเด่นให้กับคาแรคเตอร์ของสเน็คด้วยครับ นอกจากจะอิงคาแรคเตอร์นี้มาจากดาราอย่าง Clint Eastwood, Bruce Lee และตัวละครอมตะอย่างดาร์ธ เวเดอร์แล้ว เขายังเป็นคนเพิ่ม “ผ้าปิดตา” ลงไปบนใบหน้าของสเน็ค เพราะตามบทตอนแรกนั้นสเน็คจะไม่มีผ้าปิดตาครับ แต่ทีนี้ Russell เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาก่อนเริ่มถ่ายทำเพียงไม่นาน เขาเลยจัดแจงหาผ้าปิดตามาใส่เข้าฉากไปเลย พอ Carpenter เห็นเขาก็ชอบครับ เลยตัดสินใจเพิ่มผ้าปิดตาเข้าไปในคาแรคเตอร์ของสเน็คทันที

ตัวหนังจัดว่าทำออกมาได้ดีทีเดียวครับ สไตล์มีความคล้ายหนังคาวบอยตะวันตก (ประเภทว่าตัวเอกต้องลุยเพียงลำพังเข้าไปในดงคนเถื่อน) เพียงแต่ฉากหลังเป็นโลกอนาคต และเป็นเมืองร้างที่ดูวังเวงและเต็มไปด้วยอันตราย

ความสนุกของหนังอย่างแรกมาจากคาแรคเตอร์ของสเน็คครับ อย่างที่บอกว่าเขาเท่ห์ มีไหวพริบ มีความกวนโอ๊ย และมีความเป็นพระเอก จนผมไม่แปลกใจเลยครับที่หลายคนจะชอบคาแรคเตอร์นี้ และมีหลายคนเหลือเกินที่อยากจะเอาเรื่องของสเน็คมารีเมคสร้างใหม่ เพราะตัวละครนี้มีความน่าสนใจจริงๆ

ความสนุกอย่างต่อมาคือการผจญภัยของสเน็คน่ะครับ เพราะดินแดนนิวยอร์กมันดูเสื่อมโทรมและน่ากลัวมาก มีวายร้ายหลายรูปแบบตั้งแต่พวกฉกชิงธรรมดา ไปจนถึงแก๊งอันธพาลระดับบิ๊กที่นำโดย เดอะ ดุ๊ค (Isaac Hayes) ซึ่งก็เป็นโจทย์ให้สเน็คต้องไล่ตะบันครับ และบางทีเวลาเขาเจอตัวละครที่ดูเหมือนจะไว้ใจได้ ก็ยากจะบอกได้อีกว่าจริงๆ แล้วสเน็คจะไว้ใจเขาได้ไหม หรือมีใครคิดรอจะหักหลังเขาไหม อะไรเหล่านี้ก็สร้างความระทึกและความลุ้นให้กับหนังได้ดีในระดับหนึ่งครับ

ในแง่แอ็กชัน อันนี้อาจต้องทำใจครับ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เน้นฉากตีกันหรือฉากสู้กัน ส่วนมากจะออกแนวหลบซ่อนและไล่ล่ากันเสียมากกว่า ดังนั้นใครคาดหวังฉากลุยๆ มันส์ๆ ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ค่อยมีครับ

Untitled06224

ดังนั้นถ้าจะมองว่าเรื่องนี้เป็นหนังแอ็กชันผจญภัยก็อาจไม่ถูกนักครับ เพราะจริงๆ หนังจะออกแนวไซไฟระทึกขวัญที่มีฉากหลังเป็นโลกอนาคตอันเสื่อมทรามมากกว่า ดังนั้นความสนุกของหนังเลยจะอยู่ที่การได้เห็นจินตนาการของคนทำ ว่ามองโลกอนาคตออกมาหม่นมืดแค่ไหน และตัวละครในเรื่องนั้นมีพฤติกรรมกันแบบใด อีกทั้งเราจะได้เห็นอะไรในโลกอนาคตบ้าง

ความสนุกอย่างหนึ่งของหนังเลยอยู่ตรงการจิกกัดคนเรานี่แหละครับ ตัวละครทั้งหลายในเรื่องไม่ว่าจะฝ่ายทางการหรือฝ่ายผู้ร้ายต่างก็มีความดาร์ก มีความเห็นแก่ตัว มีความรักตัวกลัวตาย มีเล่ห์มีเหลี่ยมเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อให้ตนเองได้ผลลัพธ์ในแบบที่ต้องการ มันดูเป็นโลกอนาคตที่ไม่น่าอยู่เลยครับ

และไปๆ มาๆ คนที่ดูดีสุด ดูไว้ใจได้สุด ก็คือสเน็ค พลิสเกนนี่แหละครับ แม้จะร้ายแค่ไหนแต่ก็มีจุดยืน แม้จะโหดแค่ไหนแต่ก็มีลิมิต มิหนำซ้ำในหลายๆ วาระ เขายังเป็นคนที่มองคนด้วยความเข้าใจและเข้าถึงตัวตนของคนอื่นได้อีกต่างหาก (ประเด็นนี้เพิ่มความเท่ห์ให้กับเขาได้อีกหลายขีด)

และที่เจ็บแสบสุดคงหนีไม่พ้น การที่อาชญากรบางคนที่ต้องอยู่ในนิวยอร์กนั้น แม้จะฉ้อฉลหรือร้อยเล่ห์กลแค่ไหนก็เถอะ แต่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขายังถือว่าฉ้อฉล-ลิ้นสองแฉก-ตีสองหน้า น้อยกว่านักการเมืองที่ใส่สูทผูกไทเป็นไหนๆ – จนสเน็คยังอดสมเพชนักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้

ดาราในเรื่องคนอื่นๆ ก็ล้วนน่าจดจำครับ Lee Van Cleef รับบทเจ้าหน้าที่บังคับให้สเน็คต้องไปเสี่ยงตายที่นิวยอร์ก, Ernest Borgnine เป็นแค็บบี้ คนขับแท็กซี่ในนิวยอร์กที่ถือเป็นสีสันชั้นดี และ Carpenter เองก็เคยบอกว่าตอนเขาเขียนบทถึงตัวละครนี้ เขาก็นึกถึง Borgnine นี่แหละ, Donald Pleasence ในบทท่าน ปธน. รายนี้ก็เล่นได้ดีเสมอไม่ว่าจะบทร้ายหรือบทดีก็ตาม, Isaac Hayes ก็ดูร้ายได้อย่างน่าเชื่อถือในบทเดอะ ดุ๊ค เพียงแต่ความเด่นอาจจะยังไม่มาก

แต่รายที่ผมชอบมากหน่อยคือ Harry Dean Stanton ในบทเบรน ตัวละครที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชีวิตรอดของสเน็ค รายนี้ดูมีมิติกว่าที่คิด เช่นเดียวกับ Adrienne Barbeau ในบทแม็กกี้ 2 คนนี้ถือว่ามีอะไรให้จดจำมากพอตัวครับ โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ

ในแง่รายได้ถือว่าประสบความสำเร็จครับ หนังลงทุนไปประมาณ $6 ล้าน ได้คืนมาราวๆ $25 ล้าน เรียกว่าทำกำไรใช้ได้ทีเดียว

เกร็ดอย่างหนึ่งที่อยากกล่าวไว้ก็คือ James Cameron ได้เป็นหนึ่งในทีมงานของหนังเรื่องนี้ครับ เขาอยู่ฝ่ายกำกับภาพนิ่ง, ช่วยทำ Special Effect และช่วงต้นๆ ฉากที่เฮลิคอปเตอร์บินผ่านโดยมีภาพตึกสูงเป็นฉากหลังนั้น ภาพตึกทั้งหลายวาดขึ้นและจัดทำขึ้นโดย Cameron เองครับ

หากจะถามว่าหนังเรื่องนี้น่าดูหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นกับว่าคุณคาดหวังสิ่งใดนั่นแหละครับ หากหมายมั่นจะได้ดูฉากบู๊แอ็กชันล่ะก็ หนังเรื่องนี้น่าจะไม่ตอบโจทย์ แต่หากใครชอบดูหนังว่าด้วยโลกอนาคตที่หม่นมืด มีกลิ่นอายความเป็นดิสโทเปีย หรือชอบรสมือของผู้กำกับ John Carpenter ล่ะก็ เรื่องนี้ถือว่าน่าลิ้มลองครับ เพราะหนังทำได้ระทึกและได้อารมณ์ไซไฟแบบหม่นๆ และที่สำคัญคือท่านจะได้เห็นคาแรคเตอร์ที่น่าจดจำของ สเน็ค พลิสเกน ที่ผมยกให้เป็นหนึ่งในแอนตี้ฮีโร่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์

สำหรับผมนั้น ก็ถือว่าอยู้ในข่ายชอบครับ แต่อาจจะไม่ได้ชอบมากมายอะไรขนาดนั้น เพราะก็มีบางจังหวะที่หนังมีความเรื่อยให้รู้สึกเนือยนิดๆ เหมือนกัน (ส่วนหนึ่งอาจเพราะดนตรีของลุง John Carpenter ที่มักจะใช้ตัวโน้ตไม่กี่ตัวมาเล่น บางช่วงก็ฟังดูเท่ห์ครับ แต่บางทีพอฟังไปนานๆ ก็มีแอบเงกเหมือนกัน 555)

แต่ที่รู้สึกโดนใจมาก และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ผมยินดีดูไปจนจบเรื่อง ก็คือพี่สเน็คนี่แหละ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)