หนังเรื่องนี้ผมกะว่าจะดูๆ มานานมากๆ ครับ ตั้งแต่สมัยออกวีดีโอ แล้วก็รอแล้วรอเล่า รอนานมากจนรู้ตัวอีกทีผ่านไป 20 กว่าปีแล้วก็ยังไม่ได้ดู จนกระทั่งพอดีหนังมาฉายช่อง True Film ก็เลยจัดซะ เพราะไม่รู้ว่าถ้ายังรอต่อไปนี่เมื่อไรจะได้ดู
Mystery, Alaska ว่าด้วยเรื่องราวในเมืองมิสเทอรี่ เมืองเล็กๆ ในรัฐอะแลสกาที่ทีมฮอกกี้ประจำถิ่นเพิ่งได้รับการเขียนเรื่องราวของพวกเขาลงในนิตยสาร Sports Illustrated และทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงการครับ ทีนี้ชาร์ลส์ แดนเนอร์ (Hank Azaria) อดีตชาวเมืองที่ย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่ก็ปิ๊งไอเดียที่จะให้ทีมฮอกกี้ดังอย่างนิวยอร์กเรนเจอร์ส มาลองแข่งกับทีมมิสเทอรี่ดูสักครั้ง
พล็อตหลักก็คือหนังว่าด้วยการแข่งฮอกกี้นั่นแหละครับ โดยระหว่างทางก็จะมีพล็อตรองว่าด้วยความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครในเมือง เช่น จอห์น บีบี้ (Russell Crowe) นายอำเภอที่ควบตำแหน่งกัปตันทีมด้วย ที่แอบเขม่นชาร์ลส์ เพราะชาร์ลส์เคยเป็นหวานใจวัยเรียนของดอนน่า (Mary McCormack) ภรรยาของจอห์น หรือเรื่องของผู้พิพากษาวอลเตอร์ เบิร์นส์ (Burt Reynolds) ที่มักจะขัดแย้งกับเบอร์ดี้ (Scott Grimes) ลูกชายนักฮอกกี้อยู่เนืองๆ
ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ของนายกเทศมนตรีสก็อต (Colm Meaney) กับภรรยา (Lolita Davidovich) ที่รายหลังเกิดปันใจไปให้ มาร์เดน (Ron Eldard) หนึ่งในสมาชิกทีมฮอกกี้ ไหนจะไบลี่ย์ พรูอิทท์ (Maury Chaykin) ชาวเมืองที่รักถิ่นฐานของตนอย่างสุดใจ แม้ร่างกายจะไม่แข็งแรงเท่าไรก็ตาม
ผมชอบครับ หนังดูสนุกดี ระหว่างดูนี่ผมก็คิดเหมือนกันนะว่าถ้าผมดูหนังเรื่องนี้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมจะรู้สึกชอบหนังแบบที่รู้สึกอยู่ในขณะนี้ไหม คือก็คิดว่าคงชอบนั่นแหละครับ แต่อาจไม่ชอบขนาดนี้ก็ได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นในระหว่างดูก็คือ “คิดถึงหนังแบบนี้จังเลยแฮะ”
ขณะที่ผมเขียนรีวิวนี้ คือปี 2022 ครับ ความรู้สึกหนึ่งที่มักจะแวะมาเยี่ยมผมบ่อยๆ ก็คือ หนังแนวกีฬาจรรโลงใจแบบนี้มันมีน้อยลง ไม่เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีมาให้ดูแทบทุกเดือน สนุกมากสนุกน้อยก็ว่ากันไป แต่เราจะได้ดูบ่อยๆ จนสมัยนั้นเราอาจไม่เห็นค่าหนังแนวนี้ในบางวาระ ประมาณว่ามีให้ดูเยอะแยะ และพลางคิดไปว่า “คงมีให้ดูอีกเรื่อยๆ น่ะแหละ”
แต่กลายเป็นว่าหลายปีให้หลังมานี้ หนังแนวนี้น้อยลงครับ โลกถูกครอบครองด้วยหนังซูเปอร์ฮีโร่ หรือไม่ก็หนังตลาดที่มีอยู่ไม่กี่แนว ในขณะที่หนังแบบนี้มีน้อยลง นานๆ ทีจะมีสักเรื่อง แล้ว “สักเรื่อง” ที่ว่านี่ ก็ใช่ว่าจะดีเท่าหนังสมัยเก่า
การดูเรื่องนี้มันทำให้เราเห็นโครงสร้างของหนังแนวนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นน่ะนะครับ มันจะมีพล็อตหลักว่าด้วยการแข่งขัน แน่นอนว่าไคลแม็กซ์ตอนท้ายก็จะเป็นการแข่งกีฬาที่มาพร้อมความลุ้น และตอนจบที่ให้อารมณ์ฟีลกู้ด ขณะเดียวกันพล็อตระหว่างทางก็จะเป็นการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือว่าเล่าได้กลมกล่อมครับ อาจไม่ถึงกับสุดยอดลึกซึ้ง แต่ก็ได้ฟีลพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะทีมดาราด้วยล่ะครับ ที่สามารถสวมคาแรคเตอร์ได้อย่างสมบทบาท ตามด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่พอเหมาะ ไม่เยอะจนล้น แต่ก็ไม่ได้เบาจนจับไม่ติด
ลืมบอกไปว่าหนังเรื่องนี้กำกับโดย Jay Roach ครับ ตอนนั้นเขากำลังดังไปกับผลงาน Austin Powers 2 ภาคแรก และถัดจากเรื่องนี้เขาก็ไปดังกับ Meet the Parents ต่อ ในขณะที่เรื่องนี้ถือเป็นหนังล่มของเขาครับ ทำเงินไปแค่ $8.8 ล้าน จากทุนประมาณ $28 ล้าน ก็คือขาดทุนครับ
แต่หากว่ากันถึงตัวหนังแล้ว ต้องบอกว่าหนังทำออกมาได้ไม่เลวครับ ดำเนินเรื่องอย่างพอเหมาะ เป็นการผสมกันระหว่างดราม่า กีฬา และเบาสมอง ถ้าเรามองโดยเอามาตรฐานหนังยุคนั้นเป็นหลัก (ยุคที่มีหนังแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ และหลายเรื่องก็ทำได้ยอดเยี่ยม อย่าง Remember the Titans เป็นอาทิ) หนังเรื่องนี้ก็อาจอยู่ในระดับน่าพอใจ ไม่ถึงกับดีสุด แต่ก็มีดีอยู่บ้าง แต่หากเอามามองในยุคปัจจุบันแล้ว เรื่องนี้ถือว่าดีเลยล่ะครับ
ระหว่างดูผมก็ยิ้มให้กับบางมุกอย่างการใช้ “คำในบทความในหนังสือพิมพ์” มาเรียงประกอบกันเป็นประโยคเพื่อใช้การง้อ มันอาจดูเชยน่ะนะครับ แต่มันดูน่ารัก ดูคลาสสิกดี – คิดถึงวันเก่าๆ ขึ้นมาเลยครับ
ถือเป็นหนังอีกเรื่องที่ดูได้เพลินๆ ครับ สนุกดี
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)