Toy Story 4 (2019) ทอย สตอรี่ 4

Untitle03382

หากใครเซ็นซิทีฟเรื่องการสปอยล์ล่ะก็ ขอแนะนำว่าอย่าอ่านสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ครับ เพราะผมจะสปอยล์แบบเต็มๆ ไม่ต้องกั๊ก แต่หากอยากทราบว่าหนังเรื่องนี้น่าดูไหม ก็บอกได้เลยครับว่าถ้าคุณเป็นแฟน Toy Story นี่คือหนังที่คุณควรตามไปดูเหมือนทุกภาคที่ผ่านมาครับ

ช่วงเดือนที่ผ่านมา (ผมเขียนในเดือนมิถุนายน 2562 ครับ) ผมเสียญาติและคนรู้จักรอบตัวไปอาทิตย์ละ 1 คน เริ่มจากคุณยายของผม, อาม่าของเพื่อน, พี่พนักงานส่งหนังสือที่นำหนังสือมาส่งผมตลอดหลายปีที่ผ่านมา, หลานของพี่คนสนิทที่นับถือ และอาอี้ (น้องสาวของคุณย่าผม – ซึ่งย่าผมก็เสียไปแล้วเช่นกัน)

ผมอยู่ในวัยกลางคน วัยที่การสูญเสียคนรอบตัวเริ่มจะมีบ่อยขึ้นตามครรลองของชีวิต นอกจากเรื่องการสูญเสียชีวิตคนที่รู้จักแล้ว เรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องต่างๆ มันก็มีบริบทที่ต่างออกไปจากสมัยเมื่อตอนเรายังวัยรุ่น เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น เรามีคนรักและมีลูก เลยทำให้อัตราส่วนการได้เจอกับเพื่อนฝูงก็เริ่มน้อยลงไป จนบางคนจากเดิมเป็นเพื่อนที่เจอกับทุกวันตอนเรียนมายามนี้ก็แทบจะเหมือนคนไกลกัน ไม่ได้เจอหน้าเป็นปีๆ และสายใยที่เคยแน่นเหนียวก็เริ่มจะเบาบางจางไป

ไม่ใช่เพราะต่างคนต่างไม่ใส่ใจกัน แต่เพราะต่างคนต่างมีอะไรต้องใส่ใจและรับผิดชอบมากกว่า เลยไม่มีเวลาให้กัน

แล้วผมก็นึกขึ้นมาครับว่า ในขณะที่ผมโตขึ้นนั้น ก็มีคนรุ่นผมอีกมากมายหลายล้านที่เติบโตเหมือนกัน ได้พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่อาจจะไม่ถึงกับตรงกันเสียทั้งหมด (อาจผันแปรไปตามสิ่งแวดล้อม, อาชีพ รวมถึงประเทศที่อยู่) แต่ผมว่าเนื้อหาหลักๆ ในสิ่งที่ต้องเจอนั้น มันก็ต้องมีเรื่องราวคล้ายๆ กันบ้าง และสิ่งเหล่านั้นก็จะส่งผลต่อชีวิตหรือความคิดของตนไม่มากก็น้อย

กับอาชีพคนทำหนังนี่เราจะเห็นได้ชัดครับ เพราะพวกเขาจะสื่อสารนำเสนอมันออกมาผ่านผลงาน เขาจะคิดอะไรหรือมองอะไรอย่างไร บางทีเราก็รู้ได้จากการดูผลงานของเขา

บางเรื่องดูแล้วรู้เลยครับว่าคนทำน่าจะอายุเท่าไร อย่าง Toy Story 4 นี่ผมมั่นใจเลยว่าคนทำทุกคนอายุต้องไม่ต่ำกว่า 30 โดยเฉลี่ยนี่น่าจะอายุแถวๆ 40 ปี และจากการไปค้นดูก็พบว่าจริงครับ ไม่ว่าจะผู้กำกับ Josh Cooley (39 ปี) หรือทีมคนเขียนบทอันได้แก่ John Lasseter (ผู้กำกับ Toy Story 2 ภาคแรก – อายุ 62 ปี), Andrew Stanton (54 ปี), Valerie LaPointe (38 ปี), Rashida Jones (43 ปี), Will McCormack (45 ปี) ส่วน Martin Hynes และ Stephany Folsom นี่ผมไม่ทราบอายุที่แน่นอน แต่เท่าที่ทราบคือน่าจะแถว 30 เป็นอย่างน้อย

Untitle03385

ที่ผมคิดแบบนั้นก็เพราะบทสรุปของเรื่อง มันคือ “การก้าวต่อไปของชีวิต” ในที่สุดวู้ดดี้และบัซ ไลท์เยียร์กับเหล่าของเล่นรวมก๊วนก็ถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน วู้ดดี้ตัดสินใจที่จะอยู่กับคนที่เขารักอย่างโบพีพ ส่วนบัซและพรรคพวกก็ยังอยู่กับบอนนี่ต่อไป… พวกเขาถึงเวลาต้องแยกทางกันในที่สุด… มันเหมือนชีวิตจริงของพวกเราหลายๆ คนน่ะครับ

ยอมรับว่าใจหายเหมือนกันครับสำหรับฉากจบ สิ่งที่เด้งขึ้นมาในหัวคือ “อ้อ นี่ถึงเวลาแล้วหรือ?” ซึ่งอารมณ์ที่ว่าของผมมันไม่ใช่ความช็อคหรือประหลาดใจ แต่มันคืออารมณ์แบบเข้าใจความเป็นธรรมดาของชีวิต ว่ามีพบก็ต้องมีจาก… มันคือสถานการณ์แบบที่ผมก็เคยเจอมาก่อน และเชื่อว่าหลายๆ คนเคยผ่านมาก่อนก็คงอยู่ในอารมณ์ประมาณเดียวกัน

“มันถึงเวลาของมันแล้ว”…

(ประเด็นนี้ผมเคยบรรยายไว้ละเอียดพอสมควรกับหนังเรื่อง Superbad ลองแวะไปอ่านกันได้นะครับ ^_^)

ว่ากันแบบตรงๆ ผมชอบฉากจบของ Toy Story 3 ที่สุดครับ ผมเอามาดูรอบล่าสุดก็ยังน้ำตาไหล ผมถือว่ามันคือการสรุปเรื่อง Toy Story ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด (อันที่จริงผมถือว่ามันเป็นตอนจบที่ดีที่สุดตลอดกาลสำหรับหนังไตรภาคสักชุดหนึ่ง) ในขณะที่ภาคนี้มันอาจไม่ทำให้ผมพีคขนาดนั้น แต่ความประทับใจก็ถือว่ายังได้ระดับอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องตุ๊กตาที่อยากได้รับอ้อมกอดจากเด็กสักครั้ง หรือการอำลาจากกันระหว่างวู้ดดี้กับผองเพื่อน ผมถือว่านี่คือประเด็นที่น่ารักและสวยงาม คืออะไรที่ไม่ผิดหวังสำหรับความเป็นหนัง Toy Story

ครับ ผมยังสนุกกับหนังภาคนี้ แต่กระนั้นก็ยอมรับว่ายังไม่สุดแบบเต็มๆ ซึ่งอย่างแรกเลยที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามันยังขัดๆ ในใจคือคาแรคเตอร์ของโบพีพที่ดูเป็นคนละคนกับ 2 ภาคแรกเลย

ถ้าจำกันได้โบพีพคือสาวเลี้ยงแกะที่อ่อนโยน น่ารัก ทำอะไรช้าๆ เนิ่บๆ แต่มาภาคนี้เธอกลายเป็นสาวแกร่งสายลุยไม่แพ้เจสซี่ (สาวคาวบอย) ซึ่งทำให้แอบสะดุดในใจเหมือนกันครับ เพราะเธอไม่ใช่โบพีพที่เรารู้จักใน 2 ภาคแรกจริงๆ ไม่ว่าจะหน้าตาหรือบุคลิก มันดูเป็นคนละคนจริงๆ จุดนี้ผมยอมรับครับว่ามันมีผลต่อความรู้สึกเหมือนกัน และต้องใช้ความพยายามในการยอมรับไม่น้อยเหมือนกัน (เพราะถ้าหนังจะอธิบายว่า 7 ปีที่เธอหายไปนั้นเปลี่ยนเธอให้เป็นแบบนี้ ผมก็ยังพอทำใจได้ครับ แต่นี่หนังกลับกำหนดให้เธอมีคาแรคเตอร์แบบนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ในบ้านแอนดี้ ซึ่งยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันออกจะไม่ใช่ – แต่ก็ต้องทำใจรับครับ เพื่อให้ดูหนังได้อย่างลื่นไหล)

พิมพ์ไปพิิมพ์มาในที่สุดผมก็นึกออก ผมว่าโบพีพคนนี้คล้ายตัวการ์ตูนอะไรสักอย่าง… ผมว่าเธอคล้ายเอลซ่าแห่ง Frozen มากๆ ครับ ทั้งทรงหน้า สีผม สีชุด ท่าทาง กระทั่งแววตาและบุคลิกนี่ผมว่าคล้ายเลยนะ (บวกแอนนาเข้าไปอีกหน่อย)

พอนึกถึงจุดนี้ก็ทำให้เข้าใจครับว่าหนังคงจะเน้นให้โบพีพเป็นที่จดจำมากขึ้นตามสไตล์หนัง Disney สมัยใหม่ ที่ชอบเน้นคาแรคเตอร์ตัวละครหญิงให้เด่นและชัดมากกว่าสมัยก่อน… แต่มันคนละคนกับโบพีพใน 2 ภาคแรกจริงๆ นะเนี่ย…

Untitle03383

ในขณะที่การผจญภัยก็ถือว่าสนุกครับ มีอะไรให้ดูแบบเรื่อยๆ แม้หลายอย่างจะมาในแนวทางเดิมๆ ก็ตาม – เช่น การที่ตัวละครต้องออกไปตามหาของเล่นที่หายไปอีกครั้ง และของเล่นที่หายไปก็เป็นของเล่นประเภทที่ไม่ยอมรับความจริง (อีกแล้ว) ฯลฯ ซึ่งผมเองก็สารภาพครับว่าบางจังหวะก็รู้สึกนิ่งๆ เนิ่บๆ อยู่บ้าง แต่หากเราไม่คิดมาก หนังก็ยังสนุกครับ เหมือนหนังเจมส์ บอนด์น่ะแหละ แม้จะมาสูตรเดิมๆ แต่ถ้าปรุงอร่อยก็ถือว่าโอเค (แต่ถ้าใครไม่ชอบสูตรนี้ ก็มีแววที่จะไม่ชอบอยู่ต่อไปครับ)

และอาจเพราะภาคนี้หนังพยายามจะเน้นมาที่โบพีพ (เพื่อจะได้ลงเอยกับวู้ดดี้) เลยทำให้พื้นที่ของบัซค่อนข้างน้อยลงไป อันนี้ก็แอบเสียดายเหมือนกันครับ เพราะนี่ถือว่าเป็นการผจญภัยร่วมกันส่งท้ายของพวกเขาแล้ว แต่ก็เข้าใจนั่นแหละว่าพล็อตมันก็ต้องเน้นโบพีพก่อน และในแง่หนึ่งถ้ามองในเชิงสถานการณ์แล้ว การที่วู้ดดี้ได้ร่วมผจญภัยกับโบพีพมากกว่ามันก็ทำให้เราเชื่อสำหรับการที่วู้ดดี้ตัดสินใจเลือกโบพีพในตอนท้าย เพราะพวกเขาได้ใกล้ชิดกัน ได้ผจญภัยกัน ได้ทำอะไรร่วมกัน – และหากหนังเทไปที่บัซมากกว่า การตัดสินใจของวู้ดดี้อาจยากขึ้น หรือคนดูเองก็อาจรู้สึกยอมรับการแยกจากนี้ได้ยากขึ้นเหมือนกัน

จุดนี้มองไปก็สะท้อนถึงโลกความจริงน่ะนะครับ พวกเราเองสมัยวัยรุ่นตอนซี้กับเพื่อนเราก็จะเห็นแก่เพื่อนมากกว่าอย่างอื่น เพราะเราใช้เวลากับเพื่อนมากที่สุด แต่พอเรามีแฟน มีลูก ได้ใช้เวลากับแฟน-ลูกมากกว่าเพื่อนๆ แล้ว เมื่อนั้นเราก็จะเทการตัดสินใจในการเลือกมาที่แฟนหรือลูกมากกว่า (บางคนอาจไม่เป็น แต่ผมเชื่อว่าหลายคนเป็นครับ… เป็นแบบวู้ดดี้นี่แหละ)

และอีกอย่างที่รู้สึกจากที่ได้ดู… ผมรู้สึกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างบอนนี้กับของเล่นยังไม่ชัดเท่าสมัยแอนดี้ใน 3 ภาคแรก ซึ่งหนังทำให้ผมเชื่อเลยนะว่าสำหรับแอนดี้แล้ว ของเล่นกลุ่มนี้มีความหมายต่อเขาจริงๆ แต่สำหรับบอนนี่แล้ว ผมรู้สึกว่าเธอยังไม่รักของเล่นมากมายขนาดนั้น แต่ในแง่หนึ่งผมว่าการที่หนังเล่าให้เป็นไปแบบนี้ก็ดีแล้วครับ มันทำให้การจากไปของวู้ดดี้ดูสมเหตุสมผลมากขึ้น ก็ในเมื่อบอนนี่ไม่ได้รักเขาขนาดนั้น การที่เขาจากไปก็คงไม่เป็นไร

แต่จุดนี้ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกขัดกับภาค 3 ครับ เพราะในภาค 3 บอนนี่ดูสนใจวู้ดดี้มากอยู่นะครับ และวู้ดดี้ก็เป็นของเล่นชิ้นแรกในหมู่ก๊วนของเล่นที่ไปอยู่ในมือบอนนี่ด้วย… แต่ก็นั่นล่ะครับ ถ้าบทจะลงเอยแบบที่หนังเป็น มันก็ต้องวางอารมณ์ให้ออกมาประมาณนี้แหละ ถึงจะเข้ากับบทสรุปแบบเหมาะๆ (เพียงแต่มันอาจดูแหม่งๆ หากเอามาดู 4 ภาคต่อกันเท่านั้นเอง)

Untitle03384

ครับ และนั่นคือความรู้สึกที่ผมมีต่อ Toy Story 4 ที่ผมว่ายังดูได้สนุกและให้ความประทับใจกับผู้ชมได้เหมือนเดิม เพียงแต่หากว่ากันตามความรู้สึกส่วนลึกแล้ว หนังอาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าเนื้อกับ 3 ภาคแรก ซึ่งผมว่าก็ต้องแล้วแต่เราน่ะครับ หากใครดูแล้วรู้สึกว่ามันขัดหรือไม่เข้ามากๆ ก็อาจรู้สึกไม่โอนักกับภาคนี้ แต่หากใครมองว่ามันเข้ากันก็น่าจะเพลินกับภาคนี้ได้เยอะอยู่

ส่วนผมก็ถือว่าก้ำกึ่งน่ะครับ โดยเนื้อแท้ในใจแล้วมันก็รู้สึกถึงความไม่เข้าเนื้อบางประการระหว่างหนังภาคนี้กับ 3 ภาคแรก (ที่จริงๆ ถือว่าจบสมบูรณ์ไปแล้ว) แต่กระนั้นผมก็ดูหนังบนความเข้าใจน่ะครับ… เข้าใจว่าถ้าจะให้หนังสรุปลงแบบนี้ เนื้อหามันก็ต้องเล่าประมาณนี้ อารมณ์มันก็ต้องกำหนดให้ออกมาในทิศทางนี้แหละ และอาจจะเพราะผมโอเคกับบทสรุป โอเคกับสิ่งที่หนังอยากนำเสนอ บทสรุปสำหรับผมก็เลยลงเอยที่ความชอบและประทับใจกับหนังภาคนี้

อย่างประเด็น “การก้าวต่อไปของชีวิต” นอกจากจะเกี่ยวกับตัววู้ดดี้แล้ว หนังยังสะท้อนประเด็นนี้ให้เห็นในเรื่องของ “แก็บบี้ แก็บบี้” ด้วยครับ ที่เธอพยายามจะทำตัวให้สมบูรณ์พร้อมเพื่อจะได้อยู่ในอ้อมกอดของเด็กหญิงคนหนึ่ง แก็บบี้คิดว่าเด็กหญิงคนนั้นจะรักเธอ… แต่แล้วความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

แก็บบี้เองก็เกือบจะติดหล่มชีวิต ติดหล่มความกลัวเข้า แต่ก็ได้พวกวู้ดดี้นี่แหละที่สนับสนุนเธอให้ก้าวข้ามความกลัว ข้ามหล่มแห่งความผิดหวังเมื่อวันวาน กล้าที่จะก้าวต่อไป… จริงๆ มันไม่มีอะไรการันตีหรอกครับว่าการก้าวต่อไปครั้งนี้จะนำเธอไปสู่บทลงเอยที่ดีหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หากเธอไม่ก้าวต่อไป เธอก็จะอยู่ที่หล่มเดิม… หลังตู้กระจกใบเดิม ไม่มีทางเดินหน้าต่อไปได้…

นี่คือเรื่องที่ทุกคนในโลกต้องเจอครับ มันไม่มีอะไรจะเป็นไปดั่งใจเราคิดเสมอหรอก และมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป…

หากเทียบเคียงเรียงดูแล้ว ผมชอบภาค 3 ที่สุด และภาค 1 ก็ชอบมากใกล้ๆ กัน ในขณะที่ภาค 4 นี้ผมชอบแบบตามมาติดๆ ในขณะที่ภาค 2 นี่ชอบแบบตามภาค 4 มาติดๆ อีกเหมือนกัน

สามดาวครับ

Star31

(8/10)