Under the Shadow (2016) ผีทะลุบ้าน

18767472_1649388395091955_6737685147984835197_n

ดูไปก็บ่นงึมงำกับตัวเองไปว่า “สังคมตึง ผีหลอก สงครามหลอน ชีวิตคนเราหนอ ต้องเจอสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งสารพัดปัญหาล้อมหน้าหลังเป็นเรื่องธรรมดาสินะ” พอดูจบแล้วก็ได้อารมณ์แนว “ปลงๆ” เกิดขึ้นเหมือนกันครับ

หนังเรื่องนี้ก็เป็นแนวสยองครับ สไตล์ชวนให้นึกถึง The Babadook มันออกแนวสยองเชิงจิตวิทยา สะท้อนมิติแห่งจิตใจของมนุษย์ แล้วก็ผสมดราม่าลงไปอีกนิด มากกว่าจะหลอกหลอนจัดจ้านแบบ Insidious หรือ The Conjuring

ตัวเอกคือคุณแม่ (Narges Rashidi) ที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังในขณะที่เมืองก็กำลังอยู่ในภาวะสงคราม (เป็นช่วงสงครามอรัก-อิหร่านพอดี) แต่ที่แย่กว่าคือดันมี “ญิน” ปีศาจตามความเชื่อของศาสนาอิสลามมาตามรังควานเธอกับลูกด้วยครับ นั่นทำให้เธอต้องรับมือกับเรื่องทั้งหมดด้วยใจระทึก (และเริ่มอ่อนล้าลงเรื่อยๆ)

ว่ากันตรงๆ แล้วนี่ไม่ใช่หนังสยองที่หวือหวาครับ การเดินเรื่องไม่ฉับไว ความหลอนไม่ได้ไหลมาเทมา ความน่ากลัวของผีสางก็ไม่ได้สยองแหวะอะไรมากมาย ดังนั้นใครชอบหนังสยองรสจัดๆ เลือดสาดๆ ล่ะก็ คงต้องขอให้ปรับใจไว้ก่อนเลยครับ

ผมก็เชื่อว่าคงมีคนรู้สึกเบื่อหรือผิดหวังอยู่แหละครับ เพราะหนังได้คำชื่นชมมากมายและยังได้รับการส่งไปชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย จนอาจทำให้หลายคนคาดหวังไปต่างๆ นานา ซึ่งถ้าจะหวัง ก็อยากบอกเพื่อจะได้หวังให้ถูกจุดครับ

ใครหวังความสยองตื่นเต้น เร้าใจ ลุ้นระทึกแบบหนังสยองกระแสหลัก ก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่กับเรื่องนี้ครับ และที่เขาชื่นชมกันน่ะ มันเพราะหนังทำออกมาได้สยองในเชิงเน้นดราม่า ชวนให้คิดเกี่ยวกับมิติในสังคม, ความเชื่อในเชิงศาสนา, วัฒนธรรมของศาสนาที่ส่งผลต่อชีวิตคน ฯลฯ ของแบบนี้ออสการ์และนักวิจารณ์จำนวนมากชอบครับ เลยได้คำชมซะเยอะทีเดียว

สำหรับผม ถ้าถามว่าชอบไหม ก็ถือว่าโอเคกับหนังเลยครับ คืออาจไม่ได้ชอบมากมายอะไร แต่ก็ถือเป็นหนังที่ทำออกมาได้ดี ในแง่สยองขวัญก็ทำได้น่าพอใจครับ ผมชอบที่หนังนำเอากลยุทธ์พื้นฐานในการสร้างความหลอนมาใช้ นั่นคือ การเล่าตำนานครับ ปูพื้นเรื่องญินและความเชื่อในเชิงศาสนาให้กับผู้ชม

มันเป็นเหมือนการค่อยๆ พาเราเข้าสู่โลกในหนัง และทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวในศาสนาอิสลามได้เห็นภาพต่างๆ ชัดเจนขึ้น และในเชิงความหลอนแล้ว ก็ทำให้เรารู้จักธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า “ญิน” มากขึ้น จนพอถึงคราวที่ญินออกโรง เราก็จะเกิดความหลอนตามได้ง่ายขึ้น

ยอมรับว่าผมดูหนังเรื่องนี้แล้ว ผมคิดอะไรได้หลายอย่างครับ แต่บอกตรงๆ ว่าบางอย่างที่คิดก็ไม่สามารถนำมาเขียนตรงนี้ได้ (เช่นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อ) เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างที่สุด ก็เหมือนที่เขาว่ากันน่ะครับ เรื่องความเชื่อหรือศาสนาเป็นหนึ่งในเรื่องที่นำมาสนทนาสานประเด็นกันได้ยาก เพราะบางจุดบางสิ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่ายๆ ผมเลยละเว้นการเขียนถึงอะไรหลายๆ อย่างที่คิดขึ้นมาได้ระหว่างดูหนังเรื่องนี้ครับ

แต่ที่บอกไว้ก็เพราะว่า อยากสื่อสารน่ะครับ ว่าหนังเรื่องนี้มี “ของ” และน่าสนใจไม่น้อย บอกตรงๆ ในแง่ความสยองผมไม่ค่อยคิดใจเท่าไร (ผมติดใจหนังสยองแบบของพี่ James Wan มากกว่า) แต่สิ่งที่ทำให้ผมชอบคือสัญลักษณ์บางอย่างที่สามารถพิจารณาต่อยอดไปถึงหลายๆ เรื่อง และนำมาสะท้อนมองหลายๆ อย่างได้หลากหลายมุมมากขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่หนังบอกแบบตรงๆ ก็คือ ต่อให้เราเก็บตัวอยู่กับบ้าน หลีกลี้หนีสังคมแค่ไหน ยังไงมันก็ต้องมามีผลมีส่วนเกี่ยวกับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งครับ เหมือนชีวิตของแม่ลูกคู่นี้ที่แม้จะพยายามอยู่เฉยๆ ในบ้าน แต่สงครามกับเรื่องเชิงศาสนาก็ยังทะลุกำแพงเข้ามาอยู่ดี (ถือเป็นหนึ่งในสัญญะที่น่าสนใจสำหรับผมครับ)

ดูหนังเรื่องนี้จบก็บอกตัวเองเลยครับว่า ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใด มีความเชื่อแบบไหน แต่คุณก็ต้องมีสติเสมอ ต้องใช้สติในการทำความเข้าใจ เรียนรู้ รวมถึงรับมือสิ่งต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหา เพราะหากเราขาดสติหรือละเลยการใช้สติแล้ว เราอาจปรุงปัญหาที่เจอให้ใหญ่เกินกว่าที่มันเป็นก็ได้

ถือว่าเข้าท่าครับ สำหรับหนังผีที่ชวนให้คิดต่อแบบนี้

สองดาวใกล้ครึ่งครับ

Star21

(6.5/10)